ม้งช่วยรบ (2) ชีวิตหลังสงครามเย็น การต่อสู้เพื่อสถานะบุคคลและสัญชาติ

Posted: 05 Apr 2017 05:13 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สนทนาภาคต่อกับอดีตสมาชิกชุมชนถ้ำกระบอก หลังผ่านยุค “ม้งช่วยรบ” ช่วยราชการช่วงสงครามเย็น และถูกกดดันให้ย้ายออกจากถ้ำกระบอก พวกเขาบางส่วนย้ายไปอยู่บ้านญาติพี่น้องที่เชียงราย แต่การตั้งถิ่นฐานใหม่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ตั้งใจไว้ เลวร้ายที่สุดคือถึงกับถูกจำหน่ายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ ทำให้พวกเขาขอฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง

อ่านย้อนหลัง: ม้งช่วยรบ (1) สงครามลับชายแดนกับการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ ตัวตน ความเป็นคนไทย


แต่แล้ว ชีวิตครอบครัวของเขาก็เจออุปสรรคปัญหาระลอกใหม่
การที่ชาวม้งไปรวมตัวกันอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลมีความพยายามกระทำการกดดันให้มีการสลายชุมชนม้งดังกล่าว

ตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 ทางกรมการปกครองและสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ทำการสำรวจและทำทะเบียนประวัติชั่วคราวให้ชาวม้งที่นั่น เพื่อเตรียมดำเนินการพิสูจน์ตัวบุคคลและให้สัญชาติไทยต่อไป


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การถูกกดดันจากฝ่ายนโยบายดังกล่าว จึงทำให้ชาวม้งที่นั่นเริ่มทยอยย้ายออกไปอาศัยอยู่ตามชุมชนม้งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2540-2545 โดยนายอนุชา โมกขะเวส รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง ในขณะนั้น ได้ลงนามในหนังสือที่มท. 0310.1/ว 2506 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2542 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนลำปาง ลำพูนพะเยา ตาก สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ให้อำนวยความสะดวกและรับเรื่องการแจ้งย้ายเข้าของชาวม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก
เมื่อทุกคนได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว จึงถือหนังสือนั้นพากันอพยพออกไปหาที่อยู่อาศัยกับญาติพี่น้องในเขตภาคเหนือของไทย

000


บ้านธารทอง ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย บ้านใหม่ที่พวกเขาตัดสินใจย้ายไปอยู่


ลี แซ่ซ่ง สมัยฝึกทำเครื่องเงินในชุมชนถ้ำกระบอก จ.สระบุรี


ชุมชนชาวม้งทำเรื่องไปถึงหน่วยราชการหลายแห่งเรื่องสัญชาติ แต่หลายครั้งก็ไม่เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหวัง


เอกสารประจำตัวตอนอยู่ที่ชุมชนถ้ำกระบอก ทุกคนเก็บไว้ติดตัว ไว้เป็นหลักฐานเพื่อขอสัญชาติกับทางราชการ


เอกสารประจำตัวตอนอยู่ที่ชุมชนถ้ำกระบอก ทุกคนเก็บไว้ติดตัว ไว้เป็นหลักฐานเพื่อขอสัญชาติกับทางราชการ


(จากซ้ายไปขวา) ลี แซ่ซ่ง เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และ ไซ แซ่ซง อดีตสมาชิกชุมชนชาวม้งถ้ำกระบอก ปัจจุบันพวกเขามาอยู่ที่หมู่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และญาติพี่น้องม้งกลุ่มหนึ่ง จึงตัดสินใจอพยพย้ายมาอยู่อาศัยกับญาติในหมู่บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542

“โดยก่อนมาพวกเราได้ส่งตัวแทนมาดูพื้นที่ พร้อมคุยกับผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เมื่อเห็นด้วยแล้ว พวกเราจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านธารทอง พวกเราได้อพยพครอบครัวมาอยู่อาศัยครั้งแรก 32 ครอบครัว และหลังจากนั้นมีชาวม้งจากสำนักสงฆ์ฯ ตามมาอีกจำนวนหนึ่ง” เยี่ยปาว บอกเล่า

แต่การได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านธารทองนั้น ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนตั้งใจเอาไว้

สามเดือนต่อมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมที่นั่น ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนไทยและคนม้งได้ทำการประท้วงเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ทางฝ่ายปกครองของอำเภอเชียงแสนปล่อยให้ม้งจากถ้ำกระบอกทะลักเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงแสนเป็นจำนวนมากอย่างนี้

โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ชาวบ้านในตำบลแม่เงิน ได้ออกมาคัดค้าน พากันตั้งด่านสกัดกั้นไม่ให้ม้งจากถ้ำกระบอก เข้ามาในหมู่บ้านธารทอง โดยอ้างเหตุผลว่าม้งกลุ่มนี้จะมาทำลายป่า และแย่งพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่

“ตอนนั้น พวกผมที่เข้ามาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก็ซื้อพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน และหาพื้นที่ทำกิน และนำเอกสารไปแจ้งเข้าทะเบียนบ้านของญาติในหมู่บ้าน โดยกำหนดให้ 1 บ้านเลขที่ สามารถรับได้ 2 ครอบครัว และมี 16 ครอบครัวในบ้านธารทองได้ให้พวกตน 32 ครอบครัว ย้ายเข้าอยู่อาศัยด้วย หลังจากมาอาศัยอยู่ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าพวกตนตัดไม้ทำลายป่า แต่หลังจากจับกุมพบว่าเป็นม้งดั้งเดิมในหมู่บ้าน และหลังจากนายอำเภอคนใหม่เข้ามาพวกตนก็ถูกเพ่งเล็งอีก โดยทางอำเภอแจ้งมายังผู้ใหญ่บ้านว่าให้พวกตนแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน ขณะที่กำลังประชุมปรึกษาถึงปัญหาย้ายออกจากทะเบียนอำเภอเชียงแสน ก็มีบาทหลวงท่านหนึ่งเข้ามาให้ความเห็นว่าไม่ควรย้ายออก ทำให้พวกตนตกลงไม่ไปย้ายออก หลังจากนั้น แต่เรื่องยังไม่จบ ผู้ใหญ่บ้านตอนนั้นได้เรียกชาวม้งที่รับพวกตนมาอาศัยไปลงชื่อเพื่อผลักดันพวกตนให้ย้ายออกแต่การต่อต้านก็ไม่เกิดผลใดๆ กับพวกตน” เยี่ยปาว บอกเล่าให้ฟัง

แต่อย่างไรก็ตาม การต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ก็ทำให้ชาวม้งส่วนหนึ่งนั้นไม่มั่นใจ หวั่นกลัวจะเกิดความขัดแย้งอีก จึงเดินทางกลับสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก บางส่วนก็อพยพไปอยู่ที่จังหวัดตาก และบางส่วนไปอยู่อาศัยที่อื่น

“การมาอาศัยอยู่ที่บ้านธารทอง เราได้แจ้งชื่อเข้าทะเบียนในหมู่บ้าน ทำให้พวกตนที่ยังไม่มีสัญชาติไทยก็ได้รับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองตามนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น ทำให้การเข้ารักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยใกล้หมู่บ้าน และที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ มีค่าใช้จ่ายเพียง 30 บาทเหมือนประชาชนไทยทั่วไป” เยี่ยปาว บอกเล่าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่บ้านธารทอง

แต่การออกจากสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก ย้ายมาอยู่ที่บ้านธารทองนี้ ก็ทำให้เยี่ยปาวและอีกหลายชีวิต พลาดโอกาส เดินทางไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่สาม อย่างน่าเสียดาย

วันที่ 18 ธันวาคม 2546 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเปิดโครงการรับผู้อพยพชาวลาวม้งที่อาศัยอยู่ที่วัดถ้ำกระบอกในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ตกค้างจากสงครามเวียดนาม จำนวนประมาณ 16,000 คน เพื่อไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่องค์กรของสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลไทยได้จำกัดการเข้า-ออกของคนม้ง ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เพื่อทำการขึ้นทะเบียนแล้วสัมภาษณ์ คัดกรองไปอยู่ในอเมริกา

“ตอนนั้น สหรัฐอเมริกามีนโยบายรับม้งในสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอกไปอยู่ โดยพิจารณาจากแบบสำรวจที่ทางสำนักสงฆ์ฯ เคยสำรวจไว้ หรือที่เรียกว่า บัตรทีเคบี หากใครมีบัตรนั้นแล้วจะได้รับการพิจารณาไปทั้งหมด ไม่ว่าคนนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐเมริกา จะได้รับบัตรเขียว อยู่อาศัยชั่วคราว 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้วจะต้องสอบเพื่อขอสัญชาติสหรัฐอเมริกา”

จึงทำให้กลุ่มที่อยู่ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และตัดสินใจจะเดินทางไปอเมริกา ได้ผ่านกระบวนการลงทะเบียน สัมภาษณ์ ตรวจโรค จากนั้น ม้งกลุ่มนี้ จึงถูกทยอยส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกา

ทำให้เยี่ยปาว และเพื่อนๆ ที่เคยไปช่วยรบ มีความหวังลึกๆ ว่าพวกตนน่าจะมีสิทธิที่จะได้ไปอเมริกากับเขาเหมือนกัน

เยี่ยปาวกับเพื่อนๆ จึงพากันเดินทางไปสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เจรจากับเจ้าหน้าที่ UNHCR และเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา เพื่อขอสิทธินั้น แต่การเจรจาก็ไร้ผลโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า เยี่ยปาวกับพวกออกไปจากวัดถ้ำกระบอกก่อนหน้านั้นแล้ว และไม่มีบัตรทีเคบี จึงไม่มีสิทธิเดินทางไปอเมริกา

“ตอนนั้น เราก็พยายามบอกว่า เมื่อก่อนเราก็เคยอยู่ในถ้ำกระบอก และเคยไปช่วยสู้รับกับคอมมิวนิสต์ ทำไมไม่ให้สิทธิเรา แต่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า เพราะคุณไม่มีบัตรทีเคบี จึงไม่มีสิทธิเดินทางไปอเมริกา พร้อมกับไล่เราออกจากห้องเลย ตอนนั้นเรายังพูดต่อว่าเขาเลยว่า ทำไมคนอเมริกาถึงใจดำแบบนี้” เยี่ยปาว บอกเล่าด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

ในที่สุด ชุมชนม้งที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ถูกปิดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548

ทำให้เยี่ยปาว อดนึกน้อยใจไม่ได้ว่า ทำไมชีวิตของเขาและอีกหลายๆ คน ต้องอาภัพ ต้องเผชิญกับความไร้สิทธิที่พึงมีพึงได้เหมือนกับคนอื่นๆ เขา

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ชีวิตนั้นยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อาสาเป็นทหารช่วยรบต่อต้านคอมมิวนิสต์แต่กลับถูกปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกา แล้วยังถูกปฏิเสธความช่วยเหลือในเรื่องสัญชาติไทย จากรัฐบาลไทยอีก

“ทำไม ตอนที่ประเทศมีปัญหา พวกเขามองเราเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับเรา แต่มาตอนนี้กลับทิ้งเรา ไม่สนใจไยดีเราเลย” เยี่ยปาว บอกเล่าด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ

ทั้งๆ ที่ เยี่ยปาวและพี่น้องม้งกลุ่มนี้ นั้นอยู่ในข่ายหลักเกณฑ์ที่สมควรได้รับการพิจารณาในกลุ่มแรก คือกลุ่มชาวม้งที่ฝ่ายทหารเคยใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง

ซึ่งหากเราย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อมีการสำรวจ ลงทะเบียน และสถานะทางทะเบียนของม้งถ้ำกระบอกก็จะเห็นประเด็นเรื่องนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จากการที่มีกลุ่มชาวม้งทยอยเข้าไปอาศัยอยู่ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกมากขึ้น ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 กับทั้งชุมชนม้งดังกล่าวเริ่มกลายเป็นประเด็นในการเจรจาทางการทูตและการค้าระหว่างประเทศลาวกับไทยมากขึ้น ตามนโยบาย “เปิดสนามรบเป็นสนามการค้า” ของรัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจึงดำเนินการสำรวจประชากรชาวม้งที่ถ้ำกระบอกถึงสามครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ. 2536 มีจำนวน 6,096 คน ครั้งที่สอง ปลายปี พ.ศ. 2537 มีจำนวน 13,725 คน และครั้งที่สาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2541 พบว่ามีจำนวน 20,370 คน

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาชุมชนม้งที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก การดำเนินการสำรวจในระยะหลังจึงมีการจำแนก ม้งในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ

1) กลุ่มชาวม้งที่ฝ่ายทหารเคยใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง

2) กลุ่มชาวม้งซึ่งเป็นคนไทยบนพื้นที่สูง

3) กลุ่มชาวม้งสัญชาติลาว และ

4) กลุ่มบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์

ซึ่งหลังจากมีการจำแนกแยกม้งในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ออกเป็น 4 กลุ่มแล้ว ต่อมา กระทรวงกลาโหมได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี พ.ศ. 2545 ให้ 1) กำหนดสถานะบุคคลให้ม้งกลุ่มที่ 1 เป็นกรณีพิเศษ โดยจะขอให้ม้งกลุ่มที่ 1 ได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่เกิดในประเทศไทยให้ได้รับสัญชาติไทย 2) กำหนดสถานะให้ม้งกลุ่มที่สาม โดยขออนุมัติให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับ” ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ สำนักทะเบียนอำเภอพระพุทธบาท ร่วมกับสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร ได้มีการสำรวจและทำทะเบียนชั่วคราวแก่ชาวม้งกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ส่วนกลุ่มที่ 2 กับกลุ่มที่ 4 ได้ทำการผลักดันให้กลับไปอยู่ถิ่นฐานหรือชุมชนต้นทางในภาคเหนือ

ปี พ.ศ. 2539 กรมการปกครองได้ทำทะเบียนประวัติแก่ชาวม้งที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก โดยกำหนดรหัสที่ขึ้นต้นให้เป็นรหัส 68 เพื่อเตรียมการสำหรับการดำเนินการให้สัญชาติในขั้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการกดดันจากทั้งระดับต่างประเทศและระดับรัฐบาล กับการมีชีวิตอยู่อย่างไร้อนาคตในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก

ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2545 ม้งส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายออกจากถ้ำกระบอกไปอยู่ในชุมชนม้งต่างๆ ทางจังหวัดภาคเหนือ

ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 กรมการปกครองจึงได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดใน 20 จังหวัดทางภาคเหนือที่มีชุมชนชาวเขาตั้งอยู่ ให้ดำเนินการรับแจ้งการย้ายเข้าของม้งกลุ่มดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าจังหวัดสระบุรีไม่ใช่จังหวัดที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ กับทั้งการเกิดชุมชนม้งขนาดใหญ่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เป็นการสร้างปัญหาแก่พื้นที่ จึงต้องการให้คนเหล่านั้นกลับยังภูมิลำเนาเดิมใน 20 จังหวัดที่มีชาวเขาอาศัยอยู่

กล่าวโดยสรุป กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ม้งถ้ำกระบอก” เป็นกลุ่มชาวม้งที่ปัจจุบันกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดทางภาคเหนือ คือเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก เพชรบูรณ์และจังหวัดอื่นๆ

ครั้งหนึ่ง คือช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 2520 ถึงกลางทศวรรษ 2540 อาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยในระหว่างทศวรรษ 2520-2530 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยเผเชิญกับการแทรกซึมของค่ายคอมมิวนิสต์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ชายฉกรรจ์ชาวม้งส่วนหนึ่งได้รับการฝึกให้ช่วยทหารไทยลาดตระเวนตามชายแดนไทย-ลาว และรบกับข้าศึก แต่เมื่อรัฐบาลหันมาใช้นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา กองกำลังของชาวม้งที่เป็นผู้ช่วยรบดังกล่าวถูกปลดอาวุธและสลายโดยหน่วยงานของทหารไทย

ทั้งนี้ ระหว่างที่อยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก พวกเขาได้รับการสำรวจและจำแนกเป็น “ม้งกลุ่มที่ 1” ซึ่งเคยทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย แต่กระบวนการดำเนินการให้สัญชาติแก่ม้งกลุ่มที่ 1 ดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด ภายใต้การถูกกดดันทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ทำให้พวกเขาต้องแยกย้ายกันไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ แต่ละกลุ่มแต่ละที่ต้องดิ้นรนในดำเนินการขอสัญชาติกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอในท้องที่ตามลำพัง

เช่นเดียวกับ กลุ่มของเยี่ยปาว แซ่ซ่งและคนอื่นๆ จำนวน 32 ครอบครัว จำนวน 176 คน เมื่อได้ตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ที่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ก็เจอกับปัญหาเรื่องสิทธิและสถานภาพจนได้ เมื่อก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยได้รับการสำรวจและมีชื่อในทะเบียนราษฎร (ทร.13) ตอนอยู่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้ดำเนินการแจ้งย้ายเข้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนไว้แล้ว

แต่แล้ว ทุกคนมารู้ทีหลังว่า ได้มีการจำหน่ายชื่อทั้งหมดออกจากฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีการแจ้งให้ทราบใดๆ เลย

“คือเราแปลกใจว่า ทำไม รายชื่อพวกเราถึงไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนของอำเภอเชียงแสน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางอำเภอพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ก็มีหนังสือแจ้งมาแล้วว่าได้ย้ายเข้าฐานทะเบียนไปอำเภอเชียงแสนเรียบร้อยแล้ว”

“ใช่ๆ รายชื่อเรา ย้ายมาจากถ้ำกระบอกมา มีหนังสือย้าย ทร.17 ตามกฎหมาย มาเข้าแจ้งกับฐานทะเบียนอำเภอเชียงแสน แต่พอไปตรวจสอบดูกลับพบว่าไม่มีรายชื่อของเราเลย”

จากจุดนี้เอง ทำให้เยี่ยปาวและญาติพี่น้อง ได้หันมานั่งคุยกัน แล้วฮึดสู้ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องความไม่เป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย ด้วยตัวของเขาเอง!



ข้อมูลประกอบ


1. มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง. (2559) สรุปบทเรียนการดำเนินงานกลุ่มม้งถ้ำกระบอก บ้านธารทอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

2. ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2559) บุคคลไร้รัฐพลัดถิ่น ม้งถ้ำกระบอก โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ระยะที่ 2, 2559

3. เยี่ยปาว แซ่ซ่ง,ลี แซ่ซ่ง,ไซ แซ่ซ่ง,บทสัมภาษณ์ กลุ่มม้งช่วยรบ บ้านธารทอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สัมภาษณ์ปี 2559

4. พัชยานี ศรีนวล,รายงานพิเศษ: ม้งถ้ำกระบอก แสงดาวกลางป่า กับความหวังที่ยังรอคอย, ประชาไท, 4 ตุลาคม 2556

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.