เมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) โตชิบา ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานตัวเลขผลประกอบการที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบบัญชีในรอบ 9 เดือนนับถึงเดือน ธันวาคมปีที่แล้ว หลังการเลื่อนมา 2 ครั้ง ว่าประสบผลขาดทุนราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โตชิบาได้เลื่อนการเปิดเผยผลประกอบการดังกล่าวมาแล้วถึงสองครั้ง ทำให้เกรงกันว่าบริษัทอาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ขณะที่นายซาโตชิ สึนากาวา ประธานบริษัทโตชิบาคอร์ป ออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ผู้ตรวจสอบบัญชีตัดสินใจไม่รับรองรายงานผลประกอบการของบริษัท และหวังว่าบริษัทจะไม่ถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์

เดิมพันกับนิวเคลียร์


รูเพิร์ธ วิลฟิง-เฮย์ส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำญี่ปุ่น รายงานว่าโตชิบาเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมานานนับสิบปี ไม่ต่างจากพานาโซนิก โซนี และฮิตาชิ แต่บริษัทเหล่านี้ถูกตีตลาดจากผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งขันทั้งจากเกาหลีใต้และจีนที่สามารถผลิตสินค้าประเภทเดียวกันได้ในราคาถูกกว่า

ปัญหาสำคัญที่บริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญในช่วงที่ผ่านมาคือการก้าวไม่ทันนวัตกรรมใหม่ ๆ และญี่ปุ่นซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องเสียงขนาดเล็ก อย่างวอล์คแมนเองก็ไม่ได้เน้น ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างโทรศัพท์มือถือ

รูเพิร์ธ บอกด้วยว่าไม่เฉพาะโตชิบาที่กำลังประสบปัญหา แต่บริษัทรายใหญ่อื่น ๆ ทั้งโซนี โอลิมปัส ชาร์ป ต่างเผชิญวิกฤตการเงินมาแล้วทั้งสิ้น เมื่อปีที่แล้วชาร์ปถูกขายให้บริษัท ไต้หวัน ตอนนี้โตชิบาอาจถูกแยกกิจการโดยส่วนงานที่ดีอาจถูกขายให้ผู้สนใจที่ยื่นข้อเสนอซื้อในราคาสูงที่สุด

และในสัปดาห์นี้ มีรายงานว่าฟอกซ์คอนกิจการอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันเพิ่งประกาศว่าพร้อมลงทุน 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อธุรกิจชิพคอมพิวเตอร์ของโตชิบา ซึ่งน่าจะช่วยพยุงฐานะของโตชิบาเอาไว้ได้ในระดับหนึ่งแต่คงไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมดได้

4 เหตุการณ์สำคัญ ก่อนนำไปสู่การขาดทุนมโหฬาร

2006 -- โตชิบาเองตัดสินใจวางเดิมพันไว้กับธุรกิจนิวเคลียร์ โดยเข้าซื้อกิจการเวสติงเฮาส์

2011 -- เกิดภัยพิบัติเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะระเบิด ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายประเทศ ตัดสินใจระงับการดำเนิน โครงการพลังงาน นิวเคลียร์ หรือหากประเทศใดจะคงโครงการเอาไว้ก็ต้องการความแน่ใจว่าจะปลอดภัยมากกว่าที่เป็น จึงทำให้ต้นทุนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สูงขึ้นถึง 50-100 เปอร์เซ็นต์ และนี่เองที่เป็นต้นตอของปัญหาวิกฤตการเงินของโตชิบา


2015 - ถูกเปิดโปงว่าตกแต่งบัญชีอยู่นานถึง 7 ปี ทำให้บริษัทมีผลกำไรเกินจริง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหลายคน รวมทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารต้องลาออกจากตำแหน่งหลัง

2017 - ต้นปี บริษัทเวสติงเฮาส์ (Westinghouse) ธุรกิจนิวเคลียร์ของโตชิบาในสหรัฐฯประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ จากการล้มละลายตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐ


source :- https://goo.gl/ZLQ4qI

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.