นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

เหลือเชื่อ ‘6ศพวัดปทุม’ สำนวนหาย!!! อัยการบอกยังไม่ได้รับ ‘ณัฐวุฒิ’ จี้หาคำตอบกลายเป็น ‘มุมดำ’ แล้วหรือไม่? หลังคอลัมน์นิสต์เขียนย้ำ 2 รอบ ส่อ ‘ยุติคดี’ ใช้ความรุนแรงสลายชุมนุม? – เลขาฯ นปช. ฝากถึง อสส. เหตุความสูญเสียมากสุดในประวัติศาสตร์แต่กระบวนการกลับเป็น ‘เขาวงกต’ ขังทุกคนให้วิ่งชนกำแพง เจ็บปวดแต่ยืนยันไม่หยุดตามหาความเป็นธรรม


30 พ.ย. 61 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นางธิดา-นพ.เหวง โตจิราการ นายนิสิต สินธุไพร แกนนำนปช. นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ พร้อมด้วยญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 แต่งชุดดำเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีผู้เสียชีวิต 99 ศพและบาดเจ็บหลายราย โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด มาพบปะพูดคุยต่อหน้าสื่อมวลชนที่มาทำข่าว

ในช่วงท้ายของการพูดคุย(ย้อนอ่านช่วงแรกได้ในตอน1/2) ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ‘ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ แต่ว่า ที่ท่านตรวจสอบกับสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เป็นจริงอย่างที่สื่อมวลชนเขาลงไหมครับว่า สำนวนคดีคนเจ็บ เป็นมุมดำไปแล้ว เมื่อสักครู่ดูเหมือนท่านยังไม่ให้ความชัดเจน?’

ประยุทธ : เอ่ออ ผมต้องขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าส่วนนี้ ผมไม่สามารถตอบได้ คือไม่ทราบจริงๆ ครับ

เอ่ออ ผมได้ถามท่านธนวรรษ ว่องไวทวีวงศ์ ซึ่งเป็นรองอธิบดีคดีสอบสวนพิเศษ (รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ) ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวาระเดือนตุลา ผมก็ถามประเด็นนี้ให้ด้วยว่ามีบางส่วนไหมที่สั่งงดการสอบสวนไปบ้างแล้ว ซึ่งท่านบอกว่า เพิ่งมารับตำแหน่ง ถ้าถามวันนี้ก็ต้องขอตรวจสอบ ท่านก็ตอบประมาณนี้ จากการโทรศัพท์ตรวจสอบเมื่อช่วงเช้า ก็ได้ข้อมูลมาประมาณนี้ แต่ว่าจะเท็จจริงหรือไม่ประการใด ถ้ามีสั่งจริงก็คงเป็นเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก

ณัฐวุฒิ : จะตรวจสอบได้โดยประชาชนอย่างไรบ้าง

ประยุทธ : ก็สามารถที่จะไปสอบถามที่สำนักงานคดีพิเศษในส่วนนี้นะครับ

ณัฐวุฒิ : สอบถามท่านวันนี้จะได้คำตอบไหม

ประยุทธ : เอ่อ ถ้าถามวันนี้ก็ตอบได้อย่างที่ผมเรียน และอีกอย่างในภารกิจงานโฆษก ก็อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ คือ มารับเรื่องในประเด็นสาระสำคัญ นำเรียนผู้บริหารระดับสูงให้ท่านทราบ แล้วให้ท่านมีความเห็นและวินิจฉัยสั่งการ อย่างเช่นประเด็นที่ทางท่านแกนนำและญาติผู้สูญเสียมาวันนี้ ก็เป็นประเด็นที่ผมจะสรุปเป็นเอกสารนำเรียนผู้บริหาร

ณัฐวุฒิ : ท่านสามารถที่จะติดต่อกันได้อยู่แล้วในหน่วยงานระหว่างทางทีมโฆษก กับสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ผมจะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกรณีสำนวนคดีคนเจ็บได้เมื่อไหร่

ประยุทธ : ก็ต้องเรียนตรงไปตรงมานะครับว่า เข้าใจในความประสงค์ของทางท่านแกนนำและผู้สูญเสีย แต่ในภาระของคนที่เป็นรองโฆษกคงไม่สามารถที่จะไปให้คำมั่นได้ถึงขนาดนั้น แต่เรียนได้ ให้คำมั่นได้ทันทีในประเด็นว่า จะนำประเด็นความประสงค์ของท่านวันนี้ กราบเรียนท่านผู้บริหารระดับสูง คือท่านอัยการสูงสุด ให้ทราบในวันนี้

ณัฐวุฒิ : ท่านรองฯ ครับ ด้วยความเคารพนะครับ ผมในฐานะประชาชนและติดตามเรื่องนี้มา ผมรู้สึกใจหายมากนะครับที่หนังสือพิมพ์เขาเขียนคอลัมน์ 2 รอบ ระบุชัดถึงขั้นว่าสำนักงานอัยการสูงสุด จะถูกกดดัน หรือถูกเรียกร้องยังไงก็ตามเถิด ให้ทำเรื่องนี้เป็นสำนวนคดีมุมดำ ระบุรายละเอียดลึกลับซับซ้อน แต่ว่า ไม่มีคำอธิบายหรือชี้แจงใดๆ เลย จากสำนักงานอัยการสูงสุด ผมคิดว่าตรงนี้ น่าใจหายครับท่านครับ

ผมเรียกร้องว่า ขอความกรุณาท่านได้ชี้แจงเป็นประเด็นๆ เลย ที่เขาระบุมาแล้วที่ผมตั้งคำถาม

ประยุทธ : เอ่อ ก็อย่างประเด็นที่ท่านแกนนำถาม เรียนว่า ยังยืนยันในหลักการว่า คดีมุมดำ เป็นคดีที่ทางพนักงานสอบสวนขอให้งดการสอบสวน คือหยุดทำงานไว้ชั่วขณะ แต่สำนวนเหล่านี้หากมีพยานหลักฐานหรือมีข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะปรากฏโดยฝ่ายใด โดยวิธีใด นั่นคือขั้นตอนกฎหมายสามารถที่จะหยิบยกคดีขึ้นมาทำการสอบสวนให้กระจ่างแจ้งได้ภายในอายุความตามกฎหมาย ประเด็นจะอยู่ตรงนั้นนะครับ

ประเด็นที่ 2 ที่ท่านถามว่า ผมจะตอบได้อย่างไรแค่ไหน เพียงไร ก็ต้องเรียนให้ท่านเข้าใจว่าบทบาททีมโฆษก ก็จะรับประเด็นที่ท่านร้อง นำเรียนท่านผู้บริหารให้ทราบ ถ้าจะตอบเกินไปจากขอบข่ายบริบทหน้าที่ที่ทำ ก็เป็นเรื่องเกินขอบข่ายอำนาจหน้าที่

ณัฐวุฒิ : เรื่องคดีคนเจ็บเป็นคดีมุมดำหรือไม่ ยังรอคำตอบนะครับ ต่อมาก็คือ ที่ท่านรองโฆษก ได้กรุณาให้ข้อมูลว่าคดีที่ไต่สวนสาเหตุการตายไปแล้วเช่น 6 ศพวัดปทุมหรือคดีอื่น สำนวนยังมาไม่ถึงอัยการสูงสุดอีกหรือครับ?

ประยุทธ : ได้รับการยืนยันจากท่านอธิบดีและรองอธิบดียืนยันว่า สำนวนนี้ยังไม่มีการส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแต่ประการใด

ณัฐวุฒิ : อยู่ไหนครับสำนวนนี้

ประยุทธ : ผมไม่สามารถไปก้าวล่วงตอบได้ แต่ต้องมีหน่วยงานราชการที่ต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดก็คือ ดีเอสไอ เพราะเป็นหน่วยงานที่จะต้องทำสำนวนแต่แรก

ณัฐวุฒิ : ท่านครับ ตามความเข้าใจผม ดีเอสไอเป็นพนักงานสอบสวน แล้วก็ทำเรื่องนี้จนศาลท่านไต่สวนสาเหตุการตาย เมื่อศาลชี้แล้ว ก็ต้องกลับไปที่ดีเอสไอใช่ไหมครับ

ประยุทธ : ถูกต้องครับ

ณัฐวุฒิ : แล้วดีเอสไอซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ ตรงนี้นะครับ ไต่สวนมาหลายปีแล้วนะครับ

นพ.เหวง : ตั้งแต่ปี 2556 ครับ นี่ 5 ปีแล้วนะครับ

ประยุทธ : เข้าใจประเด็นที่ท่านถามนะครับผมเข้าใจ แต่อะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือสิ่งที่อัยการจะไปตอบ ว่าสำนวนยังไม่มา สำนวนอยู่ไหน ก็คงไม่สามารถที่จะตอบท่านได้ แต่ผมก็เชื่อว่ามันมีวิธีการสืบค้นที่จะตรวจสอบได้

ณัฐวุฒิ : มันหายไปหรือยังครับท่าน

ประยุทธ : อัยการตอบแทนหน่วยงานอื่นไม่ได้นะครับ คงจะประมาณนี้ครับ

ณัฐวุฒิ : ทีนี้ ที่เหลือ ที่ยังไม่ไต่สวนสาเหตุการตาย ก็ยังไม่ถึงอัยการเหมือนกัน?

ประยุทธ : ผมไม่แน่ใจ ต้องเรียนท่านตรงๆ ว่า ในประเด็นตรงนี้ผมไม่มีข้อมูล แต่ประเด็นสำคัญที่มีข้อมูลก็คือ ในประเด็นเรื่องการเสียชีวิตและมีการไต่สวน สำนวนเหล่านี้ยังไม่ส่งมาที่อัยการ อันนี้ได้รับการยืนยันจากทางท่านอธิบดีคดีพิเศษ และรองอธิบดีคดีพิเศษ ในการตรวจสอบเพื่อจะนำเรียนท่านที่มาวันนี้

ณัฐวุฒิ : ผมขอความรู้กฎหมายนะครับ ในกรณีที่เรามาพบข้อเท็จจริงอย่างนี้ ว่า ศาลท่านไต่สวนสาเหตุการตายชี้แล้ว เรื่องยังมาไม่ถึงอัยการ ใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปี ในฐานะประชาชนผู้เสียหาย มีช่องทางดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไหมครับ

ประยุทธ : เอ่อ ถ้าจะเรียนตรงไปตรงมา คือข้อมูลที่ท่านถาม ผมไม่มีข้อมูลอยู่ในมือเลย และไม่ทราบมาก่อน ฉะนั้น การจะให้คำตอบหรือให้คำชี้แนะอะไรผมไม่อาจไปก้าวล่วง ก็ต้องเรียนตรงๆ ข้อมูลในส่วนที่ไต่สวนไปเมื่อไหร่ ศาลมีคำสั่งประการใด และขั้นตอนต่อไปเขาต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อทางทีมโฆษกตรวจสอบกับทางสำนักงานคดีพิเศษของอัยการแล้วยังไม่มีสำนวนมา คำตอบคือ ก่อนหน้านั้นจะอยู่ที่ไหนขั้นตอนอย่างไร อันนี้ต้องขออนุญาตเรียนว่าไม่สามารถจะตอบท่านได้นะครับ ต้องขอโทษด้วย


ณัฐวุฒิ : ก็อย่างที่เรียนนะครับ มาคุยกับท่านอย่างสุภาพชน แล้วก็ไม่มีเจตนาที่จะมาสร้างแรงเสียดทานอะไรให้การทำงานของท่านนะครับ

เป็นแต่เพียงว่า เป็นหน้าที่ของพวกผมจริงๆ ในการต้องติดตามเรื่องนี้ แล้วผมว่าประชาชนที่ได้ยินว่า ข้อเท็จจริงของคดีนี้ ในกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอยู่แบบนี้ ผมว่าเค้าลำบากนะครับที่จะยอมรับได้ ก็ถ้าเรื่องมันกลับจากศาลไปอยู่ที่ดีเอสไอ

ที่ทำงานของดีเอสไอกับอัยการ ประทานโทษนะครับ เอาสำนวนคดีใส่หลังเต่ามาให้เดินมาก็ต้องถึงแล้วครับ มัน 5-6 ปีแล้วนะครับท่าน แต่ว่านี่ก็ยังไม่ทราบ

ก็สรุปว่า สำนวนที่ศาลชี้ จากการไต่สวนสาเหตุการตายไปแล้ว ยังไม่เป็นมุมดำ ถูกไหมครับ?

ประยุทธ : ยังไม่มีการส่งมา เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่มีการส่งมา ทางเราจะไม่สามารถตอบได้เลยว่า ผลสรุปเมื่อศาล... คือเรียนท่านตรงๆ นะครับว่า ตราบใดเรายังไม่เห็น สำนวนเรายังไม่ทราบว่าจริงๆ ว่าสำนวนเนื้อหาเป็นประการใด แล้วก็ตอบอะไรไปก็เป็นการคาดเดาเพราะไม่มีข้อเท็จจริงที่เรารู้ แต่ก็เสพจากสื่อ จากที่ท่านพูดเท่านั้นเอง

ณัฐวุฒิ : มิได้ครับท่านครับ คืออำนาจที่จะชี้ว่าสำนวนคดีนี้เป็นมุมดำหรือไม่ เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ ถูกต้องไหมครับ

ประยุทธ : ถูกต้องครับ

ณัฐวุฒิ : เมื่อสำนวนคดียังไม่ถูกส่งมา ก็แสดงว่า มันยังไม่เป็นมุมดำ เนื่องจากต้องถึงมืออัยการก่อน

ประยุทธ : เอ่อ มุมดำ ขออนุญาตเรียนข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะแบ่งกลุ่มประเภทสำนวนออกเป็น สำนวนมีตัว รู้ตัว มีตัว คำว่าตัวคือตัวคนกระทำความผิด รู้ตัวคนกระทำความผิด มีตัวผู้กระทำความผิดในชั้นสอบสวน

รู้ตัวแต่ไม่มีตัว อันนี้พวกออกหมายจับ

อันที่ 3 คือ ไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับ กลับบ้านไป บ้านถูกงัด ของหายไม่รู้ใครเป็นคนร้าย กลุ่มนี้เรียกมุมดำ

คำว่ามุมดำ การตั้งต้นคดี จะตั้งในชั้นสอบสวน คือ หน้าที่ตำรวจ ฝ่ายสืบสวนสอบสวน สืบให้ได้ว่า คนใดคือคนร้ายในการก่อเหตุ เมื่อรู้แล้ว ก็จะกลับมาเป็นมีตัว รู้ตัว

ตราบใดที่ไม่มีตัว กฎหมายจะเขียนไว้ ถ้าให้ตำรวจสืบสวนชั่วนาตาปี ก็ไม่น่าจะใช่ ดังนั้น ส่งมาให้อัยการขออนุญาตให้งด ที่ผมเรียนตอนต้น ให้งดการสอบสวน รอให้มีพยานหลักฐานขึ้นมา เพื่อหยิบยกขึ้นมาได้ภายในอายุความ อันนี้ ข้อกฎหมายเป็นอย่างงั้น

ที่ท่านถามผมว่า มาถึงอัยการแล้วจะเป็นมุมดำไหม ไม่ใช่ครับเพราะมันเป็นเรื่องการตั้งรูปคดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนแล้วว่า เขารู้ตัวผู้กระทำความผิดไหม ถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดก็เป็นสำนวนไม่รู้ตัว แต่คำว่า มุมดำ เป็นภาษาทางอัยการที่เราเรียกเอง ว่ามุมดำ คือไม่รู้ตัว

แต่เป็นศัพท์กฎหมาย คือ เป็นสำนวนที่เกิดคดีอาญาขึ้น แต่ไม่รู้ว่าใครคือคนร้าย นั่นคือภาษาง่ายๆ

ณัฐวุฒิ : คำถามทั้งหมดที่เรียนถามท่านไป จะได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ใช่ไหมครับ

ประยุทธ : ผมจะนำข้อเท็จจริงและคำถามทั้งหมดในวันนี้ บันทึกเป็นข้อความนำกราบเรียนท่านผู้บริหารนะครับ ท่านมีคำสั่งให้ดำเนินการประการใดอย่างไร ก็จะได้นำเรียนให้ทางท่านและสื่อมวลชนทราบเป็นลำดับต่อไป ในภารกิจของผมต้องขออนุญาตกราบขอโทษจริงๆ กราบเรียนได้เท่านี้ เพราะขอบของบทบาทภารกิจในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดของโฆษก ก็จะมีเพียงตรงนี้

ส่วนการวินิจฉัยสั่งการใดๆ ก็เป็นเรื่องภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบตามระเบียบราชการ ขอความเข้าใจในภารกิจตรงนี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ท่านมานำเรียนวันนี้ก็ทราบถึงความร้อนใจ ทราบถึงความวิตกกังวล ก็จะได้นำประเด็นทั้งหมด นำกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดทันทีหลังจากนี้

ณัฐวุฒิ : ก็กราบเรียนท่านอัยการสูงสุดเพิ่มเติมด้วยนะครับว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีผู้สูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทย แล้วเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ ‘14 ตุลา 16’ ‘6 ตุลา 19’ หรือ ‘พฤษภา 35’

เวลามีประชาชนมาชุมนุมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แล้วเกิดเหตุสลายการชุมนุมใช้กำลังปราบปรามประชาชนเกิดเหตุบาดเจ็บล้มตาย ผู้มีอำนาจในเวลานั้นๆ ก็จะใช้อำนาจนิรโทษกรรมตัวเอง แต่ว่ากรณีปี 2553 เนี่ย มันเจ็บปวดยิ่งกว่านั้น ก็คือ แม้ไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง แต่ดูเหมือนว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีนี้ กลายเป็นเขาวงกตสำหรับผู้เสียหาย ขังพวกผม ขังญาติคนเจ็บคนตายไว้ในเขาวงกตนี้ แล้วพวกผมเดินกันมา 8 ปีกว่าๆ เดินไปเดินมาก็เห็นแต่หน้ากันเอง เห็นแต่รูปถ่ายกันเอง

มันไม่มีความคืบหน้า มันไม่มีทางออก แล้วมันไม่มีคำตอบจริงๆ คืออย่างที่เรียนนะครับ เหตุการณ์ในอดีต ผู้มีอำนาจออกกฎหมาย แต่ว่าเหตุการณ์คราวนี้ ในกระบวนการของกฎหมาย ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ไปไหนครับท่าน

ผมเรียนท่านจริงๆ นะครับว่า ผมมีความรู้สึกว่ากฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีนี้ มันไม่มีพื้นที่ให้พวกผมเลย มันไม่มีพื้นที่ให้ผู้สูญเสียเลย

แล้วจะให้พวกผมทำยังไง ผมไม่หยุดหรอกครับ ผมก็เหมือนคนที่เปิดหูเปิดตา เห็นทุกอย่าง แต่วิ่งชนกำแพงก็ต้องวิ่งชน

ชนแล้วล้มเจ็บถอยกลับมา ผมก็วิ่งชนอีก แต่ผมคิดว่าไม่ควรจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ครับ ผมคิดว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ต้องช่วยกันทลายกำแพงนี้ ให้ประชาชนผู้สูญเสีย เขาได้เข้าถึงความยุติธรรมได้ ผมทราบว่า ท่านอาจจะไม่สามารถให้คำตอบอะไรเพิ่มเติมได้อีก

แต่อย่างน้อย ขอให้ท่านได้รับทราบความทุกข์ใจ ได้รับทราบความเจ็บปวดของพวกผมเถอะครับ

ผมมาเนี่ย ผมก็ทราบนะครับ บางคนอาจจะบอกว่า เขาจะไปเลือกตั้งกันแล้ว เขาจะปรองดองกัน มาเที่ยวเคลื่อนไหวมาเที่ยวพูดเรื่องนี้ได้ยังไง มันจะเสียบรรยากาศ

ผมก็บอกว่า ผมไม่ได้เป็นอุปสรรคเรื่องการเลือกตั้ง ผมไม่ได้เป็นอุปสรรคเรื่องการปรองดอง ผมมาที่นี่ไม่ได้มาทะเลาะกับใคร เพียงแต่ผมมาถามว่าคดีที่มีคนเจ็บคนตาย แล้วไม่ไปถึงไหน 8 ปีกว่าๆ

แล้วมีแต่ข่าวว่า เขาจะเป่าคดี มีแต่ข่าวว่าเขาจะยุติคดี มีแต่ข่าวว่าคดีจะไม่ถูกหยิบจับมาเดินไปข้างหน้า ผมจึงมาถามเท่านี้เอง ก็ขอบพระคุณที่กรุณาให้เวลา แล้วก็กรุณาได้รับรู้ความรู้สึกของพวกผมด้วย

กราบเรียนท่านอัยการสูงสุด ท่านอย่าเขียนแต่ตัวหนังสือ ท่านไปกราบเรียนเลยครับ ว่าผมมีความรู้สึกแบบนี้ แล้วมันเป็นความเจ็บปวดแบบนี้จริงๆ นะครับ แล้วผมไม่หยุดหรอกครับ อย่างที่บอก วันนี้ก็มาวิ่งชนกำแพงอีก ผมรู้ว่ามาก็คงไม่ได้รับคำตอบอะไรคืบหน้า แต่ผมมา

แล้วที่ไหนผมจะวิ่งไปหาความยุติธรรมได้อีก ผมก็จะทำ ก็เรียนท่านนะครับ’ณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.