นโยบายต้านผู้อพยพของ 'ทรัมป์' ล่าสุดมุ่งเป้ากำราบ 'เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ'

Posted: 04 Apr 2017 02:08 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ขณะที่มีเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เรื่องที่ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐฯ และนักวิชาการพากันออกมาต่อต้านจริงจังอีกเรื่องหนึ่งคือ การจ้องใช้คำสั่งตัดงบประมาณท้องถิ่นถ้าหากท้องถิ่นนั้นๆ เป็นเมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ แต่ท้องถิ่นหลายแห่งฟ้องร้องว่าคำสั่งนี้ขัดหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ


แฟ้มภาพโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแถลงที่กระทรวงป้องกันมาตุภูมิ เมื่อ 25 มกราคม 2017 (ที่มา: U.S. Department of Homeland Security (DHS)/Wikipedia)


เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2560 สื่อซาลอนรายงานเรื่องที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังคงหาวิธีการเข้มงวดปราบปรามผู้อพยพต่อไปถึงแม้ว่าจะถูกศาลสกัดกั้นแผนการห้ามเดินทางมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเมื่อไม่นานมานี้เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนล่าสุดของสหรัฐฯ ประกาศว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังออกแผนการจัดการงบประมาณรัฐบาลกลางเพื่อเป็นวิธีในการปราบปราม "เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ" (sanctuary cities) และรัฐที่พวกเขาอ้างว่าไม่ได้ทำตามกฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐบาลกลาง

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ต้องเป็นผู้ตัดสินเรื่องสถานะผู้ลี้ภัยว่าจะควบคุมตัวหรือปฏิบัติต่ออย่างไร โดยถ้าหากบุคคลหนึ่งๆ ไม่สามารถนำเสนอหลักฐานความเป็นพลเมืองได้ พวกเขาก็ควรจะถูกส่งตัวให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ โดยแผนการของรัฐบาลทรัมป์จะอาศัยวิธีการตัดงบประมาณบางด้านกับภาคส่วนท้องถิ่น 200 แห่งที่จัดให้ตัวเองเป็นเมืองคุ้มครองผู้อพยพ

รายงานในซาลอนที่เขียนโดยฮีทเธอร์ ดิกบี พาร์ตัน ระบุว่าทั้งทรัมป์และเซสชันมักจะเป็นคนที่ชอบใช้โวหารปลุกปั่นทางการเมืองทำให้คนหวาดระแวงผู้อพยพที่ไม่มีใบอนุญาตอ้างว่าพวกเขาเป็นคนอันตรายหรือเป็นอาชญากรทั้งๆ ที่มีหลักฐานระบุออกมาในทางตรงกันข้าม อีกทั้งโวหารแบบของรัฐบาลทรัมป์ยังทำให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นทำงานยากลำบากขึ้นและทำให้ชุมชนปลอดภัยน้อยลงเพราะผู้คนจะไม่กล้ารายงานเวลาเกิดอาชญากรรมเพราะกลัวถูกส่งตัวให้ทางการกลาง

กฎที่เซสชันประกาศมีที่มาจากคำสั่งพิเศษของทรัมป์ที่ใช้ชื่อว่า "การเสริมสร้างความปลอดภัยสาธารณะจากภาคส่วนภายในของสหรัฐอเมริกา" ที่มีการลงนามเมื่อไม่กี่วันหลังจากทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ถูกต่อต้านโดยรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งรวมถึงบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนิวยอร์กซิตี

เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ทางการบางส่วนด้วย มีเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ 2 รายเปิดเผยว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในหมู่เจ้าหน้าที่ มีบางคนที่แสดงท่าทีสนับสนุนทรัมป์จะรู้สึกได้รับการสนับสนุนมากขึ้น และพูดหยอกกันว่างานของพวกเขา "สนุก" ขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ที่ไม่อยากใช้ไม้แข็งกับกรณีผู้อพยพที่ไม่มีใบอนุญาตจะรู้สึกว่าพวกเขาถูกทำให้เงียบเสียง

ไม่เพียงแค่เรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพภายในประเทศอย่างเดียวเท่านั้นเรื่องนี้ยังถูกมองว่าเป็นการปราบปรามผู้ลี้ภัยหรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิมบางประเทศที่รัฐบาลทรัมป์มองว่าเป็นภัยด้วย หนึ่งในกรณีที่กลายเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้คือ เอมอส ยี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากสิงคโปร์ที่ถูกดำเนินคดีหลังวิจารณ์อดีตผู้นำลีกวนยูและโยงถึงศาสนาคริสต์ เขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศอย่างเป็นทางการในฐานะผู้ลี้ภัยได้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ก่อนหน้านี้เขาถูกกักตัวและคุมขังไว้โดยทางการสหรัฐฯ เป็นเวลาสามเดือน

เรื่องของสิงคโปร์ทำให้พาร์ตันเขียนถึงทรัมป์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เขาจะหยิบยืมแนวคิดใกล้เคียงกับผู้นำสิงคโปร์ที่มีลักษณะสังคมแบบอำนาจนิยมที่เอาเรื่องธุรกิจนำมาก่อนแล้วไม่ยอมให้มีการต่อต้านใดๆ แต่ในภาพรวมใหญ่ๆ แล้วรัฐบาลทรัมป์เองก็มีปัญหาและมีภาพลักษณ์เสื่อมเสียจากเรื่องอื้อฉาวใหญ่ๆ อีกทั้งยังเป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทรัมป์จะเป็น "เสือกระดาษ" ที่ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรเลย เพราะทรัมป์เองก็ก่อให้เกิดความเสียหายไปแล้ว

คำสั่งพิเศษของทรัมป์ยังไม่พ้นถูกต่อต้านจาก มีรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นซานฟรานซิสโก แมสซาชูเซตต์ ริชมอนด์ ซีแอตเทิล พวกเขาบอกว่าคำสั่งของทรัมป์ล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หลายข้อ ทนายความของเทศมณฑลซานตา คลารา กล่าวว่าการขู่ตัดงบด้วยเหตุผลเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงการที่ดูแลสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้กับผู้คนที่ขาดโอกาส นอกจากนี้ยังผิดหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 10 ในแง่ที่ว่าเป็นการบีบเค้นให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องใช้ทรัพยากรตัวเองในการทำงานให้กับรัฐบาลกลาง ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็เคยถูกตัดสินละเมิดมาตราเดียวกันในสมัย บิล คลินตัน หลังจากออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่ส่งผลกระทบทำให้รัฐบาลกลางเป็นฝ่ายควบคุมรัฐบาลท้องถิ่น

นอกจากนี้แล้วคำสั่งพิเศษของทรัมป์ยังถูกซีแอตเทิลร้องเรียนว่ามีปัญหาเรื่องการละเมิดรัฐธรรมนูญในแง่การใช้งบประมาณด้วยการอาศัยคำที่คลุมเครือและไม่มีการนิยาม เลนา กราเบอร์ ทีมกฎหมายของศูนย์ทรัพยากรกฎหมายผู้อพยพกล่าวว่าคำสั่งพิเศษของทรัมป์คลุมเครือตีความได้หลายแบบ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งเรียกร้องให้ทรัมป์นิยามเจาะจงมากกว่านี้ กราเบอร์บอกว่าการฟ้องร้องของรัฐบาลท้องถิ่นมีโอกาสชนะสูงเพราะ "เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่คำสั่งพิเศษของทรัมป์ไม่ถูกกฎหมาย"

นอกจากภาครัฐส่วนภูมิภาคแล้ว ยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายเกือบ 300 รายลงนามในจดหมายส่งถึงทรัมป์เพื่อแสดงการต่อต้านคำสั่งพิเศษของเขา หนึ่งในนักวิชาการที่ลงนามคือบิลล์ อง ฮิง เห็นต่างออกไปจาก กราเบอร์ว่า คดีนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะชนะง่ายๆ แบบคดีสั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพราะคดีเกี่ยวกับคำสั่งพิเศษห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นคดีฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class action) แต่กรณีเมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพเป็นคดีแบบฟ้องเดี่ยวซึ่งอาจจะส่งผลตัดสินต่างกันไปในแต่ละรัฐ มีแต่ต้องใช้คำสั่งศาลสูงสุดเท่านั้นถึงจะทำให้คำสั่งพิเศษของทรัมป์ถูกยกเลิกได้ โดยฮิงมองว่า ไม่ใช่แค่ทรัมป์เท่านั้นตัวพรรครีพับลิกันเองก็มองเรื่องการพยายามตัดงบประมาณเมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพมานานแล้ว



เรียบเรียงจาก

Immigration crackdown: Despite defeats in court and deepening scandal, Trump’s crusade ramps up on many fronts, Heather Digby Parton, Salon, 30-03-2017

http://www.salon.com/2017/03/30/immigration-crackdown-despite-defeats-in-court-and-deepening-scandal-trumps-crusade-ramps-up-on-many-fronts/

Seattle Is Sixth Local Government to Sue Trump Over Threats to Sanctuary Cities, Yes! Magazine, 31-03-2017

http://www.yesmagazine.org/peace-justice/cities-suing-trump-for-executive-order-punishing-sanctuary-cities

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.