Posted: 05 Aug 2018 09:52 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-06 11:52
เรื่อง: เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ภาพ: นัฐพล ไก่แก้ว
AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กำลังสร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนทั่วโลก เพราะความสามารถของมันมีแนวโน้มพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและน่าจะสามารถแทนที่วิชาชีพหลายอย่างได้ในอนาคตอันใกล้ แล้วสถานการณ์ในประเทศไทยล่ะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องกังวลไหม มีการเตรียมรับมือหรือไม่ อย่างไร
รายงานนี้แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนแรกจะพาไปดูภาพรวมเทรนด์การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับโลกและผลกระทบต่อแรงงานทั่วโลก การคาดการณ์สถานการณ์ของไทย กฎหมายแรงงานไทยอยู่ตรงไหน ปกป้องแรงงานได้หรือไม่ ตอนที่สอง สัมผัสกับตัวอย่างรูปธรรมของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกลำดับต้นของประเทศ เพื่อดูว่าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์กระทบกับแรงงานอย่างไร ตอนที่สาม เป็นการวิเคราะห์การเมืองเบื้องหลังเทรนด์ความเฟื่องฟูของหุ่นยนต์ เพื่อตั้งคำถามฉุกคิดว่าเส้นทางสายนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเราถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นเส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
Cobot หรือ collaborative robot หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานควบคู่กันกับมนุษย์ ผู้ผลิตหุ่นยนต์พยายามรณรงค์ โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมที่มีการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะใช้ลักษณะนี้
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)[1] เปิดเผยว่า AI จะช่วยให้ GDP ของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าในปี 2578 และจะช่วยเพิ่ม Labor productivity ของโลกได้ประมาณ 30-40% จะช่วยให้ผลกำไรเพิ่มขึ้นในทุกสาขาการผลิต โดยในหมวดการศึกษา ที่พักอาศัยและการก่อสร้างนั้นจะทำให้แรงงานทักษะต่ำใน ASEAN ประมาณ 100 ล้านคนมีความเสี่ยงจะตกงานในอีก 20 ปีข้างหน้า
ในขณะที่แรงงานของไทย ร้อยละ 44 ของกำลังแรงงานรวม มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงานโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (จะกล่าวถึงในตอนที่ 2)
จากการประเมิน 10 อาชีพที่จะถูกเทคโนโลยี AI เข้ามาแย่งอาชีพ ประกอบด้วย นักพัฒนาเว็บไซต์ นักการตลาดออนไลน์ ผู้ดูแลออฟฟิศ นักบัญชี ฝ่ายทรัพยากรบุคคล นักข่าว บรรณาธิการ นักกฎหมาย แพทย์ และจิตแพทย์
เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตในอเมริกาและยุโรป ระบุว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมาบางอาชีพเริ่มหายไป หรือได้ค่าตอบแทนที่น้อยลง บางอาชีพเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่จากการเข้ามาของเทคโนโลยี
สิ่งที่พบคือ หากนำคนงานมาเรียงกันตั้งแต่เงินเดือนต่ำที่สุดจนถึงขั้นสูงสุด จะเห็นว่าทางปลายของตลาดแรงงานยังมีแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางปลายท้ายคือกลุ่มคนงานกวาดถนน คนล้างจาน คนขับรถ และกลุ่มทางปลายขั้นสูงคือ โปรแกรมเมอร์ หมอ นักวิเคราะห์ แต่กลุ่มที่จะหายไปคือ กลุ่มคนงานคอปกขาว (White collar) พวกพนักงานบริษัทต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่มั่นคงในอดีต เช่น นักการบัญชี คนทำพริ้นติ้ง คนทำโฆษณา
ทั้งนี้เพราะกลุ่มปลายทั้ง 2 ฝั่งนั้นเป็นการทำงานที่ไม่ซ้ำซากจำเจ หรือไม่ใช่รูทีน ถึงจะมีเทคโนโลยีอย่างไรก็ไม่สามารถมาทำให้อัตโนมัติได้ หรือไม่เช่นนั้นก็เพราะแรงงานมนุษย์ยังคงราคาถูกกว่า
เมื่อ ‘หุ่นยนต์-AI’ เข้ามาแทนที่คน ‘ผู้หญิง’ เสี่ยงตกงานมากกว่า ‘ผู้ชาย’
ก.แรงงาน ระบุประเทศชั้นนำ ใช้ AI แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ยันไม่นิ่งนอนใจวางนโยบายรับมือ
เวียดนาม 4.0 เลิกจ้าง ‘แรงงาน’ แล้วแทนที่ด้วย ‘หุ่นยนต์’ บ้างแล้ว
ประเภทของหุ่นยนต์อัตโนมัติ
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ระบบอัตโนมัติ (automation) แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน[2]
1. Robotic Process Automation (RPA) เป็นหุ่นยนต์ที่มีซอฟแวร์อัตโนมัติแบบง่ายที่จะทำงานประจำหรือรูทีนของมนุษย์ได้ เช่น บัญชีเบื้องต้น การรายงานเบื้องต้น หรือการคัดเลือกผู้สมครเบื้องต้น ซึ่งจะกระทบกับพนักงานออฟฟิศที่เป็นหน่วยสนับสนุน เช่น ฝ่ายทรัพยากบุคคลหรือบัญชี ปัจจุบันมีการใช้ RPA แล้วในหลากหลายอุตสาหกรรม
2. Intelligent Process Automation (IPA) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยงานมนุษย์ในงานที่ทำซ้ำๆ หรืองานใช้แรง แต่มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมของมนุษย์และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วย หุ่นยนต์พวกนี้สามารถทำงานวิเคราะห์ง่ายๆ และหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปที่เกี่ยวเนื่องได้ แต่มนุษย์ก็ยังต้องตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
3. ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นขั้นสุดของ automation หุ่นยนต์สามารถที่จะเรียนรู้ พัฒนา และตัดสินใจทางเลือกที่ดีที่สุดจากตัวแปรเซ็ทที่กำหนดให้ หุ่นยนต์จะประมวลผลและตัดสินใจ ขณะที่มนุษย์คอยเพิ่มลักษณะการตัดสินใจและเซ็ทของตัวแปรทั้งหมด ตัวอย่างหนึ่งคือ chatbot หรือ ผู้ช่วยดิจิตอลซึ่งสามารถสื่อสารกับลูกค้าและจัดการกับข้อเรียกร้องในการบริการได้ ผู้ช่วยดิจิตอลนี้จะมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และแทนที่งานหน้าโต๊ะทั้งหลาย ทั้งร้านหนังสือ ตัวแทนประกัน ประชาสัมพันธ์โรงแรม โรงพยาบาล โดยเฉพาะธนาคารและบริการทางการเงิน
คาดใช้กว่า 3 ล้านตัวภายในปี 2563
จากการประมาณการณ์ของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics - IFR)[3] ระบุว่าจะมีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากกว่า 3 ล้านตัวในโรงงานทั่วโลกภายในปี พ.ศ.2563 (หรือปี 2020) ซึ่งหมายความว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายใน 7 ปี
ไทยนำเข้าหุ่นยนต์ 2.6 แสนล้าน ส่งออก 1.3 แสนล้าน
สำหรับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยนั้น เมื่อปลายปี 2560 รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา[4] กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอยู่ที่ 266,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 134,000 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ถือว่าไทยขาดดุลการค้าอย่างมาก ล่าสุดพบว่า SMEs เริ่มเข้าสู่มาตรการส่งเสริมด้านหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติของบีโอไอแล้ว 30-40 ราย ขณะที่รายใหญ่ 8-9 รายที่ครองมูลค่าตลาดนับ 10,000 ล้านบาทคือฝั่งผู้ใช้ มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นและเกาหลีฝั่งผู้ผลิตยังอยู่ระหว่างการหารืออีก 7 รายที่สนใจที่จะลงทุนในไทย
ชิต ยังกล่าวในงานเปิดตัวโครงการ Robotics Cluster Pavilion เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา[5] ว่า จากการสำรวจความต้องการใช้หุ่นยนต์ของผู้ประกอบการ SMEs ภาคการผลิตมีประมาณ 100,000 รายที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้หุ่นยนต์ จากจำนวนทั้งหมดกว่า 300,000 ราย โดย 85% ให้ความเห็นว่าหากไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจจะอยู่ไม่ได้
ปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติปีละ 1.4 แสนล้านบาท และคาดปีนี้จะมีการลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
อวัตถุศึกษากับอธิป: งานวิจัยเผย งานมนุษย์ 47% จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรในอีก 20 ปี
รายงาน: หุ่นยนต์-วิดีโอคอล เอื้อคนพิการ-คนป่วย ใช้ชีวิตนอกบ้าน 'ในบ้าน'
นโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ
BOI กับการหนุนหุ่นยนต์อัตโนมัติ
หากดูการส่งเสริมการผลิตและนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยแพร่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ[6] เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งสนับสนุนทั้งอุปทานกลุ่มผู้ผลิต (Supply Side) และกระตุ้นอุปสงค์กลุ่มผู้ใช้ (Demand Side)
กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงิน กลุ่มประกอบหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อัตโนมัติหรือชิ้นส่วนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี นอกเหนือจากการยกเว้นภาษีเงินได้จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี เช่น การถือครองที่ดิน วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น
กลุ่มผู้ที่นำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง) โดยโครงการจะต้องนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิตเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น แขนกลสำหรับหยิบชิ้นส่วนเหล็กหล่อหรือเหล็กทุบ ซึ่งเป็นงานที่มีความเสี่ยงและอันตราย
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศยังมีไม่มาก[7] ดังนั้นบีโอไอจึงต้องใช้เครื่องมือที่มีกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศขึ้น เพราะเมื่อปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของผู้ผลิต จึงได้ขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไปอีก 3 ปี มี 3 ส่วนหลัก คือ 1. เพื่อการประหยัดพลังงานหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2. เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. เพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยจะสิ้นสุดการขอรับการลงทุนปี 2563 จากเดิมที่สิ้นสุดในปี 2560
ขณะเดียวกันได้ปรับเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ เช่น กิจการเดิมหรือโครงการลงทุนใหม่ หากมีการลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ออกแบบวางระบบพัฒนาอย่าง Internet of Thing (IoT) สำหรับภาคการผลิต จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุน ในกรณีที่ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมด ได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกิน 50% มาเป็นไม่เกิน 100% เป็นต้น
ขณะที่ โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในประเทศเทียบจากอดีตนับว่าเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่สามารถสร้าง demand ได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แต่กลับพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งหมดแล้ว รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัพพลายเชน (supply chain) ให้กับทั้ง 2 อุตสาหกรรม ได้เริ่มปรับเปลี่ยนเช่นกัน
ยุทธศาสตร์พัฒนาคน กับ ไทยแลนด์ 4.0
สำหรับนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเพื่อรองรับสถานการณ์การนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในการผลิตนั้น ต้นปี 2560 อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้วางแนวทางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)[8] เพื่อสร้างความ “มั่นคง” ให้กับแรงงานมีหลักประกันที่ดี มีผลิตภาพแรงงานสูง (High Productivity) นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่าง “ยั่งยืน”
กลางปี 2560 หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA)[9]ระหว่าง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้มีทักษะได้มาตรฐานทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และรองรับการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น
ขณะที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) จัดการศึกษาในหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในประเทศไทย ตามความในข้อ 4 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ โดยที่ประเด็นหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยอมตะจะนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษาในไทย หลักสูตรที่จะเปิดสอนเน้นด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle) ฯลฯ
กฎหมายแรงงานใคร? คน vs หุ่นยนต์
สำหรับความคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการนำหุ่นยนต์หรือการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีนั้น ถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 121, 122 รวมทั้งมาตรา 118 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเพิ่มเติม
แม้มีการปรับแก้เพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน แต่มาตรา 121 และ 122 ไม่มีการปรับแก้ มีเพียงบางส่วนของ มาตรา 118 ที่เพิ่มเรื่องการเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกําหนดไว้เท่านั้น
มาตรา 121 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นำมาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว[10] ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย
ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
ส่วนมาตรา 122 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยแต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวันหรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี
ผลกระทบในอนาคต
นอกจากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ระบุไว้ว่า อาชีพ 10 อาชีพที่อาจหายไป แรงงานทักษะต่ำใน ASEAN ประมาณ 1.4 ร้อยล้านคนมีความเสี่ยงที่จะตกงานในอีก 20 ปีข้างหน้า ส่วนแรงงานของไทยร้อยละ 44 ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงาน
เมื่อกลางปี 2560 จิม ยอง คิม[11] ประธานธนาคารโลกก็ออกมาพูดในลักษณะเดียวกัน บอกว่าประมาณ 2 ใน 3 ของงานในประเทศกำลังพัฒนาอาจถูกแทนที่โดยเครื่องจักรอัตโนมัติ ประเทศที่เสี่ยงเป็นพิเศษที่จะสูญเสียงาน คือ เอธิโอเปีย 85% ของงานอยู่ในความเสี่ยง จีน 77% ส่วน ไทย 72%
เช่นเดียวกับ สถาบันวิจัยแมคคินซีย์ โกลบอล[12] เปิดเผยว่า คนทำงาน 400-800 ล้านคนจะต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี 2573 เพราะจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมองกล
รายงานของ McKinsey Global Institution (MGI)[13] เมื่อปลายปี 2560 ระบุว่า ภายในปี 2030 แรงงาน 75-375 ล้านคนหรือ 3-14% ของกำลังแรงงานทั้งโลก จะต้องเปลี่ยนประเภทอาชีพ และอาจจะต้องปรับตัวให้มีความสามารถในการทำงานร่วมกับเครื่องจักร ในการปรับตัวนั้นอาจต้องการการศึกษาขั้นสูงขึ้น หรือการใช้เวลามากขึ้นในกิจกรรมซึ่งต้องการสกิลด้านสังคมและอารมณ์, หรือสกิลที่ต้องใช้ความคิดมากซึ่งยากสำหรับการทำอัตโนมัติ
กระทรวงแรงงานระบุไทยยังไม่มีการปลดคนงานเพราะหุ่นยนต์
ขณะที่กระทรวงแรงงานระบุว่า ยังไม่มีการเลิกจ้างจากการนำหุ่นยนต์มาใช้ เพชรรัตน์ สินอวย[14] รองปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการปลดคนงานออกจากการนำหุ่นยนต์มาใช้ แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าจะมีการปลดคนงานครั้งใหญ่ในอนาคตหรือไม่ แต่ไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจกับกระแสนี้ได้ กระทรวงแรงงานเตรียมการด้านนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคแรงงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะของแรงงานที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
เปิดงานวิจัย ธปท.
คำถามคือจริงหรือที่ไม่มีการเลิกจ้างหรือผลกระทบจากการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต ทั้งที่การคาดการณ์ต่างๆ ต่างบ่งชี้มันต้องมีผลกระทบไม่มากก็น้อย
รายงานวิจัย “หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?”[15] ของ พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ และ นันทนิตย์ ทองศรี จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเสนอเมื่อเดือนเมษายน 2561 ระบุว่า จากข้อเท็จจริงและการหารือผู้ประกอบการพบว่า แม้เทคโนโลยีจะไม่ส่งผลกระทบกับแรงงานภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างรุนแรงฉับพลัน แต่จะส่งผลต่อคนที่ทำงานลักษณะซ้ำๆ ให้ตกงาน หางานยากขึ้น และรายได้ลดลง
งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า เหตุที่เทคโนโลยีจะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานในภาพรวมอย่างรุนแรงฉับพลันนั้นมีเหตุผลอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ภาคการผลิตจริงไม่สามารถรับเทคโนโลยีได้ในทันที (2) หุ่นยนต์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงอายุ (3) ผู้ประกอบการและแรงงานมีการปรับตัว และ (4) เทคโนโลยีก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ
รายงานวิจัยของ ธปท. ยกตัวอย่างจากการลงพื้นที่หารือกับผู้ประกอบการโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์เพื่อดูผลกระทบต่อแรงงาน เมื่อมีการใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบในโรงงานใหม่
งานวิจัยของ ธปท. ระบุว่า 1. ขั้นป้อนวัตถุดิบ (Input) แม้โรงงานจะทำระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ แต่การป้อนวัตถุดิบ ยังต้องใช้แรงงานในการป้อนวัตถุดิบ ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน เนื่องจากวัตถุดิบที่มาจากต้นน้ำไม่สามารถทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ 2. ขั้นใช้เครื่องจักรประกอบวัตถุดิบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ (Core production) แทบไม่ใช้แรงงานคนในสายการผลิตเลย ยกเว้นคนทำหน้าที่ควบคุมเครื่องซึ่งใช้คนเพียง 5 คนในแต่ละสายการผลิต แต่สามารถผลิตได้ถึง 600 ขวด/นาที โดยคนกลุ่มนี้ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไปและสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ เพราะระบบและคู่มือในการควบคุมเครื่องจักรเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
3. ขั้นตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์(Q.C.) ยังต้องใช้แรงงานในการสุ่มตรวจ เพราะเครื่องจักรยังไม่สามารถตรวจสอบลักษณะบางอย่างได้ เช่น กลิ่นหรือรสชาติ 4. ขั้นบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ (Packaging) มีคนทำหน้าที่ควบคุมเครื่องเหมือนกับขั้น Core production โดยเครื่องจักรช่วยให้การบรรจุสินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน ลดการบาดเจ็บของ แรงงาน และมีสายพานอัตโนมัติเชื่อมต่อไปยังคลังสินค้าได้เลย โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนช่วยในการขนย้าย
5. ขั้นเก็บเข้าคลังสินค้า (Warehouse) หุ่นยนต์ช่วยให้วางสินค้าได้สูง ช่วยประหยัดพื้นที่ โดยหากไม่ใช้หุ่นยนต์จะสามารถวางสินค้าซ้อนกันได้เพียง 2 ชั้นจากข้อจำกัดของรถยกสินค้า การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน ในส่วนของคลังสินค้านี้ใช้แรงงานเพียงแค่ 10 คน ซึ่งหากไม่ใช้ระบบดังกล่าวจะต้องใช้พนักงานขับรถยกสินค้าถึง 44 คน
จากกรณีตัวอย่าง พบว่า (1) แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากหุ่นยนต์จะเป็นแรงงานที่ทำงานแบบมีข้อกำหนดชัดเจน (rule-based) เช่นคนงานสายการผลิต (2) โรงงานใหม่ที่ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบจะส่งผลต่อการรับแรงงานเด็กจบใหม่ เช่น เด็กจบ ปวช. ในสาขาพาณิชย์จะหางานทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต (3) แรงงานเดิมที่ทำงานอยู่แล้วโดยเป็น outsource ถูกเลิกจ้าง แรงงานบางส่วนต้องปรับทักษะให้เข้ากับเครื่องจักรใหม่ๆ ซึ่งหากเป็นแรงงานที่อายุน้อยจะปรับตัวได้เร็ว แต่แรงงานที่อายุมากจะปรับได้ลำบาก
งานวิจัยยังระบุว่า เทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อแรงงาน 3 กลุ่ม ชัดเจนขึ้นกว่าในอดีต
(1) แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้บางส่วนจะถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะประเภท outsource
(2) แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวพัฒนาทักษะได้ แม้ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่จะต้องไปทำงานอื่นหรืองานที่มีทักษะต่ำกว่าเดิม แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานและสังคมสูงวัย แต่ในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหา โดยแรงงานไทยมากกว่าร้อยละ 15 ทำงานต่ำว่าความสามารถของตนเอง
(3) แรงงานจบใหม่อาจหางานได้ยากขึ้น เพราะระบบการศึกษายังเป็นแบบเดิม แต่ความต้องการแรงงาน เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยผลการศึกษาพบว่า สาขาที่ไม่ได้เน้นความจำเพาะต่อวิชาชีพเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสูง เช่น ผู้ที่จบจากสายสังคมศาสตร์มีโอกาสที่จะถูกแทนที่สูงกว่าผู้จบสายแพทย์และพยาบาลถึงร้อยละ 40 สอดคล้องกับข้อมูลทางสถิติที่พบว่า ผู้ว่างงานของไทยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานจบใหม่ที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อนและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยราวร้อยละ 40 ของผู้ไม่มีงานทำในกลุ่มดังกล่าวจบจากสาขาสังคมศาสตร์โดยเฉพาะสายสามัญ อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นที่แรงงานสายสังคมศาสตร์จะเสี่ยงตกงานหากแรงงานมีการปรับตัวให้มีทักษะที่หลากหลาย เช่นความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา รวมทั้งความฉลาดทางอารมณ์
สถิติการเลิกจ้าง
รายงานสถิติสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2559 จัดทำโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เก็บข้อมูลจากรณีที่ลูกจ้างมายื่นคำร้องทุกข์และการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ พยว่า ในปี 2559 สถานประกอบกิจการมีการเลิกจ้าง 41 แห่งเท่ากับปีก่อนหน้า และลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 2,778 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่สาเหตุการเลิกจ้างมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและปรับลดขนาดองค์กรมากที่สุด กิจการที่มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างมากที่สุดเป็นกิจการการผลิต
ปัจจัยที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุมาจาก “การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและปรับลดขนาดองค์กร” อาจมีหลายอย่าง แต่การนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หากย้อนไปในปี 2558 จะพบว่ามีสถานประกอบการ 4 แห่งที่อยู่ในข่ายนี้ถูกเลิกจ้าง 175 คน ปี 2557 ไม่ปรากฏสถิติในปัจจัยเรื่องนี้ ส่วนปี 2556 มีสถานประกอบการ 3 แห่ง เลิกจ้าง 132 คน[16]
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของกระแสการใช้หุ่นยนต์ทั้งในระดับโลกและสถานการณ์ภายในประเทศไทยที่มีนโยบายในการสนับสนุนหลายต่อหลายด้าน ขณะเดียวกันก็พยายามสำรวจการรองรับในภาคของแรงงานที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ในตอนหน้าเราจะพาไปเจาะลึกมากขึ้นในส่วนของแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนตร์ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากและใช้หุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
---------------------------
[1] งานศึกษาของ สศค.โดย สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ เปิดโลกกว้าง Artificial Intelligence …? ซึ่งศึกษาข้อมูลจาก บริษัท Accenture (ที่ปรึกษาด้าน IT ของ Apple) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของ UN รวมทั้ง Mckinsey Global Institute (อ่านรายละเอียด ข่าวสดออนไลน์ คลังเผย 10 อาชีพ จ่อตกงานใช้เอไอแทน)
[2] Bangkok Post, 27 Nov 2017, Labour risks going under amid AI wave
[3] International Federation of Robotics, May 30, 2018, Robots double worldwide by 2020
[4] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 25 ธ.ค.2561, ดันตั้ง “ส.หุ่นยนต์”- BOI ขยายเวลาเพิ่ม
[5] ข่าวสดออนไลน์, ก.อุตฯ ตั้งเป้าลงทุนด้านหุ่นยนต์ใช้ในไทยได้เอง 2 แสนล้าน ภายใน 5 ปี
[6] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ BOI และบีโอไอส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
[7] จากสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบการยื่นขอรับการลงทุนในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมภายใต้มาตรการดังกล่าว 140 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 38,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการยื่นขอด้วยเหตุผลการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจำนวนเพียง 48 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท ส่วนยอดคำขอ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.60) มี 978 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 376,570 ล้านบาท เป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 19 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 4,328 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 25 ธ.ค.2561, ดันตั้ง”ส.หุ่นยนต์”-BOIขยายเวลาเพิ่ม)
[8] ยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) Productive Manpower (พ.ศ. 2560-2564) ขจัดอุปสรรคด้านแรงงานในการพัฒนาประเทศ เร่งพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานด้านแรงงานให้เป็นสากล มุ่งเน้นให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีความปลอดภัย ส่งเสริมให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีทักษะที่หลากหลาย (Multi-Skilled) พัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้าน STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) 2) Innovative Workforce (พ.ศ. 2565-2569) พัฒนาแรงงานให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพ พร้อมปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นรองรับรูปแบบการจ้างงานใหม่ในยุคดิจิตัล 3) Creative Workforce (พ.ศ. 2570-2574) เพิ่มจำนวนคนที่มีทักษะด้าน STEM เพื่อให้เป็นกำลังคนที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถและสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง (High Productivity) เพื่อให้มีรายได้สูง (High Income) และประเทศสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap : MIT) 4) Brain Power (พ.ศ. 2575-2579) เพิ่มจำนวนกำลังคนที่มีทักษะด้าน STEM และสร้างกำลังคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน
[9] อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบายเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งสถาบัน MARA ว่า จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกรองรับการเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น Brain Power ใน 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงานได้มีการตอบสนองโครงการดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ล่าสุดได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) ในหน่วยงานสังกัด กพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 3 แห่ง (อ่านเพิ่มเติม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 29 พ.ค.2560, ก.แรงงาน ร่วมสภาอุตฯ ตั้งสถาบันพัฒนาแรงงานเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รับ EEC)
[10] มาตรา 118 บัญญัติไว้ว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้ (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
[11] Markets Insider, May. 5, 2017, The head of the World Bank is pushing a terrifying prediction for jobs in developing countries
[12] ThaiPBS, 18 ม.ค.2561, หุ่นยนต์แทนแรงงาน คนเตรียมตกงาน
[13] รายงาน MGI จัดทำในเดือนมกราคม 2017 ศึกษาผลกระทบจาก automation โดยสร้างสถานการณ์จำลองแบบต่างๆ ในปี 2030 และศึกษาข้อมูลของ 46 ประเทศซึ่งคิดเป็น 90% ของจีดีพีทั้งโลก เน้นใน 6 ประเทศคือ จีน เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา โดยสร้างโมเดลศักยภาพในการเปลี่ยนการจ้างงานสำหรับ 800 อาชีพบนฐานของสถานการณ์การรับ automation เข้ามาในงานในแบบต่างๆ รายงานพบว่าในปี 2030 งานของมนุษย์จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติประมาณ 15% (15% ของงานทั้งโลกคืองานประมาณ 800 ล้านตำแหน่ง) ในปี 2030 แรงงานจะมีประมาณ 2.66 พันล้านคน และ 8-9% จะเป็นอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในทางทฤษฎีแล้วงานครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ถูกจ้างให้ทำนั้นสามารถแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยีในระดับปัจจุบัน และมีเพียงไม่กี่อาชีพหรือน้อยกว่า 5% ที่สามารถถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติทั้งหมดทุกกิจกรรม (อ่านเพิ่มเติม McKinsey Global Institution, 2017)
[14] กระทรวงแรงงาน, 19 เม.ย.2561, ก.แรงงาน ระบุประเทศชั้นนำ ใช้ AI แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ยันไม่นิ่งนอนใจวางนโยบายรับมือ
[15]พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ และ นันทนิตย์ ทองศรี เศรษฐกร, 2561, รายงานวิจัย “หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?”
[16] อ่านรายละเอียด รายงานสถิติสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปี 2556-2559
แสดงความคิดเห็น