บีบีซีไทย - BBC Thai
โคลอมเบียแต่งตั้งคณะกรรมการสานต่อแผนสันติภาพกับกลุ่มฟาร์กแม้ประชาชนลงมติคัดค้าน
นายฮวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีโคลอมเบีย แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง 3 นายเพื่อเจรจาปรับแก้เงื่อนไขในข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกองกำลังการปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (ฟาร์ก) ภายหลังประชาชนมากกว่าครึ่งออกเสียงประชามติคัดค้านข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ออกเสียงคัดค้านประชามติคิดเป็น 50.2% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติราว 13 ล้านคน แต่ไม่ถึง 38% ของประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด และเสียงคัดค้านไม่ทิ้งห่างจากเสียงสนับสนุนมากนัก โดยคะแนนต่างกันเพียง 54,000 เสียง แต่ก็ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้
ผลประชามติคัดค้านข้อตกลงสันติภาพเป็นเรื่องผิดความคาดหมาย เพราะผลสำรวจความเห็นประชาชนก่อนลงประชามติบ่งชี้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว แต่ประธานาธิบดีซานโตสยืนยันว่าจะยึดมั่นในการเจรจาสันติภาพเพื่อหาทางยุติสงครามความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มฟาร์กที่ดำเนินมากว่า 52 ปีให้ได้ในวาระการดำรงตำแหน่งของตน ส่วนนายทิโมเลออน จิเมเนซ หรือ ทิโมเชงโก ผู้นำกลุ่มฟาร์ก ยืนยันว่าทางกลุ่มจะยึดมั่นในเงื่อนไขหยุดยิงตามที่ได้เจรจาไว้กับรัฐบาลโคลอมเบียตามเดิม
ขณะที่นายอัลวาโร อูริเบ อดีตประธานาธิบดีโคลอมเบีย สังกัดพรรคดีซี ซึ่งเป็นแกนนำคัดค้านข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว ส่งสมาชิกพรรคระดับสูง 3 นายเข้าร่วมหารือกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในการยุติสงครามความขัดแย้งในโคลอมเบีย แต่ก่อนหน้านี้ นายอูริเบเสนอให้ทางรัฐบาลกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมแก่สมาชิกฟาร์กที่เคยก่ออาชญากรรมร้ายแรง รวมถึงห้ามผู้นำระดับสูงของกลุ่มฟาร์กเข้ามามีบทบาททางการเมืองหลังปลดอาวุธ
ด้านนายอุมแบร์โต เด ลา กาลล์ ตัวแทนของรัฐบาลโคลอมเบียในการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงสันติภาพร่วมกับกลุ่มฟาร์ก ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังทราบผลการลงประชามติ แต่ประธานาธิบดีซานโตสไม่อนุมัติการลาออก และมีคำสั่งให้เขาไปประจำการที่กรุงฮาวานาของคิวบาเพื่อเจรจากับกลุ่มฟาร์ก โดยหวังว่าจะสามารถต่อรองหรือปรับแก้เงื่อนไขให้ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้ และผลักดันให้กระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ ข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียและกลุ่มฟาร์ก ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลคิวบาในการจัดการเจรจาที่กรุงฮาวานาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงและลงนามรับรองเงื่อนไขข้อตกลงสันติภาพร่วมกันได้ในปีนี้ แต่ประชาชนโคลอมเบียจำนวนมากลงประชามติคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว โดยมองว่ารัฐบาลยอมให้กลุ่มฟาร์กได้เปรียบจนเกินไป โดยเฉพาะชาวโคลอมเบียที่อยู่ในภาคกลางซึ่งมักถูกกลุ่มฟาร์กบังคับขู่เข็ญมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ไม่พอใจที่รัฐบาลเสนอว่าจะให้เงินรายเดือนแก่สมาชิกกลุ่มฟาร์กที่ยอมปลดอาวุธ แต่กลับไม่มีแผนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
แสดงความคิดเห็น