สถานการณ์ฉุกเฉินของ ‘รถฉุกเฉิน’
Posted: 23 Jan 2017 10:04 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
งานศึกษาพบอุบัติเหตุที่เกิดกับรถพยาบาลมีหลายปัจจัย ทั้งตัวคนขับ สภาพรถ สภาพแวดล้อม พบพนักงานขับรถฉุกเฉินจำนวนหนึ่งไม่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์และหลักสูตรขับรถพยาบาล บางรายไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน แนะ สธ. เร่งฝึกอบรม และรณรงค์ให้คนเคารพกฎจราจร


หลายคนคงได้รับรู้ข่าวคราวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา กรณีคนขับรถกู้ชีพของโรงพยาบาลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ที่กำลังไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีอาการแน่นหน้าอก แต่ประสบอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถกระบะเสียก่อน เหตุการณ์ต่อมาคือทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ จึงต้องไปคุยกันต่อที่สถานีตำรวจ ทำให้รถพยาบาลคันดังกล่าวไม่สามารถไปรับผู้ป่วยได้ทัน จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ต่อมาเพจ ‘ทีมงานโฆษก ตร.’ ได้โพสต์ข้อความในช่วงกลางวันของวันที่ 19 มกราคมว่า
“ทีมงานโฆษก ตร. ขอรายงานเหตุน่าสนใจ กรณีที่มีการลงข่าวว่า "รถฉุกเฉินชนกับรถกระบะ และเจ้าของรถกระบะไม่ให้รถฉุกเฉินไปรับคนป่วย เป็นเหตุให้ คนป่วยเสียชีวิตนั้น" ข้อเท็จจริงคือ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 60 รถฉุกเฉินโรงพยาบาลบางบัวทองกำลังจะไปรับผู้ป่วยที่แน่นหน้าอกส่งโรงพยาบาล ขณะเดินทางได้เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนกับรถกระบะ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทางฝ่ายรถฉุกเฉินโรงพยาบาลบางบัวทองจึงได้โทรประสานไปยังโรงพยาบาลบางใหญ่ ให้ไปรับผู้ป่วยแทน ซึ่งผู้ป่วยนั้นเป็นผู้หญิง อายุ74ปี ป่วยเป็นโรคไต ความดันลดละพึ่งผ่าตัดลำไส้ ซึ่งข้อจริงนั้นรถของทางโรงพยาบาลบางใหญ่ได้ไปรับแล้ว แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะโรคประจำตัว มิได้เกิดจากการที่รถฉุกเฉินไม่ได้ไปรับผู้ป่วยตามที่ปรากฎในข่าวแต่อย่างใด ในส่วนของรถทั้งสองคันที่ชนกัน ทางพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างประมาท”
แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยลดอุณหภูมิความเดือดดาลของผู้คนลงสักเท่าไหร่ เพราะยังเห็นว่าถ้ารถฉุกเฉินสามารถไปรับตัวผู้ป่วยได้ทัน การตายก็คงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้
ในกรณีข้างต้น อุบัติเหตุที่เกิดกับรถฉุกเฉินดูเหมือนจะถูกโยนให้เป็นความผิดของคนขับรถกระบะโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่ประชาไทจะชวนไปดูข้อมูลจากวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2558 เรื่อง สถานการณ์และสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลในประเทศไทย ที่ระบุว่าเมื่อปี 2557 รถฉุกเฉินประสบอุบัติเหตุสูงถึง 61 ครั้ง ผู้โดยสารและพนักงานขับรถได้รับบาดเจ็บ 130 ราย และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งสูงเกือบเท่ากับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตในรอบ 10 ปีตามรายงานของสำนักพยาบาลที่รายงายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ประสบอุบัติเหตุในรถพยาบาล
ถ้าดูตัวเลขข้างต้นโดยอ้างอิงเอากับจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากท้องถนนต้องถือว่าไม่มากเลย แต่เมื่อนำไปประกบกับจำนวนผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้วล่ะก็ การเสียชีวิตในหลักสิบส่งผลมากกว่าที่คิด เพราะในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในปี 2557 มีผู้ปฏิบัติงานในระบบจำนวน 159,854 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์เพียงร้อยละ 1 พยาบาลร้อยละ 12 เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินการแพทย์ร้อยละ 1 พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ร้อยละ 4 นั่นหมายความว่าการสูญเสียกำลังคนแม้จะเพียงหลักสิบ แต่ก็เป็นการซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนบุคลากร
งานชิ้นนี้ระบุว่าสาเหตุที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลและความไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่เพียงเพราะผู้ใช้รถใช้ถนนเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ...ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าพฤติกรรมการขับขี่และการไม่ใส่ใจกฎจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนมีส่วน แต่ก็เพียงส่วนหนึ่งของต้นตอ งานศึกษานี้จำแนกสาเหตุออกเป็น 4 ด้านคือ
1.ปัจจัยด้านบุคคล พนักงานขับรถไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ ไม่เคยผ่านหลักสูตรขับรถพยาบาล บางคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยซ้ำ ไม่มีรายงานที่อธิบายรายละเอียดปัญหาสุขภาพ การได้ยิน และการมองเห็น ทั้งยังพบว่าก่อนวันปฏิบัติงานพนักงานขับรถในบางกรณีต้องทำภารกิจอื่นที่เสี่ยงต่อความอ่อนล้าของร่างกาย การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือการขับรถเร็วเกินกว่าที่กำหนด
2.ปัจจัยด้านยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ภายในรถพยาบาล รถบางครั้งทั้งตัวรถและอุปกรณ์ไม่มีการตรวจสภาพและขึ้นทะเบียนในระบบ การติดตั้งสัญญาณไฟวับวาบและเสียงไซเรนไม่รู้ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ไม่มีการติดตั้งจีพีเอส ทั้งยังพบว่ารถตู้ที่ดัดแปลงเป็นรถฉุกเฉินมีอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน 
3.ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การไม่มีป้ายสัญลักษณ์ที่ชัดเจน การไม่มีระยะหน่วงในการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจร หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น
4.ปัจจัยด้านสังคม กฎระเบียบ ขนบธรรมเนียม เช่น การเกิดอุบัติเหตุในแหล่งชุมชนที่มีการสัญจรไปมาค่อนข้างมาก ถนนที่ใช้ขนถ่ายผลผลิตทางการเกษตรและมีเศษผลผลิตการเกษตรตกหล่นบนถนน
งานดังกล่าวเสนอแนะว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) ควรกำหนดคุณสมบัติพนักงานขับรถพยาบาลและฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานขับรถพยาบาลทั้งของภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ขณะที่รถพยาบาลจะต้องทำการปรับปรุงมาตรฐาน เช่น การติดตั้งจีพีเอส การจำกัดความเร็ว การเพิ่มค้อนทุบกระจกและที่ตัดเข็มขัดนิรภัย ทำการเพิ่มสัญลักษณ์หรือสัญญาณจราจรในจุดเสี่ยงต่างๆ และยังรวมถึงการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการนำส่งผู้ป่วย เพื่อให้หลีกทางแก่รถพยาบาลและเพิ่มมาตรการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร
ปัจจุบัน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 76 ระบุว่า ผู้ใช้ถนนร่วมกับรถฉุกเฉินว่า คนขับรถ หรือจูงสัตว์ หากเห็นแสงไฟวาบ หรือไซเรน ให้หยุดหรือจอดชิดซ้ายทันที เพื่อให้รถฉุกเฉินผ่านไปเสียก่อน หรือหากผู้ขับรถกำลังขับรถตามสัญญาณไฟเขียว แต่พบเห็นรถฉุกเฉินฝ่าไฟแดงมา ผู้ขับรถจะต้องหยุดเพื่อรอให้รถฉุกเฉินไปก่อน หากไม่ปฏิบัติตามหรือหลบหลีก หรือจอดให้รถฉุกเฉินไปก่อนจะมีโทษปรับ 500 บาท

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.