รายงานพิเศษ: ทิศทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้สู่อนาคต


Posted: 16 Apr 2017 06:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ทวี สอดส่อง เห็นว่า “คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นทั้งโอกาสและสิ่งท้าทายต่อการศึกษาของชายแดนใต้ พร้อมเสนอแนวทางจัดการศึกษาบนฐานศักยภาพและบริบทของท้องถิ่นที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงการศึกษากับประเทศเพื่อนบ้านและโลกมุสลิม

เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานครบรอบ 10 ปี การสถาปนาสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในงานมีการอภิปราย การบรรยายพิเศษ และการบรรยายธรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้นำทางศาสนา หลายท่าน อาทิ Prof. Emeritus Dato’ Dr. Mahmood Zuhdi Prof. Dr. Wankamal ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ ต่วนฆูรู บาบอ หะยี อิสมาแอ ดะอาล๊ะ (บาบออิสมาแอ สปันญัง) ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้สู่อนาคต” โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายรัฐมนตรี


การศึกษาที่ดีคืออะไร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เริ่มต้นการบรรยายด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาว่า “ถ้าจะดูอดีตของสังคมใดให้ดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูปัจจุบันให้ไปดูที่หน่วยปฏิบัติ แต่ถ้าจะดูอนาคตให้ไปดูที่สถาบันการศึกษา” และมองว่าในการพัฒนาสังคมหรือประเทศต้องคำนึงถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะ “อดีตคือบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตคือภาระที่เราต้องรับผิดชอบ”

พ.ต.อ.ทวี ยังมองว่าการศึกษา คือ แปรสภาพจากคนที่ไม่รู้ให้กลายเป็นคนที่รู้และมีคุณธรรม ดังนั้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการศึกษาต้องอยู่ที่ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจต่อชีวิต (เช่น หลักการชีวิตตามแนวทางศาสนา) และด้านวิชาการ/อาชีพ (เช่น ผู้เรียนมีความคิด มีปัญญา และรู้จักเทคโนโลยี) นอกจากนั้น รูปแบบการเรียนก็ยังมีความสำคัญ ต้องเข้าใจว่า “โรงเรียน ไม่ใช่โรงสอน” ในการเรียนควรต้องมีรูปแบบที่สร้างปฏิสัมพันธ์ในหลากหลายทาง ทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ปฏิสัมพันธ์จากนักเรียนสู่ครู ปฏิสัมพันธ์จากครูสู่นักเรียน และปฏิสัมพันธ์จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริงสู่ครูและนักเรียน ในกรณีหลังนี้ การจัดให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมหรือสภาพความเป็นจริงนั้นมีความสำคัญต่อประสิทธิผลการเรียนการสอนมาก ไม่ควรเน้นวิธีที่ครูหรือนักเรียนเป็นศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น การศึกษาต้องถูกตัดสินด้วยคุณภาพและความเป็นสากล (เมื่อเรียนจบแล้ว ผู้เรียนสามารถไปใช้ชีวิตอยู่ ณ สถานที่ใดก็ได้ สามารถที่จะอยู่ร่วมกันผู้คนในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้) เขาได้ยกตัวอย่างสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคน โดยสิงคโปร์มีครูที่มีคุณภาพและมีนโยบายการศึกษาที่เหมาะสม ต่อเนื่อง และเข้มแข็ง


การศึกษาชายแดนใต้เป็นการศึกษาที่เชื่อมโยงกับศาสนา ภาษา วิถีชีวิตของประชาชน

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้ให้ภาพลักษณะการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในแง่หนึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับทั่วไปเช่นเดียวกันกับที่ใช้ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่นี่มีระบบการศึกษาเฉพาะที่ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การศึกษาที่เชื่อมโยงกับศาสนา ภาษา วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่

เขาเล่าว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ให้ความสำคัญกับการศึกษาในด้านศาสนาของบุตรหลานอย่างมาก เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษานอกจากจะเรียนในโรงเรียนตามปกติในวันจันทร์ถึงศุกร์แล้ว ก็ยังไปเรียนศาสนาในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดด้วย นอกจากนั้น หลังเลิกจากโรงเรียนในแต่ละวัน เด็กๆ ยังมักไปเรียนอัลกุรอานตามบ้านของผู้รู้ หรือ “ปราชญ์อัลกุรอาน” ในหมู่บ้าน เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็นิยมเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากกว่าที่จะเรียนในโรงเรียนมัธยมของรัฐ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจัดการเรียนการสอน 2 หลักสูตรควบคู่กันไป คือ หลักสูตรสามัญศึกษา และ หลักสูตรอิสลามศึกษา เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนบางส่วนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในประเทศ ซึ่งที่ชายแดนใต้มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 7 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 2 แห่ง น่าสนใจว่าการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น ประเทศอียิปต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จอร์แดน ซาอุดีอาระเบียน ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ เป็นที่นิยมของคนที่นี่จำนวนไม่น้อย ขณะที่บางส่วนให้ลูกหลานศึกษาต่อสายอาชีพที่วิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 23 แห่ง สำหรับผู้ที่ต้องการมีความรู้ด้านศาสนาเพิ่มเติมก็เข้าศึกษาต่อในสถาบันปอเนาะ อันเป็นรูปแบบการศึกษาแบบดั้งเดิมที่มีมานานนับร้อยปี ดำเนินการสอนโดยปราชญ์อิสลามศึกษาหรือโต๊ะครู


ปัญหาของการศึกษาที่ชายแดนใต้


สำหรับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มองเห็นปัญหาหลายประการ เขาอ้างอิงข้อมูลจากเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในด้านการจัดการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมของตัวแทนนักเรียนและครูจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2558[1] ว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครูโรงเรียนเอกชนมีเงินเดือนต่ำและไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ขณะที่การจัดการเรียนสอนยังเน้นเฉพาะรูปแบบที่ครูเป็นศูนย์กลาง จนเด็กขาดการแสดงออก รวมทั้งปัญหาการขาดความสมดุลระหว่างหลักสูตรสามัญกับหลักสูตรศาสนา และปัญหารายวิชาที่มากเกินไป เนื่องจากต้องเรียนทั้งสองหลักสูตร จนทำให้การเรียนของเด็กไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ระบบการศึกษาในชายแดนภาคใต้ก็ยังขาดความเชื่อมโยงกับการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีปัญหาการเทียบโอนวุฒิหรือโอนหน่วยกิตของนักเรียนที่เรียนจบจากต่างประเทศ เช่น หากเรียนจบมัธยมจากประเทศมาเลเซีย ก็ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยได้เนื่องจากจำนวนปีในชั้นมัธยมปลายของสองประเทศแตกต่างกัน

ในเชิงภาพรวมปรากฏปัญหาว่า เมื่อเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนจบการศึกษา ก็ดูเหมือนว่าการเข้ารับราชการหรือเป็นพนักงานราชการจะเป็นช่องทางเดียวในการประกอบอาชีพ และมักประสบปัญหาว่าตำแหน่งงานเหล่านี้มีอยู่น้อย จึงเกิดความผิดหวัง สิ่งนี้สะท้อนว่าการศึกษายังไม่เชื่อมโยงกับศักยภาพและความถนัดพื้นฐานของพื้นที่ ซึ่งก็คือ อาชีพทางด้านเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนยาง ทำสวนผลไม้ ทำนา และการปศุสัตว์ นอกจากนั้นการที่ค่าแรงงานในพื้นที่มีราคาถูก อาชีพเกษตรกรรมที่เสื่อมโทรม การแพร่ระบาดของยาเสพติด (โดยเฉพาะน้ำกระท่อม) และสถานการณ์ความไม่สงบ ได้ผลักดันให้เยาวชนส่วนหนึ่งจำต้องไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย ที่มีรายได้มากกว่าและสามารถเข้าทำงานโดยไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา


การศึกษากับแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้


แม้การศึกษาจะยังคงมีปัญหาอยู่มาก แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็ยังมองว่าการศึกษาจะมีส่วนอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาของชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ความไม่สงบ และ การพัฒนาที่ก่อให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ เขามีข้อเสนอหลายอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่นี่

ประการแรก การทำให้สถาบันการศึกษาเป็นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึง การเป็นที่รักและเป็นความภูมิใจของคนในพื้นที่จากการผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพ และผลิตงานวิชาการเพื่อช่วยแก้ปัญหาของท้องถิ่น กรณีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ที่รากฐานมาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยพยาบาล นั้น ควรจะต้องพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตมลายูมุสลิมในสาขาที่ท้องถิ่นต้องการ อันได้แก่ บัณฑิตด้านการเกษตร การพาณิชย์ วิศวกรรม พยาบาลและแพทย์ ตลอดจนผลิตผู้มีความสามารถด้านภาษาอาหรับ ภาษามลายูกลาง และภาษาอื่นๆ ที่ใช้อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษามลายูที่เป็นพื้นฐานสำคัญในฐานะภาษาแม่ของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นภาษาสากลด้วยในเวลาเดียวกัน

ประการที่สอง การสร้างการศึกษาแบบไม่มีพรมแดนและเป็นสากล ที่ผ่านมาเนื่องจากความด้อยคุณภาพของการศึกษาภายในประเทศ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งลูกหลานไปเรียนต่อในต่างประเทศกันมาก นักเรียนและนักศึกษาเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่คุณภาพระดับสากล และเป็นสิ่งที่รัฐต้องส่งเสริม พร้อมกับควรเร่งพัฒนาการศึกษาภายในประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ รวมทั้งควรสร้างความเป็นสากลของการศึกษา เช่น การมีหลักสูตรที่เป็นเอกภาพในประเทศอาเซียน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเทียบโอนวุฒิ อนึ่ง ในการสร้างการศึกษาแบบไม่มีพรมแดนนั้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เองก็สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการจัดการศึกษากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ของประเทศในคาบสมุทรมลายูที่มีคุณภาพการศึกษาสูง (ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย) และเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในโลกมุสลิม

ประการถัดมา การทำให้พื้นที่ชายแดนใต้เป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาของประเทศไทย ที่ผ่านมามีชาวมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ นิยมส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนที่มีหลักสูตรอิสลามศึกษาและเรียนในปอเนาะใน จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก รวมทั้งนักเรียนชาวต่างชาติ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม เข้ามาเรียนด้วยจำนวนไม่น้อย พวกเขาเหล่านี้ได้กลับไปเปิดสถาบันปอเนาะที่ประเทศตนเอง ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะพัฒนาศักยภาพนี้ของพื้นที่ชายแดนใต้ให้เติบโต

ประการสุดท้าย การนำศักยภาพของปัญญาชนท้องถิ่นมาพัฒนาการศึกษา ทุนทางความรู้ที่เป็นมรดกสำคัญของคนชายแดนใต้ก็คือ การมีพื้นฐานภาษามลายูและภาษาอาหรับ ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อยอด ที่สำคัญ เรามีปัญญาชนมุสลิมที่เรียนจบจากต่างประเทศจำนวนนับหมื่นคน ปัญญาชนเหล่านี้ปัจจุบันเป็นโต๊ะครูและอุสตาสในสถาบันการศึกษาต่างๆ และในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีคนจากชายแดนใต้ที่พำนักตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ เช่น ในมาเลเซียและในซาอุดิอาระเบีย เราควรต้องนำศักยภาพของปัญญาชนเหล่านี้มาพัฒนาการศึกษาและสร้างองค์ความด้านรู้ทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญ 2560 กับการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ในการบรรยายครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ยังได้ฝากข้อห่วงใยไปยัง “คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หลังการประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ประเด็นเหล่านี้เริ่มเป็นความวิตกกังวลของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้อกังวลเดิมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ ฉบับ พ.ศ. 2550 ที่รัฐจัดให้มีการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงชั้น ม.6/ปวช. แม้ว่าจะมีคำสั่ง คสช. ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามหลังออกมา แต่ผู้คนชายแดนใต้ก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจกับอนาคต

อีกประเด็นก็คือ การที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กล่าวถึงการให้บทบาทขององค์กรศาสนาในการจัดการศึกษาร่วมกันกับรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 วรรค 3 บัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล.....” ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงบทบาท “องค์กรทางศาสนา” ในการจัดการศึกษา ต่างจากในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 80 วรรค 4 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกัน” สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนที่องค์กรทางศาสนามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนพระปริยัติธรรมของศาสนาพุทธ หรือโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนตาดีกาในศาสนาอิสลาม อนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนตาดีกาจำนวน 2,103 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 204,550 คน และมีสถาบันการศึกษาปอเนาะจำนวน 473 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 44,658 คน หากรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ระบุถึงการสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนาจัดการศึกษา ก็เป็นที่น่ากังวลว่าในอนาคตสถาบันการศึกษาทางศาสนาเหล่านี้จะยังคงได้รับการดูแลจากรัฐอีกหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนั้น ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่ารัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งสิ่งนี้เคยมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า อีกทั้งยังกำหนดให้ตั้งกองทุนเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหน้าที่รัฐโดยตรง

สุดท้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การที่จะมี “คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วันหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เขาเสนอว่า ในคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ควรมีผู้รู้ที่เป็นตัวแทนของภาคการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปร่วมอยู่ด้วย เพราะหากไม่มี เรื่องราวและโอกาสในการพัฒนาสถาบันการศึกษาของท้องถิ่น เช่น ปอเนาะ ตาดีกา และการส่งเสริมภาษามลายู ฯลฯ ก็อาจถูกหลงลืมหรือจะหายไป ผู้รู้ในพื้นที่ควรจะต้องทำการประชุมหรือ “ซูรอ” และหาผู้แทนไปร่วมเป็นคณะกรรมการฯ นี้ แต่หากไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วม กฎหมายกำหนดว่าคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจะต้องร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในเวลาสองปี คนชายแดนใต้จึงยังมีอีกช่องในช่วงการทำประชาพิจารณ์และถามความเห็นประชาชน ทั้งนี้ การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ประชาชนต้องสนใจการออกกฎหมายด้วย เพื่อให้เสียงของคนในพื้นที่ได้รับการเหลียวแล


เชิงอรรถ


[1] The First ASEAN Youth Inter-Dialogue 2015 (เวทีเสวนาเยาวชนอาเซียนครั้งที่ 1 ปี 2558) จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ ศอ.บต. เมื่อ 5-13 มกราคม 2558

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.