อลหม่านประมูลข้าวรัฐ หลังเกิดเหตุ "ทหาร" อ้างผู้ใหญ่สั่งห้ามนักข่าวตรวจสอบคลังสุดใจ จ.ชัยนาท ตามที่รับร้องเรียนว่าภายในบรรจุข้าวผิดชนิดกับที่ประมูลได้

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ทางบริษัทร่วมเจริญพัฒนาการข้าว ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้มีการเชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามปัญหา และตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการรับมอบข้าวที่ประมูลได้จาก คลังสินค้าสุดใจ จ.ชัยนาท ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยระบุว่า ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

แต่เมื่อไปถึงหน้าคลังกลับพบว่ามีเพียงนางอนุรี อธิคุณากร ผู้อำนวยการกองธุรกิจข้าว อ.ต.ก., คณะกรรมการตรวจสอบข้าวของ อ.ต.ก. , ตัวแทนจากบริษัท เซอร์เวย์เยอร์ และนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทร่วมเจริญพัฒนาการข้าว ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล เจรจาอยู่ด้านนอกคลัง และมีการหารือกันว่า จะให้ใครเข้าไปตรวจในโกดังได้บ้าง โดยช่วงแรกทางตัวแทน อ.ต.ก.จะไม่ให้นายบรรจงเข้าไป และบอกว่า อ.ต.ก.จะเป็นเข้าไปตรวจสอบเอง แต่นายบรรจงแย้งกลับว่า "ไม่เป็นธรรมหากไม่ให้ทางบริษัทซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลเข้าไปตรวจสอบ แล้วทาง อ.ต.ก.จะนัดมาทำไม"



ระหว่างถกเถียงกันนักข่าวและช่างภาพทีวีก็มีการบันทึกภาพ โดยถ่ายจากด้านหน้าคลังที่เปิดประตูไว้เข้าไปด้านใน ทำให้เห็นสภาพกองข้าวที่เสื่อมสภาพจำนวนมาก เพียงได้ครู่เดียว ก็มีเกิดความชุลมุนขึ้น เมื่อมีบุคคลที่คล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบ และบุคคลที่แต่งกายคล้ายทหาร 4 คน ออกมาแจ้งให้นักข่าวยุติการบันทึกภาพและให้ออกจากพื้นที่คลังสินค้าสุดใจทันที

โดยบุคคลเหล่านี้กล่าวอ้างว่า"ได้รับคำสั่งจากเจ้านายสั่งการมาว่าจะต้องมีการตรวจสอบข้าวในโกดังก่อน ขอความร่วมมือให้นักข่าวออกจากพื้นที่ และไม่ให้มีการบันทึกภาพ ส่วนภาพที่ถ่ายแล้วขอให้ลบทิ้ง" และได้พยายามปิดประตูคลัง จึงเกิดความชุลมุนขึ้น ส่งผลให้นักข่าวหนังสือพิมพ์และทีวีต้องขับรถห่างจากโกดังออกมาเพียงเล็กน้อย เพื่อรอให้ตัวแทนจากบริษัทร่วมเจริญพัฒนาการข้าวเข้าไปตรวจสอบข้าวในโกดังให้เสร็จก่อน หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวย้อนกลับไปหน้าโกดังอีกครั้ง เพื่อรอสัมภาษณ์นายบรรจง ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ได้เพียงครู่เดียว มีบุคคลแต่งกายคล้ายทหารมาไล่ไม่ให้ทำข่าวอีก

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทร่วมเจริญพัฒนาการข้าว เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมการตรวจข้าวในโกดังว่า ภายใน 2-3 วันนี้จะหารือกับ อ.ต.ก.อีกครั้ง ส่วนเรื่องจะเป็นไปในทิศทางใดจะทำเรื่องเรียนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้รับทราบ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ตนเข้าไปตรวจสอบสภาพข้าวในคลังสินค้าสุดใจ จ.ชัยนาท โกดังที่ 5 แล้วพบว่าข้าวมีสีเหลือง เสื่อมสภาพอย่างมาก ไม่สามารถรับประทานได้ และผิดประเภทจากที่ประมูลซื้อโดยสิ้นเชิง

"ที่ผ่านมาได้หารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ทั้งปัญหาเรื่องสภาพข้าวเหลืองมาก ไม่ตรงสเปค หลายกระสอบไม่มีปีรหัสระบุ วันนี้เมื่อแทงข้าวออกมาเห็นสภาพแล้ว ผู้รับมอบจาก อ.ต.ก.ไม่มีใครเซ็นรับทราบว่าข้าวผิดชนิดจากที่แจ้งไว้ โดยตัวแทนจาก อ.ต.ก.อ้างว่า วันนี้ไม่ได้จ้างบริษัทเซอร์เวย์เยอร์กลางมาตรวจสอบด้วย ซึ่งผมจะต้องทำหนังสือแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยเฉพาะ นบข.และท่านายกฯ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการเซ็นรับทราบ จะต้องมีค่าปรับ เพราะทางบริษัทได้ขยายสัญญามาครั้งหนึ่งแล้ว" นายบรรจงกล่าว


อนึ่ง สำหรับการประมูลข้าวในคลังนี้ ผู้ประกอบการส่งออกข้าวที่ชนะการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเคยแจ้งร้องเรียนมาว่า ประมูลซื้อข้าวขาว 5% จากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ปริมาณ 220,000 ตัน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อ.ต.ก. ในระดับราคาตันละ 10,900 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ชำระเงินและเข้าไปรับมอบข้าวตามสัญญาที่ชนะประมูล กลับพบว่าชนิดข้าวที่บรรจุอยู่ภายในคลังดังกล่าวไม่ตรงกับเสนอประมูลซื้อทั้งชนิดและปีการรับจำนำ แต่ภายหลังพบว่าข้าวมีลักษณะผิดปกติจากมาตรฐานข้าว 5% ที่ประมูลได้ เพราะเมื่อเทียบเท่าคุณภาพเป็นเพียงข้าว 35% และจากกระสอบที่บรรจุ ระบุว่า ข้าวนี้เป็นข้าวจากโครงการรับจำนำ โครงการปี 2554/2555 คนละปีการรับจำนำด้วย เมื่อประเมินแล้วราคาข้าวตามสภาพที่พบน่าจะมีราคาเพียงตันละ 5,000-6,000 บาท จึงได้ทำหนังสือแจ้งปัญหานี้ไปยัง อ.ต.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


กระทั่งได้มีการทำบันทึกร่วมกันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ระหว่าง 1) นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล ผู้จัดการ บริษัท ร่วมเจริญค้าข้าว จำกัด และนายอัคครัชต์ ลาภบุญเรือง เจ้าของคลังสินค้า 3) นายศุภรัตน์ คูสกุล หัวหน้าคลังสินค้าสุดใจ และ 4) นางอนุรี อธิคุณากร หัวหน้ากองธุรกิจข้าว สาระสำคัญ ให้นายอัคครัชต์ ในฐานะผู้รับฝากข้าว รับผิดชอบซื้อข้าวดังกล่าวกลับคืนไปในราคาที่ประมูลได้ และรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ

อีกทั้งมีการออกหนังสือขอให้ อ.ต.ก. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนย้ายและคุณภาพข้าวในคลังนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 และได้ลงบันทึกประจำวันไว้ในวันที่ 19 กันยายน 2559 และออกหนังสือแจ้งปัญหาการออกข้าวช้า ข้าวไม่ได้ประกาศ ขอให้ อ.ต.ก. จัดเซอร์เวย์กลางเข้ามาคัดแยกข้าวที่ไม่ตรงปีผลิต จนทำให้มีการส่งคณะมาตรวจสอบดังกล่าว


source :- http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477396479

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.