ทบทวน 26 ปีเขื่อนแก่งเสือเต้น สัญลักษณ์การรวมศูนย์อำนาจ vs การจัดการน้ำของประชาชน

Posted: 19 Apr 2017 08:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เขื่อนแก่งเสือเต้นหายไปจากหน้าข่าวนาน แต่ชาวบ้านเชื่อว่ามันจะโผล่ขึ้นมาเป็นทางออกแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อีก สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้เป็นอย่างไร ชาวบ้านคิดการณ์ใหญ่ไปถึงไหน "สะเอียบโมเดล" การจัดการน้ำที่ชาวบ้านและสถาบันการศึกษาร่วมกันคิด เตรียมคลอดหรือยัง

ต้นน้ำยม ในตำบลสะเอียบ ในช่วงเดือนเมษายน



ผีเสื้อและแมลงปอ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้อย่างดี


ชุมชน สะเอียบ ในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ นับเป็นพื้นที่ “สีแดง” ทางการเมืองแห่งการต่อต้านมายาวนาน นับตั้งแต่เริ่มมีดำริริเริ่มและมีการรับหลักการที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในปี 2534 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน

จากชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้จักเขื่อน นำมาสู่การต่อต้านและการเสนอโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่ และ ความหลากหลายทางชีวภาพอีกมาก

หากเราอยากจะทำความรู้จักชุมชนสะเอียบ เราอาจจะต้องย้อนไปดูประวัติ ราว 30 ปี ที่แล้วตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการผันน้ำอิง-ยม-น่าน อันเป็นที่มาของเขื่อนแก่งเสือเต้น ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเขื่อนชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในภาคเหนือตอนบน อย่างไรก็ตาม เขื่อนแก่งเสือเต้นก็ถูกให้ความหมายและวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ในปี 2553 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รื้อโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง รัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลช่วยเหลือทุกปี หากมีการสร้างจะเก็บน้ำจืดได้ถึง 3,700 ล้านคิวซึ่งรัฐบาลควรสร้างนานแล้ว และเป็นโครงการที่อยู่ในความคิดให้สร้างเขื่อนแต่แรก ตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯอยู่ แต่ถูกแรงต้านจากชาวบ้านสะเอียบอย่างรุนแรง ทำให้ต้องยกเลิกโครงการนี้ไป

ผีแก่งเสือเต้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก หลังจากนั้นรัฐบาลได้มีการวางโครงการการจัดการน้ำครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อป้องกันการกลับมาของมวลน้ำมหาศาลในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านการนำของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และเช่นเดิมก็หลีกไม่พ้นการต่อต้านของชุมชนจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบในการสร้างเขื่อน จนต้องปรับแผนการมาสู่เขื่อนยมบน-ยมล่าง

ประชาไท ชวนคุยกับ “น้อย” ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี หนึ่งในแกนนำของชุมชนถึงเรื่องราวที่ผ่านมาและแผนพัฒนาจัดการน้ำของชุมชน “สะเอียบโมเดล” เพื่อพัฒนาระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

น้อย ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี

จุดเริ่มต้นของการเป็นพื้นที่สีแดงคัดค้านเขื่อน

น้อย กล่าวว่า ที่นี่อยู่มากัน 200 กว่าปี ชาวบ้านไม่รู้จักเขื่อนมาก่อน แต่ในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2532 มีการอนุมัติหลักการให้สร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนแก่งเสือเต้น จากนั้นก็มีนักศึกษากว่า 16 สถาบันจากกรุงเทพฯ มาให้ข้อมูลว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ได้พบปะชาวบ้านจำนวนหนึ่งซึ่งเอาปลามาแลกข้าวมาหลายปีด้วย ชาวบ้านที่นี่ก็ถามว่าไม่มีที่นาทำกินหรือ พวกเขาบอกว่ามาจากบ้านท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งมีการสร้างเขื่อนสิริกิตติ์จนน้ำท่วมที่นาหมดแล้ว ต้องหาปลาเอามาแลกข้าวกิน ชาวบ้านสะเอียบจึงรู้สึกว่าถ้ามีเขื่อนอนาคตพวกเขาก็อาจจะไม่ต่างกัน และชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจลงพื้นที่เขื่อนสิริกิตติ์ว่าเขื่อนเป็นอย่างไร พอกลับมาก็ปรึกษาหารือกันได้ข้อสรุปว่า “เราจะไม่เอาเขื่อน” แล้วก็ตระเวนไปพูดคุยกับพี่น้องเขื่อนภูมิพลหรือที่ดอยเต่าซึ่งต้องย้ายหมู่บ้านอยู่ตลอดตามระดับน้ำ จนชาวบ้านกินข้าวเต็มเมล็ดไม่เป็น พอจะได้กินน้ำก็ขึ้น ต้องอพยพอยู่เรื่อยๆ จากนั้นไปดูที่เขื่อนศรีนครินทร์ เมืองวัดของหลวงพ่ออุตตมะที่จมหายไปกับบาดาล ที่เก็บกระดูกบรรพบุรุษก็กลิ้งเต็มไปหมด น้ำลดนักท่องเที่ยวก็มาเหยียบกระดูกพ่อกระดูกแม่ ชาวบ้านเห็นแล้วก็รับไม่ได้

น้อยกล่าวว่า ในโครงการพื้นที่ที่กำหนดจะย้ายชาวบ้านสะเอียบไปอยู่ ก็มีลักษณะเป็นป่าแพะ (ป่าผลัดใบประเภทหนึ่ง พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งที่ราบและที่เขาสูง ดินมักเป็นทราย และลูกรัง) หินแห่ (ลูกรัง) พลาญหิน ซึ่งมันอยู่ไม่ได้ นักการเมืองแพร่ก็บอกว่าจะจัดสรรที่ให้ใหม่ มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้หมด แต่ก็ไปกว้านซื้อพื้นที่โดยรอบไว้หมด พื้นที่ใหม่ที่ว่าก็เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนอื่น เขาก็บอกว่ามันเป็นของเขาถ้าเข้ามาก็เจอลูกปืน แล้วชาวบ้านจะไปอยู่ได้อย่างไร มันไม่ชอบมาพากล พอปี 2554 เขาก็มาเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของเขื่อนเพราะเขื่อนชลประทานกับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งมันไม่เหมือนกัน เขาบอกว่ายังไงก็คุ้มเพราะจะทำให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพ ช่วยให้ไม่ต้องเสียเงินกว่า 1.2 ล้านล้านถ้าน้ำท่วมเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยคิดจะกั้นแม่น้ำยมเพื่อไม่ให้น้ำไปท่วมกรุงเทพ ซึ่งเราเห็นว่าคิดแบบนี้ไม่ได้ ไม่มีความเป็นวิชาการแล้ว ในความเป็นจริงแม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำที่มีขนาดเล็ก ปริมาณน้ำท่าของลุ่มยมก็ไม่เกิน 1,100 ล้าน ลบ.ม. จะมาบอกว่าท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้ เขื่อนที่กั้นลำนำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลในปี 2554 เคยปล่อยน้ำออกมาราว 100 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน น้ำทะลักจนตลิ่งพังหมด เพราะเป็นลุ่มน้ำใหญ่มีน้ำเยอะต้องระบาย แล้วน้ำใต้เขื่อนจากอยุธยาและรังสิตอีก รวมๆ แล้วก็เป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร จึงท่วมกรุงเทพฯ น้ำไม่ได้มาจากลำน้ำยม และลำน้ำยมก็มีทุ่งรับน้ำอยู่

ตอนหลังมามีโครงการเขื่อนยมบนยมล่าง คราวนี้ชาวบ้านสะเอียบไม่ต้องอพยพ แต่ป่าก็ยังถูกน้ำท่วมเหมือนเดิม โดยจะมีน้ำท่วมอุทยานแห่งชาติกว่า 40 กม. เว้นสะเอียบไว้ เหนือขึ้นไปกว่าสะเอียบก็เป็นเขื่อนยมบนที่จะสร้างขนาดใกล้เคียงกับแก่งเสือเต้น นั่นหมายความว่า เขาจะแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน เขื่อนยมล่างจากเดิมที่จะสามารถจุน้ำได้ 1,175 ล้าน ลบ.ม.ลดเหลือ 500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เลย จากการคำนวณว่ามี 20,000ล้าน ลบ.ม.ที่จะท่วม แต่เขื่อนกักแค่ 500 ลบ.ม. ถ้าไม่ปล่อยเขื่อนก็แตก เขื่อนยมบนก็กักน้ำได้แค่ 166 ล้าน ลบ.ม. รวมกันสองเขื่อนสามารถเก็บกักน้ำได้ 666 ลบ.ม. เรียกว่าจำนวนกักเก็บลดลง แต่งบประมาณในการจัดทำกลับมากขึ้นถึง 15,000 ล้าน ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของคนสะเอียบแต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ
สถานการณ์ในพื้นที่สะเอียบ ตอนนี้เป็นอย่างไร

น้อย กล่าวว่า แก่งเสื้อเต้นอาจจะถูกพักไปยาวๆ สถานการณ์ขึ้นอยู่กับการเมืองค่อนข้างมาก ตอนนี้รัฐบาลไม่มีเงิน ถ้ามีเงินก็อาจจะพูดอีกแบบหนึ่ง สำหรับพื้นที่สะเอียบนั้นหลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็มีทหารเข้ามาในพื้นที่ แต่มาตามคำเชิญของ อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร มาดูงานกันเรื่องสะเอียบโมเดล นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมชลประทานด้วยที่เข้ามาดู ถ้าชาวบ้านชวนหน่วยงานรัฐจะไม่มา แต่พอเป็นสถาบันการศึกษาเขาก็มากัน ความขัดแย้งเรื่องโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ดำเนินมานาน 20-30 ปีแต่ก็ยังไม่ได้สร้าง รัฐยังจะดันไปอีกกี่ปี ถ้ารัฐจะดันต่อชาวบ้านก็จะค้านต่อ ชาวบ้านไมได้ค้านทั้งหมดอะไรที่สร้างประโยชน์ชาวบ้านต้องการก็สนับสนุน เช่น การทำแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินคิดว่ารัฐบาลทหารน่าจะอยู่ยาว แม้เลือกตั้งแล้วทหารก็อาจยังอยู่ในการเมืองอีกสักสิบปี เพียงแต่เขาไม่มีเงินสร้าง


พระครูสุธรรม ชัยสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดดอนชัย ให้ข้อมูลว่า หลังทหารยึดอำนาจ 2-3 ปีมานี้มีหน่วยงานราชการเข้ามาบอกจะช่วยดูเรื่องสะเอียบโมเดลอยู่บ้าง

“ชาวบ้านก็ดูท่าทีไปก่อนแต่ก็ยังบ่ไว้ใจ ที่ผ่านมามันสอนเฮาว่า ไว้ใจใคร(หน่วยงานของรัฐ)บ่ได้” 

สะเอียบโมเดล คืออะไร


น้อยให้ข้อมูลว่า สะเอียบโมเดลคือแผนการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง ตั้งแต่ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ จังหวัด

เขาบอกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาชลประทาน ที่ผ่านมาทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ไม่ผ่าน ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก็ยังไม่ได้ทำ ที่ผ่านมา ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย เข้ามาทำการศึกษาในพื้นที่และยืนยันว่าบริเวณที่จะทำเขื่อนมีรอยเลื่อนเปลือกโลก กรมโยธาฯ จึงไปจ้างจุฬาฯ ให้ไปศึกษาเรื่องรอยเลื่อนด้วยงบประมาณ 8 ล้านบาท จุฬาฯ บอกว่ามีรอยเลื่อนจริง แต่สร้างได้โดยต้องออกแบบวิศวกรรมการสร้างแบบใหม่เพื่อป้องกันผลกระทบจากแผ่นดินไหว และด้วยเหตุนี้งบที่จะสร้างจึงเพิ่มจาก 4,700 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท โดยการเอาเสาเจาะลงไปในดินมากกว่าตึก 5 ชั้น

น้อยกล่าวว่า เมื่องบประมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ในทางเศรษฐศาสตร์หรือความคุ้มทุนนั้นก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ควรจะยกเลิกไปเลย แต่กรมชลประทานก็ยังยืนยันคุ้มทุน ขณะที่ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI บอกว่าไม่คุ้มทุนแล้ว

ฉะนั้นในมุมมองของชาวบ้าน การจัดการน้ำที่ยั่งยืนคือ การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กเป็นจุดๆ แล้วให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสัมพันธ์วัฒนธรรมชุมชนในหมู่บ้าน แล้วสะเอียบยังมีวิจัยชาวบ้านที่จัดทำโดยคณะวิจัยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งพูดถึงระบบนิเวศแม่น้ำยมตอนบน สังคมวัฒนธรรม รายชื่อทรัพยากรกรในป่า พืชผัก พันธุ์ปลา สมุนไพร พันธุ์ไม้ อ่านต่อที่นี่ (แม่น้ำยม ป่าสักทอง.. วิถีชีวิตของคนสะเอียบ )

ตอนนี้สะเอียบโมเดลกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและสรุปโดยคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร
เขื่อนคือสัญลักษณ์ของการรวมศูนย์อำนาจ?

น้อย กล่าวว่า เขื่อนคือการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ ถ้ารัฐกระจายการจัดการออกไปหาอ่างเล็กอ่างน้อย ให้ชาวบ้านเป็นคนมีอำนาจในการตัดสินใจว่าเขาจะทำนาปรังไหม หากเขาทำนาปรังเขาก็ต้องยอมรับว่าปีนี้น้ำจะแห้ง ถ้าดูแล้วน้ำในอ่างมี90% ก็ทำไป ผิดถูกก็ต้องรับผิดชอบในอำนาจการตัดสินใจของตัวเอง ที่ผ่านมารัฐผูกขาดอำนาจการตัดสินใจการจัดการน้ำมา 112 ปี แล้วมันก็ยิ่งแล้งกว่าเดิม ยิ่งท่วมหนักกว่าเดิม คุณบริหารยังไง ต้องเปลี่ยนให้ชาวบ้านได้บริหารบ้าง ท่วมก็ช่างมัน เพราะชาวบ้านสั่งปิดเปิดเอง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นผลกระทบขนาดย่อม เพราะมันไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่ เราจะทำอย่างไรให้อำนาจการตัดสินใจมาสู่ประชาชนทั่วไป

น้อย กล่าวว่า ที่สะเอียบชาวบ้านตกลงกันว่าห้ามปลูกข้าวโพดเพราะมันใช้น้ำเยอะ ให้ปลูกพริกปลูกผักที่หลากหลาย ที่ สะเอียบเป็นระบบเหมืองฝาย พอน้ำมามันก็เข้าเหมืองผ่านที่นา นี่คือวิธีคิดแบบชาวบ้านแล้วก็ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ดี ใครที่แหกมติชาวบ้านก็จะถูกมองหน้าจากประชาคม กรรมการชุมชนเป็นคนบอกว่า วันนี้น้ำจะมา คุณก็ไปรอเปิดน้ำเข้า ถ้าคุณได้น้ำเยอะแล้วหน้าที่ของคุณคือไปปิดน้ำ ให้น้ำไหลไปตามลำเหมือง คนสุดท้ายจะได้น้ำช้ากว่าคนอื่นประมาณ2อาทิตย์ สำหรับกลไกการตรวจสอบของคนท้ายเหมือง เขาก็จะไปดูว่าคนต้นเหมืองใช้น้ำเยอะเกินไปหรือไม่ และเขาจะมาประกาศที่วัดว่าขอให้ไปปิดน้ำ มันจึงเป็นระบบการจัดการน้ำที่เอื้ออาทรกัน คนที่อยู่ปลายน้ำก็ไม่ใช่ใครที่ไหนล้วนเป็นญาติมิตรกัน ใครที่จัดการไม่ดีก็จะถูกลงโทษ ไม่ต้องให้นายช่างใหญ่มาเปิดให้ และหากเกิดความผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบกันเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.