Posted: 30 Oct 2017 12:36 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
คลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญา 6 แสนคนที่หนีการประหัตประหารของกองทัพพม่า ชวนพิจารณาการปรับยุทธศาสตร์กองทัพพม่าที่ต้องการคุมจุดตัดซึ่งมีนัยสำคัญทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งภาพใหญ่คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นจุดปะทะสังสรรค์เชื่อมภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ASEAN Weekly เทปนี้ พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ พูดคุยกับดุลยภาค ปรีชารัชช ถึงสถานการณ์วิกฤตมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาอพยพหลบหนีภัยการถูกประหัตประหารเข้าสู่บังกลาเทศแล้วกว่า 6 แสนคน ทั้งนี้หลังกองกำลัง ARSA ซึ่งระบุว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนพม่า ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีปราบปรามแบบไม่เลือกหน้าและมุ่งเป้ามาที่พลเรือน โดยใช้ทั้งวิธีสังหารและเผาทำลายหมู่บ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐยะไข่ในพื้นที่ขัดแย้ง ก็อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าจัดให้ โดยระบุว่าถูกโจมตีจากกลุ่ม ARSA เช่นกัน
ดุลยภาคนำเสนอภาพใหญ่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการปรับพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ โดยในช่วงรัฐบาลทหารพม่าก่อนหน้านี้ มีการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการภาคตะวันตก (Western Command) ของกองทัพพม่า จากเมืองซิตตเว มาที่เมืองอานซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้ามา รวมทั้งพัฒนาฐานทัพอากาศขึ้นที่นี่ พร้อมๆ กับการกวาดล้างชุมชนโรฮิงญาในรัฐยะไข่หลายระลอก
ขณะเดียวกันยังชวนให้พิจารณาผังการบังคับบัญชาของกองอำนวยการยุทธการพิเศษที่ 3 กองทัพพม่า ที่ควบคุมพื้นที่ บก.ภาคตะวันตก (อาน) บก.ภาคใต้ (ตองอู) และ บก.ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (พะสิม) ซึ่งสามารถสับเปลี่ยนและหนุนกำลังเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่รัฐยะไข่
นอกจากนี้ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทางยุทธศาสตร์ท่อส่งก๊าซจากแหล่งเจาก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ที่มุ่งสู่คุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีนแล้ว กอง บก.ภาคตะวันตก ยังอยู่ในจุดที่เสมือนเป็นเส้นแบ่งพรมแดนภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของรัฐยะไข่ ที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งติดชายแดนบังกลาเทศ ประเทศที่มีประชากรมุสลิมกว่า 160 ล้านคน ในขณะที่ทางตอนใต้ของรัฐยะไข่มีประชากรพุทธมากกว่า นับเป็นจุดปะทะสังสรรค์ทางอารยธรรมเชื่อมต่อชุมชนเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงท้ายรายการ พูดถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและแรงกดดันของประชาคมระหว่างเทศเพื่อกดดันให้รัฐพม่าปรับพฤติกรรม พร้อมไปกับการแก้เกมของรัฐบาลพม่า 'ถิ่นจ่อ-อองซานซูจี' ที่ลดแรงกดดันด้วยการประสานมือกับมหาอำนาจเพื่อนบ้านอย่างจีน-อินเดีย นอกจากนี้ดุลยภาคยังชวนอ่านหนังสือ The Clash of Civilizations โดย Samuel P. Huntington นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อ แม้จะเขียนขึ้นในช่วงหลังสงครามเย็น แต่นัยจากหนังสือยังสะท้อนสภาวะขัดแย้งในภาวะปัจจุบันอยู่ไม่น้อย
ติดตามชม ASEAN Weekly ย้อนหลังที่
YouTube https://goo.gl/Hgn7tq
Facebook https://www.facebook.com/AseanWeekly/
แสดงความคิดเห็น