8 เรื่องทั่วไทย ชาวบ้านเจอกับอะไรในยุค “ทวงคืนผืนป่า” “เขตเศรษฐกิจพิเศษ”

Posted: 30 Mar 2017 09:39 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับกลุ่ม Focus on the Global South จัดเวทีเสวนา “นำเสนอและทบทวนสถานการณ์สิทธิในที่ดินและป่าไม้ และการเข้าถึงความยุติธรรม” เพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิที่ดินและป่าไม้ รวมถึงให้นักกฎหมายสะท้อนคดีความในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นในอดีต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานมีนักกฎหมาย นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน สื่อมวลชนและผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนจากหลายหน่วยงานมารายงานสถานการณ์ในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มคนสลัมในเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าภาคเหนือ

ตัวแทนนักกฎหมายที่มาร่วมสะท้อนผลการตัดสินคดีสิทธิที่ดินและป่าไม้ ได้แก่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน

1.
ถูกไล่รื้อ เผลอๆ ยังต้องจ่ายค่ารื้อด้วย

นุชนารถ แท่งทอง กลุ่มคนสลัมในเมือง

คนจนและคนสลัมในเมืองได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ เช่น จัดการน้ำ แผนเมกะโปรเจคท์ ถูกไล่ที่กลายเป็นคนไร้บ้าน ซ้ำร้ายสังคมมองเป็นคนไม่ดี มองสลัมเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากร แหล่งเสื่อมโทรม

โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ที่ดินแพงขึ้น เจ้าของที่ดินมักไล่ที่ชาวบ้านเพื่อขายที่ดิน ส่งผลให้มีคนได้รับผลกระทบหลายกลุ่ม เช่น ชุมชนย่านพระราม 3 มีการเช่าที่เรียบร้อย ชาวบ้านกู้เงินสร้างบ้านแล้ว แต่โดนไล่ที่เพราะเกิดเขตเศรษฐกิจใหม่พระราม3 เจ้าของที่ดินจะนำที่ดินไปสร้างคอนโด เมื่อมีเหตุขึ้นโรงขึ้นศาล นายทุนก็ไล่พังบ้านตั้งแต่คดียังไม่ไปถึงไหน ชาวบ้านไม่มีช่องทางต่อสู้บนพื้นฐานกฎหมาย

กรณีที่ดินริมคลอง มีการนำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 (ปว. 44) เป็นกฎหมายตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาใช้กับที่ดินคลองย่อย 2,000 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ การไล่ที่ริมคลองทำให้เกิดปัญหาคนไร้บ้าน ถึงแม้มีการย้ายพวกเขาไปนอกเมือง แต่ถ้าตกงาน ไม่มีที่อยู่ คนก็ต้องเข้ามาบุกรุกกันในเมืองอยู่ดี

ปว. 44 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร สามารถรื้อถอนบ้านเรือนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะได้โดยไม่ต้องขึ้นศาลไต่สวนแต่อย่างใด สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อบ้านเรือนกับทางเจ้าของบ้านได้ด้วย หากไม่มีเงินในการชำระสามารถยึดทรัพย์สินแทนได้

2.
ติดไวนิลหรา “คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557” ไล่ที่ชาวบ้าน

อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

คำสั่ง คสช. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ครอบครอง ทำลายป่า ติดตามผลคดีป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าที่สมบูรณ์ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดตามผลการดำเนินงานให้ คสช. ทราบต่อเนื่อง

ที่ผ่านมามีการตรวจยึดพื้นที่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการติดป้ายตรวจยึดพื้นที่ที่อ้างว่ามีการบุกรุก มีการไปตรวจยึดพื้นที่ทำการผลิตร่วมกันของชาวบ้าน

รูปแบบการดำเนินการมีทั้งฟ้องดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย บังคับออกจากพื้นที่ หลายแห่งพบว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดฟัน ทำลายสินทรัพย์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตัดฟันยางพาราของชาวบ้าน ด้วยเหตุผลว่ามีความสามารถในการทำสวนยางได้ จึงไม่ใช่คนจน

ถ้าชาวบ้านไม่ยินยอมให้สำรวจ ก็จะถูกขู่ดำเนินคดี บางกรณีเจ้าหน้าที่ยังได้บังคับชาวบ้านเซ็นยินยอมให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ยังไม่ได้สำรวจการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว

3.
เขตเศรษฐกิจพิเศษ กับคำพูด “ขึ้นศาลแล้วจะไม่ได้อะไรเลย” ชาวบ้านยอมรับค่าชดเชย

พรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น

พื้นที่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก กินอาณาบริเวณ 3 อำเภอ 14 ตำบล โดนคำสั่ง 17/2558 เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดนประกาศเป็นที่ราชพัสดุโดยใช้คำสั่ง ม. 44 แต่ภาครัฐไม่เคยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดอะไร มีทหารตำรวจเข้ามาในพื้นที่ ผู้นำชาวบ้านถูกติดตามตลอด เจ้าหน้าที่ขู่ว่า “ขึ้นศาลจะไม่ได้อะไรเลย” ชาวบ้านกลัว หลายคนจึงเซ็นรับเงินค่าทดแทนไป 82 ราย ได้ค่าทดแทนไปประมาณ 37 ล้าน จาก 82 ราย เฉลี่ยแล้วได้รับเงินทดแทน 4 แสนบาทต่อคน

4.
คนไร้ที่ดินนับหมื่น คดีความ และที่ทำกิน 5 ไร่

สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ติดกับป่าสงวน จากการตรวจสอบพบคนไร้ที่ดินราว 10,000 คน ถูกฟ้องขับไล่ในปี 2550 ผ่านมา 10 ปีมีหลายบริษัทแพ้คดีในศาลฎีกา รัฐจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 5 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ นโยบายดังกล่าวไม่มีตัวแทนของชาวบ้านเข้าร่วม ถูกกำหนดโดยนักการเมืองและข้าราชการ และเสี่ยงที่ชาวบ้านเดือดร้อนในระยะยาว เนื่องจากที่ดินที่รัฐกำหนดให้เป็นที่ทำกินนั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้เป็นปัญหาปากท้อง

5.
โค่นยางชาวบ้านทิ้ง ไม่มีเงินส่งลูกเรียน

กันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด

ในพื้นที่มีคนถูกฟ้องคดีเพราะโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกยางใหม่ ทั้งที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่แล้ว รัฐมองคนมีสวนยางเป็นนายทุนหมด ยกตัวอย่างที่ดินนางเรียง คงพุ่ม โดนคำสั่ง 64/2557 โดนฟันทำลายไปทั้งหมด 359 ไร่ โดยหาว่าเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นนายทุน แต่ว่าในความเป็นจริงมีคนใช้ที่ดินดังกล่าว 30 กว่าครัวเรือนซึ่งก็โดนไปด้วยกันหมด

ตอนนี้ครัวเรือนทั้งหมดต้องไปรับจ้าง ทำทุกอย่างที่ได้เงิน เข้าไปใช้ที่ดินไม่ได้ ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นคือไม่มีที่ทำกิน และระยะยาวคือไม่มีเงินส่งลูกเรียน

คำสั่งจากรัฐบาลระบุว่า คนจนต้องมีที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ แล้วต้องดูการใช้ประโยชน์ด้วย แต่ปฏิบัติการในพื้นที่เป็นอีกแบบ มีการตีความคำสั่งไปเป็นการเรียกให้ชาวบ้านมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ใช้พื้นที่แล้วจับดำเนินคดี ถ้าไม่มาแสดงตัวก็จะเข้าไปฟันทำลายสินทรัพย์เสีย

มาตรฐานผู้ยากไร้ของรัฐบาลกำหนดรายได้ว่าปีหนึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งถ้าเฉลี่ยแล้วตกวันละไม่ถึง 100 บาทด้วยซ้ำ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นกรอบความจนที่คับแคบมาก

ชาวบ้านเป็นผู้ร้าย เป็นผู้ต้องหาตลอด ถูกทำลายเครื่องมือทำกิน พวกเขาจะชุมนุมก็ทำไม่ได้เพราะติด พ.ร.บ. การชุมนุม จะเข้า กรุงเทพฯ ก็ลำบาก

6.
หลังสึนามิ กลุ่มทุนยึดที่

หนูเดือน แก้วบัวขาว เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่จังหวัดพังงา ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ทำกิน บางพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์สึนามิ ไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นกลับเข้าพื้นที่เดิมได้ เพราะมีกลุ่มทุนออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าไม้ เมื่อดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พอยื่นเรื่องถึงอธิบดีกรมป่าไม้กลับไม่มีการดำเนินการต่อ ส่งผลให้กลุ่มทุนฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุกที่ ทั้งที่ชาวบ้านอยู่กินกันมาก่อนจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนั้น

นอกจากนี้ผลจากการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับอังกฤษบริเวณชายแดนพม่าทำให้เกิดปัญหาคนไร้สัญชาติที่ทุกวันนี้พม่าไม่ยอมรับ ไทยก็ไม่ยอมรับ กลายเป็นคนไม่มีสถานะ เข้าถึงสิทธิ์อะไรไม่ได้ ที่ผ่านมาชาวเลหาดราไวย์โดนคดีไล่รื้อที่ดินเป็น 100 คดี แม้ตอนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข แต่เอาจริงๆ ก็ไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นหัวเรือใหญ่

7.
ธนาคารที่ดิน ความหวังที่ล้มเหลว?

ฤกษ์รบ อินทะวงค์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

ในจังหวัดลำพูน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชน ประสบปัญหาด้านที่ดินไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ มีรายได้ไม่พอต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนบุตร สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้เรียกร้องให้มีธนาคารที่ดิน ปัจจุบันมีการพัฒนาจนกระทั่งมีผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้นำในการดำเนินการและติดตามผล มีพื้นที่นำร่องในการทดลองเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ จ.ลำพูนและเชียงใหม่ ผลการดำเนินการในเบื้องต้นชาวบ้านยังมีความกังวลเรื่องการกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อที่ดินของเอกชนว่า สถาบันบริหารฯเสนอร่างกฎหมายด้านธนาคารที่ดินเป็นไปในทิศทางแสวงหากำไร ไม่ได้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากไร้ โดยธนาคารมีแนวคิดจะเก็บดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 บาท ทั้งที่ชาวบ้านได้เสนอดอกเบี้ยในอัตรา 0.5 - 3 บาท ซึ่งเป็นค่าผ่อนชำระให้ธนาคารที่ชาวบ้านพอที่จะลืมตาอ้าปากในระยะยาวได้

8.
ไม่เซ็นชื่อถูกดำเนินคดี

พฤ โอโด่เชา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าภาคเหนือ

กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าถูกทำให้กลายเป็นคนอื่น รัฐกันชุมชนออกจากเขตป่า ทั้งที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่มาก่อน อีกทั้งยังทีทัศนคติหลักของความเป็นอื่น

เจ้าหน้าที่รัฐบุกรุก “ขอคืนพื้นที่” ถ้าชาวบ้านไม่เซ็นชื่อจะถูกดำเนินคดี ถ้าเซ็นชื่อก็จะเสียที่ดิน การแก้ไขปัญหาของรัฐคือการแจกของเพื่อซื้อใจ แจกเสร็จก็มายึดพื้นที่วันหลัง

มองว่าความรู้ด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับรัฐ ส่วนความสนใจจากประชาสังคมเอ็นจีโอ สื่อมวลชน ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
สิทธิที่ดินต้องมี รัฐต้องจริงใจ ช่วยเหลือต้องจริงจัง ชุมชนต้องสตรอง

หลังจากนำเสนอปัญหาในระดับพื้นที่ของกลุ่มต่างๆ แล้ว มีการเปิดให้วิทยากรและผู้มีเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

- โจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือ ทำให้สิทธิการเข้าถึงที่ดินมีผลทางนโยบายจริงๆ ได้อย่างไร และคนที่โดนจับ เสียที่ดิน หรือถูกไล่ออกไป จะมีกระบวนการชดใช้เยียวยาอย่างไร

- ที่ดิน ที่อยู่อาศัยไม่ควรเป็นสินค้า ควรเอื้อกับการดำรงชีวิตของคน ควรหาแนวทางที่ทำให้มีบ้านที่ประกอบอาชีพได้ แต่เรื่องด่วนคือคนจนต้องเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน รวมถึงดินแดน เขตแดนของบรรพชนที่เคยครอบครองมาก่อนของกลุ่มชาติพันธุ์

- ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน น่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินได้ในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้ต้องผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

- ควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์พิสูจน์สิทธิ์ออกมา

- เสนอให้รัฐบาลถอดร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ สัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วนำกลับมาเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย

- ต้องให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับชาวบ้าน รวมทั้งลดการทำร้าย ลดการคุกคามนักเคลื่อนไหวการละเมิดสิทธินักปกป้องสิทธิมนุษยชน

- บัญญัติหลักการสิทธิชุมชนลงในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ขับเคลื่อนให้เกิดร่างกฎหมายสิทธิชุมชนให้ได้ ทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในชั้นศาลต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าชุมชนอยู่ในพื้นที่มาก่อน
มุมมองนักกฎหมาย หวั่นคำตัดสินศาลบิดเบี้ยวสร้างบรรทัดฐานใหม่

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตั้งข้อสังเกตในกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดว่า ทำไมกรมธนารักษ์ออกโฉนดบนที่หลวงได้ เพราะกระบวนการไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามคำสั่งที่ 17/2558 ที่ไม่มีเนื้อหาว่าต้องออกโฉนด เขตเศรษฐกิจพิเศษสร้างความไม่เป็นธรรม เพราะที่ของหลวงยังกลายเป็นโฉนดไว้จำหน่ายให้เอกชน แต่ชาวบ้านขอโฉนดที่ดินเพื่อทำกินมานานแต่กลับไม่ได้สักที รัฐเองก็พยายามหลบเลี่ยงการจัดหาที่ดินใหม่ให้ชาวบ้านด้วยการจะยัดเยียดค่าชดเชยให้แทน

ภายในกลุ่มมีคนที่ไม่อยากสู้แล้ว รับเงินไปแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่สู้อยู่ การที่ยังมีคนสู้คดีสะท้อนว่ารัฐไม่เป็นธรรม ตรงนี้คิดว่าสามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจา และสามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานความเป็นธรรมต่อสังคมได้ด้วย

สุมิตรชัย ยกตัวอย่างคดีป่าไม้จากชุมชนบ้านแม่อมกิ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมนายดิ๊แปะโพ และ นางหน่อเฮมุ้ย เวียงวิชชา ชาวปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) เมื่อ 9 ปีที่แล้วฐานบุกรุกพื้นที่ป่า ปัจจุบันศาลเพิ่งตัดสินชั้นฎีกาโดยชี้ว่าไม่ผิด เพราะกะเหรี่ยงอยู่มาก่อน แต่ต้องออกจากพื้นที่ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) พฤติการณ์ของคำสั่งศาลฎีกาเช่นนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการตัดสินต่อไป แต่ก่อนชั้นฎีกาเมื่อตัดสินว่าไม่ผิด ก็ไม่สามารถไล่ออกมาได้ แต่ด้วยบริบททางสังคมในขณะนี้ บริบททางกฎหมายเช่นนี้ เรื่องสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ได้เลย

ประยงค์ ดอกลำไย นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินชื่อดังกล่าวว่า รัฐตีความโฉนดชุมชนคือการจัดเป็นแปลงรวม ดังนั้นเมื่อพูดถึงโฉนดชุมชน จึงเท่ากับรัฐไม่มีระเบียบอนุญาตให้ ทั้งแนะนำองค์กรภาคประชาชนว่า ควรใช้กระบวนยุติธรรมเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะถึงขั้นนั้นมันอิงกับวิจารณญาณของผู้พิพากษา อีกทั้งยังกินเวลายาวนาน ต้องสงวนคำวิพากษ์วิจารณ์และท่าทีต่างๆ เมื่อคดียังไม่สิ้นสุด

ประยงค์สนับสนุนให้กลุ่มภาคประชาชนเคลื่อนไหวข้างนอกไปพร้อมกับกระบวนการทางกฎหมายที่ทนายความต้องทำหน้าที่ในชั้นศาลไปพร้อมกัน ทั้งยังกล่าวว่าในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งยังพอมีช่องทางให้ประชาชนคุยกับรัฐบาลได้ด้วยเหตุผล แต่ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มี แถมยังเอาการเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดินไปโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก จึงขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนรวมกลุ่มกัน กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวให้ชัดเจน

จำนงค์ หนูพันธ์ จากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ปัญหาการไล่รื้อที่ดินคืนจากคนจนเมืองที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ เอกชนและการรถไฟ เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้วิธีข่มขู่เป็นรายบุคคลและระดับชุมชน อีกทั้งยังใช้ ปว. 44 บังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไว้สำหรับสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และรถไฟรางคู่ เช่น ปัญหาการไล่รื้อที่อยู่อาศัยชุมชนบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านประสบความเดือดร้อนประมาณ 350หลังคาเรือน ตอนนี้มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง เครือข่ายได้เสนอให้รัฐบาลเปิดเวทีเจรจาร่วมกัน และให้ชะลอการบังคับคดีในวันที่ 31 มี.ค. 2560 นี้

สมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การที่ศาลพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพัฒนาความคิดของคนในกระบวนการยุติธรรม ความน่ากลัวในอนาคตคือ คำพิพากษาในศาลฎีกาจะเป็นบรรทัดฐานการตัดสิน ในขณะเดียวกันผู้พิพากษาคือข้าราชการ มีวัฒนธรรมองค์กร มีรุ่นพี่รุ่นน้อง การแหกกรอบอาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรเสียกฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นธรรมที่สุดในสังคมปัจจุบัน จะให้ประชาชนเข้าไปพัฒนากฎหมายร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร

ชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า รัฐเชื่อว่ารัฐเองและทุนบริหารทรัพยากรได้ดีกว่าประชาชนจึงยึดครองทรัพยากรเอาไว้ ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของวิชาการที่ต้องเชื่อมต่อความรู้การบริหารทรัพยากรให้กับประชาชนให้ได้ รัฐยังมีทัศนคติว่ามลภาวะที่ย่ำแย่เกิดจากประชากรเพิ่มจำนวนขึ้น และคนจนเป็นต้นตอปัญหา กระแสสีเขียวของชนชั้นกลางที่มองว่าป่าต้องเป็นป่า ป่าต้องไม่มีคน ชนชั้นกลางดีใจที่มีคำสั่งคสช.ที่ 64 /2557 ออกมาไล่คนจากป่าทั้งที่มันไม่ถูกต้อง มีคนที่ใช้ชีวิตกับป่าอยู่มานานแต่พวกเขาไม่เคยรับรู้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.