บีบีซีไทย - BBC Thai

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนทั่วโลกพร้อมใจกันหันไปกินผักกันหมด

การเลิกกินเนื้อสัตว์มีผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่ขณะเดียวกันคนในวงการวิทยาศาสตร์เตือนว่าจะต้องคำนึงถึงการป้องกันการเกิดวิกฤตทางสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาด้วย

แอนดรูว์ จาวิส แห่งศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติในโคลอมเบีย บอกว่าการนิยมกินผักอาจมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา เพราะจากการศึกษาของเขาและคณะพบว่าอุตสาหกรรมผลิตอาหารเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 3 ทั่วโลก และส่วนใหญ่มาจากการผลิตเนื้อสัตว์

ขณะที่มาร์โค สปริงมานน์ นักวิจัยแห่ง Oxford Martin School’s Future of Food และคณะได้ข้อสรุปจากการสร้างคอมพิวเตอร์โมเดลเพื่อประเมินว่าหากผู้คนทั่วโลกพร้อมใจลดการบริโภคเนื้อแดง หันไปบริโภคผักผลไม้ภายในปี ค.ศ. 2050 ปรากฏว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ 60% และหากละเลิกผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิดก็จะลดก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ 70 % ขณะเดียวกันการเลิกกินเนื้อสัตว์จะลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ เบาหวาน เส้นเลือดแตกในสมอง และมะเร็งบางประเภทลงทั่วโลกได้ราว 6-10 % หรือประมาณปีละ 7 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ทิม เบนตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์บอกว่าคนส่วนใหญ่มักมองข้ามผลกระทบที่เกิดจากการผลิตอาหารต่อภาวะแวดล้อม เขาเห็นว่าการค่อย ๆ ลดการบริโภคเนื้อลง จะส่งผลดีต่อบุตรหลานในอนาคต แต่ในเวลาเดียวกัน เบนตันเกรงว่าการหวังประโยชน์จากการเลิกบริโภคเนื้อสัตว์นั้น จะต้องคำนึงถึงสารอาหารที่จะได้รับทดแทนอย่างเพียงพอด้วย โดยเฉพาะในหมู่ประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคนที่มีปัญหาขาดสารอาหาร สิ่งนี้อาจกลายเป็นวิกฤติทางสุขภาพของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาได้

เรเชล นูเวอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่าปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 54,000 ล้านไร่ทั่วโลก ถูกนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ถึง 68% หากสามารถแปลงสภาพพื้นที่ราว 80% ของทุ่งเลี้ยงสัตว์เพื่อฟื้นฟูป่า และทุ่งหญ้า ก็จะช่วยดูดซับคาร์บอน ลดภาวะโลกร้อน และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 10%- 20% ก็นำไปใช้ปลูกผักผลไม้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ที่คนจะบริโภคน้อยลง

อีกด้านหนึ่ง แอนดรูว์ จาวิส กล่าวว่าจำเป็นต้องวางแผนและการลงทุน ขณะที่เกษตรกรที่เคยเลี้ยงสัตว์ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ และได้รับความช่วยเหลือให้ปรับตัวเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น หรือสนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะสิ่งนี้ยังมีความจำเป็น

ปีเตอร์ อเล็กซานเดอร์ นักวิจัยแห่ง ม.เอดินเบอระ ยกตัวอย่างพื้นที่ราบสูงในสก็อตแลนด์มีการว่าจ้างให้เกษตรกรเลี้ยงแกะเพื่อควบคุมความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ด้าน เบน ฟาลาน นักวิจัยด้านความสมดุลของการผลิตอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกว่าแต่ละปีมีเป็ดไก่ถูกฆ่ากว่าหมื่นล้านตัวทั่วโลก ถ้าคนไม่กินเนื้อสัตว์เสียแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นอกจากนี้สภาพพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่ของโลกก็อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ปลูกพืชผัก หรือทำไร่ ขณะเดียวกันการเลิกเลี้ยงสัตว์ในบางชุมชนอย่างชนเผ่าเร่ร่อนในมองโกเลีย และ เบอร์เบอร์ในอาฟริกาจะทำให้ต้องอพยพไปอยู่ในเมือง ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้ #climatechange#vegetarian



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.