ขอให้ “รักจงเจริญ”: คุยเรื่องรักกับ ‘มึนอ’ ภรรยาบิลลี่และ 3 ปีที่ตามหาความเป็นธรรม

Posted: 18 Apr 2017 01:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

“มันเกินจะบรรยาย เขาเป็นได้ทุกอย่าง ตอนเราไม่สบายเขาก็เป็นหมอคอยดูแล ตอนเราหิวเขาก็เป็นพ่อครัวทำกับข้าว เขาเป็นทั้งสามี เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งครูของเรา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอธิบายอย่างไร”

นี่คือคำพูดของมึนอ ภรรยาของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมด้านชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงผู้หายสาบสูญ

เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่บิลลี่ หายตัวไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งสุดท้ายที่มีคนเห็นบิลลี่ เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวในวันที่ 17 เมษายน 2557 ด้วยข้อหาลักลอบขนน้ำผึ้งจำนวน 6 ขวด ก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนถึงปัจจุบันนอกจากจะไม่มีผู้รับโทษต่อการหายตัวไปของบิลลี่ เจ้าหน้าที่ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยยังได้รับการเลื่อนตำแหน่ง และดำเนินชีวิตต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

บิลลี่เป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาจากการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่า และการอุ้มหาย ทำให้ญาติไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเหยื่อเสียชีวิตจริง หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถมาแจ้งความด้วยตนเองได้ สิ่งที่ญาติของเหยื่อสามารถทำได้คือแจ้งความในคดีคนหาย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเฝ้ารอให้คนที่พวกเขารักกลับมาเองอย่างไม่มีจุดหมาย ยิ่งเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว การหาตัวผู้กระทำผิดแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ในเดือนพฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มฆ่าอุ้มหาย และสัญญาจะเดินหน้าให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าว แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับปัดตกร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วาระ 1 โดยให้เหตุผลว่าร่างดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งๆ ที่ก็มีตัวแทนของภาคประชาสังคม และนักวิชาการเข้าร่วมอยู่ตลอดกระบวนการร่าง ไม่ต่างจาก “กฎหมายฉบับอื่นๆ” ที่ออกมาภายใต้รัฐบาล คสช.

การบังคับอุ้มหาย (enforced disappearance) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่าผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้ปกป้องสิทธิของพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือนายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินในจังหวัดชัยภูมิ โดยทั้งสองคดียังไม่มีการพบศพ หรือผู้ได้รับโทษแต่อย่างใด

บิลลี่ก็เป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิ์ที่ต้องประสบชะตากรรมดังกล่าว เขามีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานที่บุกรุกเผาทำลายหมู่บ้านของพวกเขา ก่อนจะหายตัวไปบิลลี่มีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างหมู่บ้านของเขากับสังคมภายนอก เขาเป็นผู้ที่ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความยากลำบาก และความอยุติธรรมที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานต้องประสบพบเจอ ผ่านการเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ เวทีสาธารณะ กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และภาพยนตร์สั้น

การหายตัวไปของเขานำมาซึ่งความกลัว และความเงียบงันในชุมชนของเขา เพราะไม่มีชาวบ้านคนใดอยากเป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย มีเพียงแต่ “มึนอ” พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ที่ยังคงยืนหยัดเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามีของเธอ พร้อมกับต้องเลี้ยงดูลูกๆ อีกห้าคนเพียงผู้เดียว เธอเป็นผู้ยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้รับเอาคดีของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ แต่ทาง DSI ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่ามึนอมิได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่ จึงไม่สามารถเป็นเจ้าทุกข์ในคดีได้

เพื่อเป็นการรำลึกถึงการหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ ประชาไทได้มีโอกาสพูดคุยกับมึนอ แต่มิใช่ในฐานะผู้เรียกร้องความเป็นธรรม แต่ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียชายผู้ที่ “เป็นทุกอย่าง” ของเธอไปอย่างไม่มีวันกลับมา



หนึ่งในเป้าหมายหลักในการต่อสู้ของบิลลี่ คือการพา “ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงวัย 106 ปี
กลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่หมู่บ้านใจแผ่นดินซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่คุ้มครองของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ตอนนี้ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางอุทยานจัดหามาให้

มึนอพบกับบิลลี่สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้น ม.3 เธอจำได้ดีว่ามันคือ วันที่ 26 ธันวาคม 2545 มีการจัดงานวันคริสมาสต์ที่โรงเรียนป่าเด็งวิทยาที่เธอเรียนอยู่ พี่ชายของเธอพาบิลลี่มาทำความรู้จัก พร้อมแนะนำว่าเขาเป็นคนนิสัยดี เรียนเก่ง ในตอนนั้นเธอไม่ได้มีความสนใจในตัวเขา เธอมัวแต่พูดคุยกับเพื่อนของเธอ เมื่อหันกลับมาบิลลี่ก็หายไปแล้ว

ต่อมาพี่ชายของเธอต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้านและต้องไปพักอยู่กับบิลลี่ พี่ชายบอกให้มึนอโทรหาเขาบ้างเพื่อเป็นเพื่อนคุยแก้เหงา เมื่อโทรไปหาพี่ชาย กลับกลายเป็นบิลลี่ที่รับสายตลอดเวลาและบอกว่าพี่ชายของเธอไม่อยู่ มึนอเริ่มสานสัมพันธ์กับบิลลี่ผ่านเบอร์มือถือของพี่ชายไปได้ซักพักหนึ่ง จนได้ข่าวว่าบิลลี่เพิ่งจะผิดหวังกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอจึงพูดเชิงหยอกออกไปว่า “พี่ๆ ได้ข่าวว่าเพิ่งอกหักมา ให้เราต่ออกให้เอาไหม” บิลลี่เงียบไปซักพักหนึ่ง ก่อนที่ทั้งคู่จะตกลงเริ่มคบหาดูใจกัน มึนอยอมรับเลยว่าพี่ชายของเธอทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อที่ขยันขันแข็งอย่างยิ่งในความสัมพันธ์นี้

หลังจากคบหาดูใจกันได้หนึ่งปี ทั้งสองก็แต่งงานกัน บิลลี่ย้ายมาอยู่กับบ้านของมึนอที่ตำบลป่าเด็ง แต่ก็ยังทำงานเป็นสมาชิก อบต. ที่บ้านบางกลอย มึนอเล่าว่าบิลลี่มักเอาเหล็กมาดัดเป็นรูปหัวใจ และใส่รูปของเขาลงไปที่ด้านหนึ่ง และใส่รูปของมึนออีกด้านหนึ่ง เอามาทำเป็นสร้อย หรือพวงกุญแจให้เธออยู่บ่อยๆ เมื่อถามว่าบิลลี่มีความสำคัญอย่างไรสำหรับเธอ เธอตอบสั้นๆ ว่า “เขาเป็นทุกอย่าง”

“มันเกินจะบรรยาย เขาเป็นได้ทุกอย่าง ตอนเราไม่สบายเขาก็เป็นหมอคอยดูแล ตอนเราหิวเขาก็เป็นพ่อครัวทำกับข้าว เขาเป็นทั้งสามี เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งครูของเรา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอธิบายอย่างไร” มึนอกล่าวด้วยนำเสียงเปี่ยมความคิดถึง

“ตอนรู้ว่าเขาหายไปเราเสียใจมาก ถ้าไม่มีลูกเราอาจจะตามเขาไปแล้วก็ได้ ทุกวันนี้ที่อยู่คืออยู่เพื่อลูก ถ้าไม่มีเรา พวกเขาก็ไม่มีที่พึ่ง ก็เลยต้องทนต่อไป”

นอกจากจะเป็นสามีที่ดีของมึนอแล้ว บิลลี่ยังเป็นพ่อที่ดีของลูกๆ อีกด้วย มึนอเล่าว่าบิลลี่เป็นคนที่รักครอบครัวมาก ทุกวันหลังจากทำงานบิลลี่มักจะซื้อไก่ หรือไส้กรอกกลับมาทำอาหารให้ลูกทานอยู่เสมอ ในช่วงวันหยุด เขามักจะพาลูกๆ ไปงมหอยที่แม่น้ำ และกลับมาเข้าครัวทำผัดเผ็ดหอยให้กินอยู่เสมอ หากถามลูกๆ ของเธอว่าคิดถึงอะไรของพ่อที่สุด ก็เห็นจะเป็นอาหารฝีมือของพ่อนี่แหละ

มึนอจำวันสุดท้ายที่เจอบิลลี่ได้อย่างแม่นยำ มันคือวันที่ 15 เมษายน เขาเตรียมข้าวของเพื่อจะออกไปทำหน้าที่สมาชิก อบต. ของเขาที่บ้านบางกลอย เขาออกจากบ้านไปพร้อมกับเป้สะพายหลังสีเขียว พร้อมกับกระเป๋าเล็กๆ อีกหนึ่งใบ ข้างในกระเป๋ามีสร้อยพระ 2 เส้น ลูกประคำ โทรศัพท์ 2 เครื่อง และกล้องถ่ายรูป 1 อัน เขาขอเงินมึนอไปสองพันบาท โดยบอกว่าจะเอาไปซื้อเม็ดเสลียงไปขายต่อในเมือง และขับมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าสีเขียวเหลืองดำ ป้ายทะเบียน ขงพ. 988 เพชรบุรี ออกจากบ้านไป และไม่เคยกลับมาอีกเลย

มึนอรู้ข่าวว่าบิลลี่โดนจับกุมในวันที่ 18 เมษายน ในตอนแรกเธอยังไม่เป็นกังวล เพราะคิดว่าน่าจะเป็นแค่การควบคุมตัวเพียงสั้นๆ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มชัดเจนแล้วว่าบิลลี่หายตัวไป แม้จะเสียใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่เธอทำใจไว้นานแล้ว เพราะตั้งแต่บิลลี่เริ่มเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เขาก็ถูกคุกคามมาโดยตลอด บิลลี่เคยบอกกับเธอว่าหากวันหนึ่งเขาหายตัวไป ไม่ต้องตามหาเขา เพราะมันจะนำอันตรายมาสู่ตัวมึนอเอง แม้แต่คนรอบข้างของเธอ ก็ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของเธอ หลายคนเตือนให้เธอยุติการเรียกร้องความเป็นธรรมให้สามี เพราะกลัวว่าเธอจะเป็นอันตรายไปอีกคน

“หลายคนก็บอกว่าหยุดเถอะ อย่าไปยุ่งกับเขา เดี๋ยวก็ตายหรอก ถ้าเราไม่เป็นผู้หญิงเขาอาจฆ่าเราไปแล้วก็ได้ แต่เราก็จะทำต่อไปตามที่กฎหมายเขาให้เราทำ ทำไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด”

มึนอกล่าวอีกด้วยว่าเมื่อไม่นานมานี้ DSI ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับแม่ของบิลลี่เรื่องการดำเนินคดี โดยให้เหตุผลว่าหากแม่ของบิลลี่เป็นคนแจ้งความจะเป็นประโยชน์ต่อคดีมากกว่าเนื่องจากเป็นเจ้าทุกข์โดย ถือว่าเป็นเชื้อไฟเล็กๆ ให้กับความหวังในการทวงคืนความยุติธรรมให้กับสามีของเธอ แม้ว่ากระบวนการทั้งหมดจะต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้งก็ตาม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.