เวเนซุเอลาชุมนุม 'แม่แห่งการประท้วงทั้งมวล' กดดันรัฐบาลมาดูโรรอบใหม่

Posted: 20 Apr 2017 02:38 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

จากความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจและรู้สึกถูกรัฐบาลเวเนซุเอลาลิดรอนเสรีภาพ ทำให้ฝ่ายต่อต้านออกมาประท้วงในนาม "แม่แห่งการประท้วงทั้งมวล" ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านที่กุมเสียงข้างมากในสภานัดชุมนุม อย่างไรก็ตามการประท้วงล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย ทำให้องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติและจัดเลือกตั้งใหม่ ส่วนไม้เบื่อไม้เมาอย่างสหรัฐฯ ก็ออกโรงเตือนว่าจะเอาผิดรัฐบาลเวเนซุเอลาหากมีการปราบปราม

21 เม.ย. 2560 เวเนซุเอลาเผชิญการประท้วงใหญ่ทางการเมืองครั้งใหม่ หลังจากที่ฝ่ายค้าน เฮนริค คาปริลเลส ประกาศให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในนาม "แม่แห่งการประท้วงทั้งมวล" ในช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองในเวเนซุเอลากำลังคุกรุ่นโดยในการประท้วงเมื่อวันพุธที่ผ่านมามีเหตุปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย

หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุประท้วงครั้งนี้คือชายวัยรุ่นอายุ 17 ปีถูกยิงที่ศีรษะในย่านแห่งหนึ่งของกรุงคารากัส อีกหลายชั่วโมงหลังจากนั้นก็มีหญิงรายหนึ่งถูกสังหารด้วยอาวุธปืนขณะเดินขบวนอยู่ที่ตาชิรา ในภาคแอนเดียนติดกับประเทศโคลอมเบีย นอกจากนี้ยังมีผู้คนได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบราย รวมถึงคาปริลเลสเองที่มีอาการหายใจติดขัดจากการถูกแก๊สน้ำตาด้วย

แต่เมื่อถึงช่วงกลางคืนของวันพุธ (19 เม.ย.) ผู้ชุมนุมก็ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสทางย่านฝั่งตะวันออกของคารากัสในขณะที่ผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นพากันออกมาตีหม้อเคาะกระทะเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วง กลุ่มเยาวชนที่ปิดใบหน้าตัวเองนำป้ายบนถนนและป้ายโฆษณามาทำเป็นแนวกั้นชั่วคราว และใช้ก้อนหินและระเบิดขวดขว้างปาใส่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงทำให้มีการตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา โดยที่ฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาก็ยังคงเรียกร้องให้มีการชุมนุมต่อไป

สาเหตุที่พวกเขาจัดการชุมนุมในครั้งนี้เพราะเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมาอธิบดีกรมบัญชีกลางของเวเนซุเอลาตัดสินสั่งห้ามไม่ให้คาปริเลสมีตำแหน่งราชการใดๆ ไปจนถึงปี 2575 โดยอ้างเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาว่านำงบประมาณไปใช้ผิดๆ

เดอะการ์เดียนระบุว่าคาปริเลสเป็นคนที่เกือบชนะการเลือกตั้งเวเนซุเอลาครั้งก่อนหน้านี้ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวหาว่าประธานาธิบดีนิโกลา มาดูโร เป็นเผด็จการ เหตุเหล่านี้ทำให้ประเทศเวเนซุเอลาเกิดความตึงเครียดระหว่างผู้สนับสนุนทางการเมืองสองฝ่าย

ในความตึงเครียดทางการเมืองครั้งนี้ มาดูโรยังสั่งให้นำกองกำลังออกไปบนท้องถนนและติดอาวุธให้กับกลุ่มพลเรือนที่สนับสนุนเขาราว 40,000 ราย รวมถึงเรียกร้องให้ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนเขาออกมาชุมนุมด้วย ขณะเดียวกันก็กล่าวหาว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการพยายามจะโค่นล้มเขาในครั้งนี้ อีกทั้งยังกล่าวหาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่าเป็น "กลุ่มฟาสซิสต์ฝ่ายขวา" ที่ทำการ "ก่อการร้าย"

จากการเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 รายในการประท้วงเมื่อวันพุธทำให้มียอดผู้เสียชีวิตในการชุมนุมรวม 7 รายแล้วในเดือนนี้

ผู้เสียชีวิตรายแรกชื่อ คาร์ลอส โมเรโน ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประท้วงแต่เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ฝ่ายต่อต้านเปิดฉากยิงใส่ทำให้โมเรโนโดนลูกหลงเสียชีวิต อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับเปาลา รามิเรซ แฟนหนุ่มของเธอเล่าว่าพวกเขากำลังอยู่บนรถจักรยานยนต์และมีกลุ่มคนขี่รถตามพวกเขา เขาจอดส่งแฟนเพื่อให้ไปเจอกับพี่สาวของเธอก่อนจะพยายามหาที่ซ่อนรถจักรยานยนต์แต่เขาก็ได้ยินเสียงปืนและพบว่าแฟนของเขาล้มอยู่ที่พื้นแล้ว

ผู้เสียชีวิตรายที่ 3 เป็นสิบเอกของกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติที่มีผู้ตรวจตราของสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเขาถูกสไนเปอร์ยิงเสียชีวิต ทางด้านองค์กรเฟโร เพนัล ที่สอดส่องดูแลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าประชาชนอย่างน้อย 24 ราย ถูกคุมขังโดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ถึงแม้ว่าสื่อรัฐบาลเวเนซุเอลาจะเผยแพร่ภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนมาดูโร แต่กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านก็มีจำนวนหลายหมื่นคนทั่วเวเนซุเอลาที่ออกมาแสดงความไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังมีการใช้ศาลสูงในการพยายามแทรกแซงครอบงำอำนาจฝ่ายบริหาร จากที่ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2558 กลุ่ม ส.ส. แนวร่วมฝ่ายต่อต้านมาดูโรครองที่นั่งเสียงข้างมากในสภาถึง 109 ที่นั่งต่อ 55 ที่นั่ง พลิกโผจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายค้านชนะ 64 ที่นั่ง หนึ่งในป้ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลเป็นป้ายผ้าระบุว่า "พอกันทีกับเผด็จการ"

ในเวเนซุเอลามีการประท้วงหลายครั้งก่อนหน้านี้ในช่วงสมัยประธานาธิบดีมาดูโร หนึ่งในความไม่พอใจมาจากกรณีที่ประเทศประสบภาวะขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องใช้พื้นฐานอื่นๆ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และไอเอ็มเอฟก็ประเมินว่าอัตราการว่างงานในเวเนซุเอลาอาจจะสูงมากกว่าร้อยละ 25 ภายในปีนี้

มีผู้ประท้วงมาจากทุกชนชั้นในสังคม บางคนเป็นคนที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แต่วิกฤตในเวเนซุเอลาทำให้พวกเขาออกมาประท้วง หนึ่งในอดีตผู้สนับสนุนชาเวซบอกว่าพวกเขาเบื่อและสิ้นหวังกับการต้องมีชีวิตอยู่ในภาวะยากแค้น ในสมัยของชาเวซเงินเดือนของพวกเขามีค่า แต่ในตอนนี้ถ้าความหิวโหยไม่คร่าพวกเขาไปเสียก่อนพวกเขาก็เสี่ยงจะตายเพราะอาชญากรรม บ้างก็บอกว่าพวกเขาต้องการเสรีภาพและเศรษฐกิจที่ใช้การได้จากที่ในตอนนี้เศรษฐกิจตีบตัน

องค์กรสำรวจความขัดแย้งทางสังคม (Observatory of Social Conflict) ระบุว่าในปี 2559 เวเนซุเอลามีการประท้วงถึงเกือบ 5,000 ครั้ง มากกว่าปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 15

11 ประเทศจากองค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States : OAS) ร่วมกันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ ทางสหรัฐฯ ก็ออกสาส์นแจ้งเตือนเวเนซุเอลาว่าผู้ใที่ปราบปรามประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชน จะถูกดำเนินการเอาผิดไม่ว่าจะจากประชาชนชาวเวเนซุเอลาเองหรือจากประชาคมโลก

เรียบเรียงจาก

Deaths and injuries reported amid 'mother of all marches' in Venezuela, The Guardian, 19-04-2017
Venezuela braces for the 'mother of all protests' as both sides call for rallies, The Guardian, 19-04-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.