Image copyright
Getty Images

ข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ปี ค.ศ 2016 (พ.ศ.2559) เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์และปรากฏการณ์เอลนีโญ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยเมื่อปี 2016 สูงกว่าปี 2015 ราว 0.07 องศาเซลเซียส แม้ว่าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักรจะบอกว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับค่าความคลาดเคลื่อน แต่นาซาชี้ว่าปีที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงทุบสถิติต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 แล้ว

บรรดานักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกในปีที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้น แต่ปัจจัยหลักของปัญหานี้คือการที่มนุษย์ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ที่คาดการณ์แนวโน้มเช่นนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2016
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดมวลน้ำอุ่นผิดปกติในหลายจุดของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่ออุณหภูมิโลก และรบกวนรูปแบบตามปกติของสภาพอากาศ

ข้อมูลขององค์การนาซา บ่งชี้ว่า ปี 2016 เป็นปีที่ร้อนที่สุดนับแต่มีการบันทึกข้อมูลเมื่อปี 1880 ดร.เกวิน ชมิดต์ จากนาซา บอกบีบีซีว่า ค่อนข้างชัดเจนว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลระยะยาวยังมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ส่วนอีกปัจจัยก็คือสภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นผิดปกติในแถบขั้วโลกเหนือ โดยมีรายงานว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ลดลงจนเกือบแตะระดับต่ำสุดเมื่อเดือน ก.ย. 2016

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยเมื่อปี 2016 สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาว 0.77 องศาเซลเซียส และเมื่อรวมข้อมูลล่าสุดของปีที่แล้วพบว่า ปีที่ร้อนที่สุด 15 ปีจากทั้งหมด 16 ปี เกิดขึ้นหลังจากปี 2001 เป็นต้นมา ส่วนปีที่ร้อนที่สุดอีก 1 ปีคือปี 1998 ซึ่งร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 7 โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สภาพอากาศร้อนต่อเนื่องกันเป็นเวลานานส่งผลกระทบอย่างมากทั่วทั้งโลก

source :- read:http://www.bbc.com/thai/international-38675932?ocid=socialflow_facebook

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.