หนังสือ “นบีไม่กินหมาก” หลากมุมมองจากผู้อ่านมุสลิม-คนทำงานในชายแดนใต้

Posted: 02 Apr 2017 04:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

หนังสือเล่มใหม่ของอนุสรณ์ อุณโณ เก็บประสบการณ์ คำบอกเล่าด้านวัฒนธรรมพิธีกรรมที่ซึมซับจากพื้นที่ชายแดนใต้ นักวิชาการตั้งคำถามบันทึกเพียงการเล่าต่อกันมา ขาดข้อมูลวิชาการ, ฝ่ายความมั่นคงระบุมีประเด็นละเอียดอ่อนเยอะ, ซะการีย์ยา กวีซีไรต์เห็นหลายคำสะท้อนคอนเซ็ปต์ “พุทธ” ของผู้เขียน, ฟารีดา เห็นความหลากหลาย แม้ปะทะกรอบศาสนา


เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนา ชวนถกเถียงเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ของ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ห้องสมุดวิลเลี่ยม วอร์เรน บ้านจิม ธอมป์สัน หนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ลงพื้นที่ไปบันทึกการเล่าเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม พิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา และการเมืองของสามัญชนมลายูมุสลิม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธมาก่อนที่จะมาเป็นอิสลาม ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่หนังสือเล่มนี้จึงมีบางอย่างที่ขัดกับสังคมมลายูมุสลิมปัจจุบัน

ใครคือคนมลายู คำตอบไม่ตายตัว - เสน่ห์งานมนุษย์วิทยาสรุปแนวคิดจากปรากฏการณ์

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการอิสลามประจำ จ.เชียงใหม่ และนักวิชาการ ม.พายัพ ได้เขียนในคำนำหนังสือเล่มนี้ว่า หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงเสน่ห์ของงานเขียนทางมานุษยวิทยาในการพยายามทำความเข้าใจวิถีชาวบ้านที่ตนศึกษา แล้วสรุปแนวคิดรวบยอดจากปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันของชาวมลายูมุสลิมโดยโยงให้เห็นถึงพลวัตของชุมชนมุสลิมที่ไม่เคยหยุดนิ่งและแข็งกระด้างตามความรับรู้ของคนทั่วไป

ผู้เขียนเริ่มจากการชี้ชวนให้เห็นถึงข้อถกเถียงสำคัญของมลายูศึกษาที่ว่า “ใครคือคนมลายู” โดยใช้พลังของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในชุมชนเพื่อถกเถียงว่าแท้ที่จริงแล้วอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูนั้นไม่ได้มีคำตอบตายตัวหรือมีปาตานีเป็นศูนย์กลางแบบเดียว หากมีความลื่นไหลและหลากหลายความหมายอยู่ไม่น้อย

การยืนอยู่บนขนบของนักมานุษยวิทยานั้นยังคงมีเสน่ห์ เพราะจะไม่ตัดสินความถูกผิดในหมู่ชนที่ตนศึกษาเพียงแต่พยายามมุ่งแสวงหาคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจกับความซับซ้อนต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางสังคมรวมทั้งประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างของชาวบ้าน

นบีไม่กินหมากเพราะเป็นคนอาหรับ ติงผู้ให้ข้อมูลรู้จากเรื่องบอกเล่าต่อๆ กันมา


รศ.อับดุลเลาะ อับรู กรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี อดีตนักวิชาการ มอ.ปัตตานี เปิดเผยว่า หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก ชื่อหนังสือ “นบีไม่กินหมาก” ทำให้คนมุสลิมเกิดคำถามว่า เหตุที่นบีไม่กินหมากเพราะมันต้องห้าม หรือกินได้แต่ไม่สนับสนุนให้กิน แต่อ่านเนื้อหาแล้วมันไม่ใช่ มันเป็นเพียงการบอกเล่าของชาวบ้านกับผู้เขียน เรื่องราวอื่นๆ ในเล่มนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านบอกเล่ากับผู้เขียน

ยกตัวอย่างประเด็นที่ผู้เขียนใช้คำว่า “การบวงสรวง” ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ถาดบวงสรวงของนบีจะไม่มีหมากและไม่มีพลู เพราะนบีเป็นคนอาหรับจึงไม่กินหมาก แต่จะมีดอกไม้อยู่ในถาดแทนและบอกว่าในโลกอาหรับเขานิยมดอกไม้

“จึงเกิดประเด็นคำถามว่า หลายเรื่องในหนังสือนี้ผู้ให้ข้อมูลไม่มีความรู้ต่อข้อมูลที่เขาให้ ทุกคนอาจจะแย้งอีกว่าผมเอามาตรฐานอะไรกล่าวหาว่าผู้ให้ข้อมูลไม่มีความรู้ คำตอบคือ ค่านิยมการใช้ดอกไม้ในการบูชา-บวงสรวง เป็นค่านิยมของฮินดูและพราหมณ์ แต่ไม่ใช่ค่านิยมของคนอาหรับ”

สังคมมลายูมุสลิมเป็นสังคมที่ได้รับการส่งผ่านจากอดีตที่เป็นพราหมณ์ ฮินดู และพุทธมาก่อนที่จะเป็นอิสลาม ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ยังฝังประปรายอยู่ แต่บุคคลที่หยิบเอาวัฒนธรรมเหล่านี้มาบอกเล่า เขาอาจไม่รู้ความเป็นมาจึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือแนวมานุษยวิทยาที่ดีและท้าทายผู้อ่าน เป็นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องโยงกับหลักการ บทบัญญัติ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในเชิงมานุษยวิทยา ผู้เขียนจะเขียนตามคำบอกเล่าโดยไม่ปรุงแต่ง แล้วนำเสนอให้คนอ่านได้เห็นสภาพที่แท้จริงของสังคมมลายูอีกชุดหนึ่ง

ศาสนา-อัตลักษณ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้สนใจพัฒนาต้องเข้าใจ


ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ตอนผมอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ทุกเรื่องที่จะพัฒนาต้องสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ผมจะพยายามคิดนอกกรอบ

ยกตัวอย่างเช่น ผมให้ท่านจุฬาราชมนตรีช่วยคัดคนมุสลิมระดับ C10 มาเป็นรองเลขาธิการสมัยผม 1 คน ผ่านไปไม่นานท่านก็ส่งชื่อมา คือ ดร.มะรอนิง สาแลมิง นักวิชาการด้านศาสนา มอ.ปัตตานี

ที่นี้ผมคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้นำศาสนาทุกกลุ่มยอมรับในตัวท่าน จึงหารือกับอาจารย์อับดุลการีม นาคนาวา ประธานสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ (กลุ่มคณะเก่า) ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี ม.ฟาฏอนี (กลุ่มคณะใหม่) และท่านมามุ (ไม่ทราบนามสกุล) (กลุ่มคณะดะวะห์ตับลีฆ) สรุปทุกกลุ่มชี้รับได้กับ ดร.มะรอนิง

“ผมทำอย่างนี้ก็เพราะในพื้นที่นี้มีเรื่องละเอียดอ่อนซ่อนอยู่ เฉกเช่นกับหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนกล้าเขียนมาก ตอนผมได้รับหนังสือจากผู้เขียนผมตกใจมาก เพราะมันมีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างเช่น มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้เขียนว่า “ศาสดาหลั่งข้างนอก” ผมถามผู้นำศาสนา ท่านบอกว่า “ท่านนบีไม่เคยพูด แต่มีสาวกมาพูดในสมัยท่าน” ซึ่งประเด็นแบบนี้มันละเอียดอ่อนมาก ถ้าคนในพื้นที่เขียนคงอยู่ลำบาก เพราะอย่างที่ผมยกตัวอย่างมาว่าในพื้นที่แม้แต่เรื่องเดียวกันก็ยังต้องถกเถียงกัน ดังนั้นผมคิดว่าหากจะวิเคราะห์สังคมเราต้องอย่าลืมมองตรงบริบทของพื้นที่ด้วย “ให้เราจับแค่สองจุด คือ หลักศาสนา และหลักอัตลักษณ์”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยกตัวอย่างก็เพื่อให้เห็นถึงจุดที่ต้องปรับปรุงในเรื่องละเอียดอ่อน จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

หลายคำ มุสลิมรับไม่ได้ - แต่ละพิธีกรรม เชื่อมีฟังค์ชั่นซ่อนอยู่

ซะการีย์ยา อมตยา นักเขียนซีไรต์ กล่าวว่าแค่ชื่อหนังสือก็ไม่ผ่านแล้ว เขามีโอกาสสอบถามน้องคนหนึ่งว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับชื่อหนังสือ คำตอบคือคนรามันไม่ปลื้มแน่นอน เข้าใจว่าคนรามันตรงนี้หมายถึงคนรามันที่เป็นอิสลามิสซึม (Islamism) หรือคนที่ไม่ต้องการพิธีกรรมแบบดั้งเดิม

“มีอยู่ครั้งหนึ่งทีมงานปาตานีฟอรั่มท่านหนึ่งถามผมเกี่ยวกับคำต่างๆ อย่างกังวล แต่ผมยืนยันให้ใช้คำเดิมของผู้เขียน เพราะคิดว่ามันเป็นเซ้นส์ของผู้เขียนที่ไปฟัง ไปเห็นการกระทำ (Action) ของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ แล้วตีความออกมาเป็นคำที่อยู่ในหัวของผู้เขียน ซึ่งผมคิดว่าคำของผู้เขียนในความรู้สึกมันเป็นโลกทัศน์ของพุทธสายแข็ง”

ตัวอย่างเช่น คำว่า สวดอัลกุรอาน, น้ำมนต์, ถวาย, เสก, ปลุกเสก, บวงสรวง, ข้าวเหนียวขวัญ, บายศรี และ บริกรรมคาถา คำเหล่านี้มุสลิมรับไม่ได้ เป็นเซ้นส์ทางภาษา คำเหล่านี้เป็นคำของพุทธไปหมดแล้ว แต่ก็มีอยู่คำหนึ่งที่มุสลิมยังใช้อยู่คือคำว่า นมัสกา, นมัสเต, นมาซ

“อีกประเด็น คือ ผมเองพยายามหาฟังก์ชันในพิธีกรรมต่างๆ ที่เขียนในหนังสือเล่มนี้ว่า มันมีฟังก์ชันอะไรซ่อนอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ทวดของผมเป็นคนนิยมมะโยง หรือ มโนราห์ ช่วงที่ท่านไม่สบายก็จะมีการอันเชิญมาทำพิธี มีชาวบ้านมาร่วมงานกัน สุดท้ายท่านก็หายป่วยโดยที่ไม่ต้องอาศัยโรงพยาบาล มันอาจจะเป็นดนตรีบำบัด อันนี้ผมไม่ทราบ อีกตัวอย่างหนึ่งคือปู่ของผมเป็นคนเชิดหนังตะลุง แต่ท่านอ่านหนังสือไม่ได้ ผมเลยสันนิฐานว่า ตอนที่ท่านเชิดหนังตะลุง ท่านก็คงนำมาจากการฟังและการจำ สรุปทั้งสองตัวอย่างนี้ฟังชั่นที่ซ่อนอยู่ของมันคือ การสร้างความบันเทิงให้คนในหมู่บ้าน”

“ส่วนหนังสือเล่มนี้ เข้าใจว่าหลังจากที่ผู้เขียนลงสนามไปฝังตัวอยู่ในชุมชนก็คงรู้สึกประหลาดใจกับสิ่งที่เห็น จึงอยากจะเล่ามันออกมาว่า ความคิด ความเชื่อ ความซับซ้อน และสภาพที่แท้จริงของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าผู้เขียนตั้งใจเขียนเพื่อให้คนพุทธและคนนอกพื้นที่อ่าน แต่ไม่ได้เขียนเพียงแค่ให้คนในพื้นที่อ่าน”

วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา คือคุณค่าในหนังสือเล่มนี้

ฟาริดา สุไลมาน องค์กรสันติภาพและสิทธิมนุษยชน และอดีตรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า หลังได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกถึงคุณค่าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เรื่องเล่าต่างๆ ทำให้เห็นมุมมองวิถีชีวิต เห็นวัฒนธรรมเก่าๆ เช่น เรื่องสุนทรียะ ความงดงาม หรือแม้แต่เสียงเพลง แต่ถ้ามองในมุมของคนที่มีความรู้ด้านศาสนาก็จะขัดกับหลักการทันที ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างมิติทางวัฒนธรรมและมิติทางศาสนา

พอกระแสของอิสลามเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกระแสการปฏิวัติอิหร่าน หรือแม้แต่ผู้รู้ที่ได้รับการศึกษาจากโลกตะวันออกกลาง ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การแต่งกายที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งการเมืองก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นคุณค่าของหนังสือเล่มนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของคนในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ต่างจากภาคอื่นในประเทศ หากภาครัฐได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะเข้าใจว่าทำไมคนในจังหวัดชายแดนใต้ พวกเขาถึงรักและหวงวัฒนธรรมของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การแต่งกาย หรือประเพณีวัฒนธรรม ในด้านมิติการเมืองจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างมาก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.