แพทย์เชื่อว่ามีความสอดคล้องของการนอนหลับไม่สนิทกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ มะเร็ง และอัลไซเมอร์ส

นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาปัญหาการนอนหลับว่ามีผลต่อโรคภัยต่างๆ อย่างไร เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง และอัลไซเมอร์ส และพยายามหาทางแก้ไขโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย

ผู้เชี่ยวชาญต้องการช่วยให้คนนอนหลับได้ดียาวนาน และบ่อยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะทำให้กลุ่มประชากรนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

นักวิจัยกล่าวว่า เมื่อคนมีอายุมากขึ้น คุณภาพและความบ่อยของการนอนหลับสนิทลดลง และการหลับสนิทมักเกิดขึ้นไม่ต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะระบบประสาทที่ควบคุมการนอนเสื่อมลงอย่างช้าๆ ตามวัย

แต่ความเสื่อมถอยนี้อาจเริ่มเร็วกว่าที่หลายคนคิด!

ข้อมูลระบุว่า ระบบประสาทด้านการนอนหลับของเราเริ่มอ่อนแอตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ปี และเมื่ออายุย่างเข้า 50 ปี ความสามารถในการนอนหลับสนิทจะเสื่อมลงร้อยละ 50 โดยเฉลี่ย

ศาสตราจารย์ แมทธิว วอล์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการนอน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลี่ย์ กล่าวว่า "การนอนหลับชนิดที่เกิดความฝันและมีการเคลื่อนไหวของตาขณะหลับ เป็นการหลับไม่สนิท"

คุณภาพของการนอนลักษณะนี้ไม่เสื่อมถอยมากนักเมื่อคนอายุมากขึ้น การนอนหลับประเภทนี้เรียกว่า REM Sleep

อาจารย์วอล์คเกอร์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Sleep and Neuroimaging Lab กล่าวว่า การนอนหลับอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า non-REM Sleep เป็นการหลับสนิทและเป็นช่วงที่ทำให้สมองได้พักอย่างจริงจัง

Non-REM Sleep ช่วยให้เราตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น แต่ความสามารถของคนในการหลับลักษณะนี้เสื่อมถอยเมื่ออายุมากขึ้น

แพทย์เชื่อว่ามีความสอดคล้องของการนอนหลับไม่สนิทเมื่อเราอายุมากขึ้น กับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ มะเร็ง และอัลไซเมอร์ส

อาจารย์วอล์คเกอร์กล่าวว่า "การหลับไม่สนิทหรือหลับยาก อาจเป็นความจริงที่ถูกมองข้ามในการศึกษาสาเหตุของความเสื่อมถอยของสมองและความจำ"

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้และคณะศึกษากลุ่มตัวอย่าง 2 ล้านคน และพบว่าคนที่มีปัญหานอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท มีคลื่นสมองที่แสดงถึงการทำงานของสมองที่ไปขัดจังหวะการหลับสนิทแบบ non-REM และพบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมองด้วย

เขากล่าวว่า การนอนน้อยส่งผลต่อการทำงานของร่างกายเกือบทุกส่วน เช่น การทำงานของหัวใจ และการเผาผลาญอาหาร และนั่นอาจช่วยอธิบายถึงสาเหตุของโรคหัวใจและเบาหวานได้

คณะนักวิจัยเผยแพร่รายงานการศึกษาชิ้นนี้ในนิตยสาร Neuron และหวังว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถหาทางช่วยให้ผู้ที่มีอายุมากขึ้น ยังคงการนอนหลับสนิทได้

ศาสตราจารย์วอล์คเกอร์กล่าวว่า "วิธีที่อาจทำได้คือการใช้คลื่นแม่เหล็กและคลื่นไฟฟ้าที่อ่อนมากๆ ไปกระตุ้นการทำงานของสมองด้านการนอนหลับ"

สำหรับข้อแนะนำที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ คือการออกกำลังกาย เลี่ยงใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตก่อนเข้านอน และอุณหภูมิห้องที่เย็นก็สามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย

source; -  http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=065998251800513878

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.