Posted: 05 Aug 2018 11:58 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-06 13:58

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนตั้งสถานบำเรอ ผู้หญิง 1-3 แสนคนถูกฉุดคร่าและกักขัง ทั้งชาวเกาหลี ฟิลลิปปินส์ ไทย ดัชต์ ฯลฯ ละครมุ่งสำรวจความทุกข์ทรมานที่พวกเธอได้รับ ความแข็งแกร่งยืนหยัดของเธอในช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์จะประสบ และเสียงตะโกนก้องอันปวดร้าวที่เงียบงันไร้คนฟังและคนได้ยิน

‘Peel the Limelight’ คือคณะละครที่รวมทั้งนักแสดงทั้งไทยและต่างประเทศผู้มีประสบการณ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 และมีผลงานการแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง ที่ได้รับเสียงตอบรับจากคนดูและนักวิจารณ์เป็นอย่างดี แต่ครั้งนี้คือครั้งแรกของบทละครดั้งเดิม ที่คณะละครได้เขียนขึ้นใหม่จากการรวบรวมค้นหาข้อมูลอย่างหนักของทีมงาน กลั่นออกมาเป็นเรื่อง ‘Hollow’ ละครเวทีกึ่งมิวสิเคิล ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง ‘Comfort Woman’ (หญิงบำเรอ) คือผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนำบันทึกคำให้การของผู้รอดชีวิตและจากหลักฐานทางเอกสารที่ระบุถึงการฉุดคร่า การข่มขืน การทรมานและการทำร้ายมาใช้ในการเขียนบทละคร

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินทุนและการสนับสนุนการจัดตั้งโรงโสเภณีสำหรับทหารที่รัฐบาลรับรองในเขต สงครามเอเชียแฟซิฟิกในช่วงก่อนและระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่า สถานบำเรอ หรือ ‘Comfort Stations’ คาดกันว่าผู้หญิงประมาณ 100,000 – 300,000 คน ถูกฉุดคร่าและกักขังในสถานบำเรอเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขที่แน่ชัดยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี ชาวจีน และชาวฟิลลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีชาวมาเลเซีย ชาวไทย ชาวไต้หวัน ชาวดัตช์และชาวออสเตรเลียรวมอยู่ด้วย หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สอง นักเขียน นักข่าวและผู้ทำสารคดี Griselda Molemans ประมาณการว่า “ระบบบังคับค้าประเวณีของญี่ปุ่น ทำร้ายเหยื่อ 26 เชื้อชาติเป็นอย่างน้อย”


ละครถ่ายทอดเรื่องราวการถูกกดขี่ของหญิงบำเรอเหล่านี้ที่ถูกลักพามาหรือซื้อมาจากหลากเชื้อชาติ ทั้ไทย เกาหลี ฟิลิปปินส์ ดัตช์ และอเมริกา โดยมีตัวละครหลัก 5 ตัว (และคนดำเนินเรื่องอีก 1 คน) ที่ถูกบังคับให้ทำหน้าที่ ‘รับแขก’ ทหารถึงประมาณ 50 คนต่อวัน พวกเธอบางคนท้องและถูกบังคับให้ทำแท้ง บางคนสภาพจิตใจบอบช้ำและตายระหว่างที่สงครามยังไม่สิ้นสุด บางคนเล่าถึงเพื่อนที่พยายามหนีและโดนลงโทษ บางคนหนีรอดแต่ก็ถูกสังคมกีดกัน ราวกับว่าแม้พวกเธอจะรอดจากการถูกข่มขืนทางกายและใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกเธอก็ยังต้องพบกับการเป็นคนชายขอบของสังคมซ้ำอีกครั้ง สังคมไม่เคยมีที่ยืนให้กับพวกเธอแม้ว่าพวกเธอไม่เคยทำอะไรผิด

ละครเรื่องนี้มุ่งสำรวจความทุกข์ทรมานที่พวกเธอได้รับ ความแข็งแกร่งยืนหยัดของเธอในช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์จะประสบ เสียงตะโกนก้องอันปวดร้าวที่เงียบงันไร้คนฟังและคนได้ยิน พวกเธอยังคงรอคอยคำขอโทษที่ไม่เคยได้รับ และความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

แม้จะมีการเรียกร้องจากหลายชาติคือ เกาหลี จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ให้รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้รอดชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ปฏิเสธตลอดมา โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นก็ได้ปฏิเสธคำขอจากรัฐบาลเกาหลีที่จะให้มีการ “ขอโทษจากใจ” แก่เหล่า Comfort Woman ของเกาหลี โดยชินโซได้กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีเมื่อปี 2015 ในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นข้อตกลงสุดท้ายและถาวร โดยญี่ปุ่นได้ให้เงิน 1 พันล้านเยนแก่มูลนิธิช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ของเกาหลีใต้

ขณะที่ในไทย ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกเขียนในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง เพราะส่วนหนึ่งได้รับการอธิบายว่าเนื่องจากรัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้การใช้ความรุนแรงและการเอาเปรียบทางเพศต่อผู้หญิงไทยจึงเป็นประเด็นที่ขาดหายไปจากการบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร


ทั้งนี้ ละคร ‘Hollow’ ยังเปิดรอบการจัดแสดงอยู่ ทุกวันศุกร์และเสาร์ เดือนสิงหาคม เวลา 20.00 น. : Peel the Limelight Studio ชั้น 2 อาคารจัสมินซิตี้ (ห่างจาก BTS อโศก / MRT สุขุมวิท 5 นาที) สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Event[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.