ครม.ไฟเขียวร่างกม.การกลับเป็นผู้ประกันตน-เมย์เดย์จ่อเพิ่มเงินชดเชยขาดรายได้คนงานนอกระบบ

Posted: 04 Apr 2017 09:57 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน แม้ขาดส่งประกันสังคมเกิน 20 ปี สามารถกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้อีกครั้ง กระทรวงแรงงาน เผยเมย์เดย์ปีนี้ เตรียมปรับอัตราการชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท


แฟ้มภาพ ประชาไท

4 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า 1. กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงตามมาตรา 41 (4) หรือ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากมีความประสงค์จะกลับเป็นผู้ประกันตน ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานประกันสังคมตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และ 2. กำหนดให้การกลับเป็นผู้ประกันตนให้มีผลตั้งแต่เดือนที่ยื่นคำขอและให้ผู้ประกันตนมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม

โดย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้วยว่า โดยให้ผู้ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เพราะไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินประกันสังคมมีโอกาสกลับเป็นผู้ประกันตนอีกได้ เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนผู้เป็นหลักประกันตน

สำหรับ ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ที่อยู่ในประกันสังคม เมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หากมีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการเป็นผู้ประกัน ทั้งนี้หากผู้ประกันตนที่ขอต่ออายุขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือ ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะสิ้นสภาพทันที ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีผู้สิ้นสภาพสูงถึง 950,000 ราย ทำให้กระทรวงแรงงานเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวสามารถกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังแม้ขาดส่งเป็นระยะเวลา 20 ปี

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับที่ผ่านมา กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีทุพลภาพ กรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
เมย์เดย์ เตรียมเพิ่มเงินชดเชยการขาดรายได้ คนทำงานนอกระบบ

วันเดียวกัน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 ว่า ปัจจุบันแรงงานนอกระบบในประเทศไทยประมาณ 21 ล้านคน และเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ขาดความมั่นคง แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบฯ จึงมีแนวคิดผลักดัน 3 เรื่อง คือ


1.รายได้ จะมีการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยส่วนหนึ่งจะนำเอาการขึ้นทะเบียนคนจนมาพิจารณาเพิ่มทักษะด้วย ซึ่งเชื่อว่าในจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 12.5 ล้านคน จะมีคนที่น่าจะเพิ่มทักษะอาชีพได้ถึง 9 ล้านคน

2.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะยกร่างได้ในเร็วๆ นี้

3.บริหารจัดการระบบการดูแลแรงงานนอกระบบแบบบูรณาการ สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม เพื่อใช้เป็นกลไกการเป็นตัวแทน การจัดการสวัสดิการ ทั้งมาตรา 40 เรื่องความปลอดภัย โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างตัวแรงงานนอกระบบและกระทรวงแรงงาน

“แผนระยะสั้นที่จะมีการผลักดันให้เป็นของขวัญสำหรับแรงงานนอกระบบให้ทันวันแรงงานแห่งชาติ (เมย์เดย์) 1 พฤษภาคม จะมีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ ปรับอัตราการชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท ปรับอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท เป็นต้น” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว

ด้าน สุจิน รุ่งสว่าง แกนนำแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 หรือการประกันตนเองของสำนักงานประกันสังคมประมาณ 2 ล้านคน ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะเรื่องความสะดวก เพราะส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบจะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร อาจจะไม่ค่อยสะดวกเกินทางมาส่งเงินสมทบ ดังนั้นอยากขอให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาการจัดตั้งหน่วยบริการระดับชุมชนด้วยโดยให้ภาคประชาชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม

เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ โลกวันนี้ Voice TV และผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.