'พาณิชย์' สั่งจับตาไฟขึ้น-สินค้าขยับ เอกชนโวยกระทบธุรกิจ กกพ. แจงขึ้นตามราคาก๊าซ

Posted: 21 Apr 2017 01:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กกพ. ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 12.52 สตางค์ต่อหน่วย ชี้มาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับราคาสูงขึ้น คาด ก.ย.-ธ.ค.60 ยังคงมีทิศทางปรับขึ้นอีก เพราะเหตุเดียวกัน

21 เม.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา วีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกพ.ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2560 เพิ่มขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายที่ 3.5079 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากเดิม 3.3827 บาทต่อหน่วย โดยนับเป็นการปรับขึ้นค่าไฟครั้งแรกในรอบ 2 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2557
'พาณิชย์' สั่งจับตาไฟขึ้น-สินค้าขยับ

ล่าสุดวันนี้ (21 เม.ย.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.50 บาทต่อหน่วยเดือน พ.ค.นี้ ว่า สั่งให้กรมการค้าภายในติดตามผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เมื่อราคาพลังงานอย่างก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าขึ้น

“จะรู้รายละเอียดภายใน 2-3 วัน เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าระดับหนึ่ง แต่คงรอดูผลการศึกษาก่อนว่าต้นทุนสินค้าจากค่าไฟฟ้าปรับขึ้นให้ชัดเจนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร” สนธิรัตน์ กล่าว
เอกชนโวยกระทบธุรกิจ วอนรัฐทบทวน

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักหนึ่งในต้นทุนการผลิตสินค้าทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก เมื่อค่าไฟฟ้าปรับขึ้นย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับขึ้นตาม ประกอบกับต้นปีมีการปรับขึ้นค่าแรงงานด้วย และค่าเงินบาทขณะนี้ถือว่าแข็งค่ากว่าค่าเงินเทียบกับหลายประเทศคู่แข่ง ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ในส่วนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแปรรูป ตอนนี้ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก ผลจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หากเจอต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกได้

“อยากให้รัฐบาลทบทวนการปรับเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออก อย่างค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นครั้งนี้ หากจะประกาศใช้ ไม่มีการทบทวนอีกแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ครั้งต่อๆ ไปควรชะลอหรือทบทวนให้ดีๆ เพราะภาคผลิตอาหารแช่เยือกแข็งใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก และค่าไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 20% ของต้นทุนผลิตทั้งหมด ขณะที่ค่าแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 50-60% ของต้นทุนผลิต” พจน์ กล่าว
กกพ. แจงเหตุขึ้นค่าไฟ ราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้น

สำหรับเหตุผลในการประขึ้นค่าไฟฟ้านั้น โพสต์ทูเดย์ รายงานคำแถลงของ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ด้วยว่า จากการคำนวณค่าเอฟทีงวดนี้จริงๆ จะต้องขึ้น 17.83 สตางค์ต่อหน่วย แต่ กกพ.ได้บริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีความผันผวน ด้วยการปรับลดค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานา เมียนมา หยุดซ่อมเมื่อ 25 มี.ค. - 2 เม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งนำเงินค่าปรับและค่าชดเชยต่างๆ ที่ได้รับจากการบริหารสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อไฟฟ้าต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนราว 3,000 กว่าล้านบาทมาลด ได้อีก 4.26 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าไฟงวดนี้ปรับขึ้น มาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับราคาสูงขึ้นมาอยู่ที่ 244.58 บาทต่อล้านบีทียู นอกจากนี้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.60 เท่ากับ 68,198 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 5,853 ล้านหน่วย คิดเป็น 9.39% รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.09 บาทต่อลิตร
คาดค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค.60 ยังคงมีทิศทางปรับขึ้นอีก

โฆษก กกพ. ระบุอีกว่า แนวโน้มค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.60 ถัดไป ยังคงมีทิศทางปรับขึ้นอีก เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือราคาก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นขาขึ้น เพราะราคาก๊าซจะสะท้อนราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 8-12 เดือน ซึ่งในช่วงนี้น้ำมันเป็นช่วงราคาที่ปรับขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้

"ขณะที่ค่าเอฟทีดังกล่าวหากคำนวณผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ราว 26.17 ล้านครัวเรือนนั้นพบว่า จะมีค่าใช้จ่ายขึ้นไม่มากนัก โดยครัวเรือนที่ใช้ไฟต่ำกว่า 150 หน่วยต่อเดือน จะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 4 บาทต่อหน่วย ขณะที่บ้านที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เดือนละ 16.50 บาทต่อหน่วย" วีระพล กล่าว

วีระพล กล่าวว่า กกพ.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพิจารณาว่าควรให้ บมจ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย ขยายเวลาการขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ อีกรอบหรือไม่ หลังจาก กกพ.ได้สั่งให้เลื่อนซีโอดีออกไป 2 ครั้งแล้ว เนื่องจากตัวโครงการยังไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.