ประชาไท Prachatai.com

มองกรณีปิด Voice TV 7 วัน

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวตอนหนึ่งว่า รายการวิเคราะห์สื่อทีวีคงหมดอนาคต เพราะผิดไปจากที่ กสทช. และ คสช. อยากเห็น ใครแหลมลงมาอีกคงมีปัญหา จากประวัติศาสตร์รายการวิเคราะห์ข่าวทีวีจะเห็นว่ามีอนาคตน้อย เท่าที่สังเกตรายการแนวนี้ไม่ค่อยมี และนักวิเคราะห์เก่งๆ ก็จะเป็นข่าวต่างประเทศ รัฐบาลของไทยผ่านมาหลายยุคก็ยังมีลักษณะอำนาจนิยม โดยเฉพาะรัฐบาลทหารยังไม่ให้วิจารณ์ สิ่งที่ทำอยู่จึงเหมือนไปกระตุกหนวดเสือ ถึงมีถ้อยคำอย่าง "ทำผิดซ้ำซาก" และบังคับผ่านคำสั่ง คสช. ที่ห้ามวิจารณ์ ซึ่งใหญ่กว่ากฎหมายเสียอีก

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา จากซีป้ากล่าวตอนหนึ่งว่า วอยซ์ทีวีตกในที่นั่งที่เสียเปรียบคนอื่น เพราะเจ้าของหลังพิงครอบครัวชินวัตร

พอเกิดเรื่องตามดูรายการทั้งสาม ศิโรตม์พูดเรื่องชัยภูมิ เป็นการตั้งคำถามที่ใครๆ ก็พูดกัน เรื่องบทบาทกิจกรรมชัยภูมิทางสังคม และขอให้กองทัพเร่งตรวจสอบ เป็นเนื้อหาทั่วไปที่ได้ยินในโซเชียลมีเดียและสื่ออื่นๆ ส่วนตัวรู้สึกว่าวอยซ์ต้องต่อสู้เพื่อกันตัวเองจากข้อครหาเรื่องครอบครัวชินวัตรพอสมควร

จากเหตุผลของ กสท. พุ่งไปที่รายการวิเคราะห์ข่าวที่จะมีการแสดงความเห็น ขณะที่สารจาก บ.ก.วอยซ์หลังกลับมาออกอากาศมีนัยแฝงที่น่าเป็นห่วง คือ ดูเหมือนจะถอยกับรายการเชิงวิเคราะห์ข่าวไปแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คิดว่าน่าเสียดาย


ไม่รู้ทำไมเดี๋ยวนี้ความเห็นกลายเป็นของแสลง และ คสช. ก็มักพูดถึงข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงจะมาจากไหนล่ะ คสช.ก็คงต้องแก้บางอย่าง เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 97 ที่ห้ามข้าราชการให้สัมภาษณ์ หากต้องการข้อเท็จจริงสื่อก็ต้องสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ถ้า คสช.ต้องการเนื้อหาเชิงข้อเท็จจริงต้องให้ข้อเท็จจริงเปิดเผยออกมาเยอะๆ แต่ในยุคที่ข้อเท็จจริงหายาก สิ่งที่จะนำไปสู่ข้อเท็จจริงได้ คือการโยนหินถามทางผ่านการวิเคราะห์ซึ่งย่อมมีความเห็นแฝงอยู่

***4 เม.ย.2560 Media Inside Out จัดเวทีสนทนา "เสรีภาพสื่อ กรณีพักใบอนุญาตวอยซ์ ทีวี" ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดย รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) นวลน้อย ธรรมเสถียร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.