Posted: 18 Nov 2017 08:37 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเว็บวิทยาศาสตร์และสื่ออิสระ Yes! พูดถึงสื่ออิสระเล็กๆ ในสหรัฐฯ ที่พวกเขาทำการสำรวจมาเป็นเวลากว่า 5 ปี พบว่าสื่ออิสระตัวเล็กๆ เหล่านี้เมื่อพูดถึงประเด็นบางอย่างร่วมกันก็อาจจะสามารถกระจายบทสนทนาต่อประเด็นนั้นๆ ไปในระดับประเทศได้ ในยุคที่ 'ข่าวปลอม' และ 'คลิกเบลต์' แพร่สะพัด และคนก็เชื่อใจสื่อใหญ่น้อยลง การสนับสนุนสื่ออิสระที่เกาะประเด็นอย่างจริงจังจึงมีความสำคัญ

18 พ.ย. 2560 ในช่วงที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังพูดกันถึงกรณีที่เว็บโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล และทวิตเตอร์กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวปลอมจากผลงานของ 'บ็อต' รัสเซีย รวมถึงมีความกังวลว่าพวกบ็อตและเว็บข่าวปลอมเหล่านี้ส่งผลต่อการเลือกตั้งในปี 2559

มีการพูดถึงเรื่องการพยายามสู้รบปรบมือกับ "ข่าวปลอม" เหล่านี้กันมาก หนึ่งนั้นคือการทำให้แน่ใจว่ามีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในระบบเน้นข่าวจริงมาก่อน แต่แค่การแก้ไขปัญหาแบบนี้อาจจะไม่เพียงพอ มีงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ออกมาในช่วงสัปดาห์นี้ว่าสิ่งที่จะทำให้ระบบสื่อดีขึ้นในระบอบประชาธิปไตยคือการช่วยกันทำให้สื่ออิสระมีความเข้มแข็งขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า "สื่อกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกของประชาชนและส่งผลโน้มน้าวต่อวาระระดับชาติได้อย่างไร" ผู้นำในการวิจัยคือแกรี คิง ศาตราจารย์จากฮาร์วาร์ด ร่วมกับนักศึกษาสองคนคือเบน ชเนียร์ กับแอเรียล ไวท์ ใช้เวลาในการศึกษาเป็นเวลา 5 ปี และสนับสนุนโดยโวควัลองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อ

ทีมนักวิจัยทำการสำรวจสื่อเล็กๆ ที่เป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย 48 แห่ง และวัดผลจากจำนวนผู้ชม เทียบกับการสนทนาหารือกันในประเด็นที่สื่อเหล่านี้นำเสนอ

พวกเขาพบว่าถึงแม้สื่ออิสระแค่เพียง 3 แห่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบายระดับชาติใหญ่ๆ เช่นเรื่องเกี่ยวกับงาน, สิ่งแวดล้อม หรือการอพยพ ก็ทำให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันในจุดนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.7 ในต่อวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

มีการเขียนถึงงานวิจัยนี้ในบทความนิตยสาร Yes! Magazine โดย โจ เอลเลน กรีน ไคเซอร์ ผู้อำนวยการบริหารของขององค์กรเครือข่ายสื่ออิสระเดอะมีเดียคอนซอร์เทียม (The Media Consortium) ที่มีสื่ออิสระเป็นสมาชิก 80 แห่ง เธอระบุว่าสื่ออิสระในเครือข่ายร้อยละ 60 เข้าร่วมเป้นกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยชิ้นนี้ เช่น Truthout, Bitch Media, The Progressive เป็นต้น สื่อเหล่านี้มีผู้สมัครเป็นสมาชิกโดยเฉลี่ย 50,000 ราย

สื่ออิสระเหล่านี้ไม่ได้เป็นสื่อใหญ่เทียบเท่านิวยอร์กไทม์หรือซีเอ็นเอ็น พวกมูลนิธิการกุศลใหญ่ๆ มักจะไม่ค่อยสนับสนุนพวกเขาเพราะมองว่าพวกเขา "เล็กเกินไป" หรือมองว่า "ส่งผลไม่มากพอ" อย่างไรก็ตามงานวิจัยเปิดเผยว่าถ้าหาก "สื่อเล็กๆ" เหล่านี้เผยแพ่ร่เรื่องราวในประเด็นเดียวกันในช่วงสัปดาห์เดียวกันมันจะส่งผลสะเทือนอย่างมาก

อะไรที่ทำให้สื่อเล็กๆ เหล่านี้สามารถส่งผลต่อการอภิปรายประเด็นต่างๆ ในระดับประเทศได้ ไคเซอร์ตอบคำถามนี้ว่า ประการแรกคือ สื่ออิสระเหล่านี้มีผู้ติดตามที่เข้มแข็งและมีใจรัก พวกเขามีความกระตือรือร้นในการพูดถึงเนื้อหาของสิ่งที่พวกเขาเขียนหรือเข้าดูเนื้อหาของสื่อเหล่านั้น เช่น เมื่อสื่อ Bitch Media, Feministing, Truthout นำเสนอเรื่องในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ก็มีผู้ติดตามสามารถเข้าถึงเรื่องนี้ได้มากกว่า 1 ล้านคน

แต่ผู้คนที่ติดตามสื่อเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่คนที่คอยปฏิสัมพันธ์ทางโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเดียวเท่านั้น พวกเขายังมีปฏิสัมพันธ์ในโลกจริงอย่างการบริจาคให้หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สื่อเหล่านี้จัดในโลกจริง ผู้คนเหล่านี้ยังเป็นกลุ่มที่ต้องการมีส่วนร่วมในการหารือกันระดับประเทศเกี่ยวกับประเด็นที่พวกเขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้อพยพ เรื่องโลกร้อน หรือเรื่องปฏิรูปโรงเรียน นั้นทำให้คนเหล่านี้พยายามผลักดันเรื่องพวกนี้ในโลกโซเชียลไปด้วย

ประการที่สองจากผลการวิจัยตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความพยายามร่วมกันในการที่จะสร้างผลสะเทือนแทนการใช้ความพยายามเพียงแค่สื่อเดียว แต่เป็นสื่อเล็กๆ หลายสื่อร่วมมือกัน หนึ่งในตัวอย่างนี้คือกรณีการเปิดโปงเอกสารปานามา (Panama Papers) ซึ่งอาศัยสื่อจำนวนมากร่วมมือกันแกะรอยข้อมูล ทำให้มีการเปิดโปงครั้งใหญ่เกี่ยวกับการเลี่ยงภาษีของชนชั้นนำ

ผู้อำนาจการบริหารของเดอะมีเดียคอนซอร์เทียมระบุว่าการจัดตั้งรวมกลุ่มเครือข่ายของพวกเขาก็เป็นไปเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระดับเครือข่ายและงานวิจัยดังกล่าวก็เริ่มสำรวจจากองค์กรการรวมกลุ่มสื่อนี้

ประการสุดท้ายคือพวกเขามีความศรัทธาในประชาชนชาวอเมริกัน พวกเขาเชื่อว่าประชาชนชาวอเมริกันโดยพื้นฐานแล้วต่างก็เป็นห่วงเรื่องระบบการศึกษาของลูกหลานตัวเอง เป็นห่วงว่าพวกเขาจะมีทางเลือกในการมีลูกหรือทำแท้งหรือไม่ เป็นห่วงในเรื่องพวกนี้รวมไปถึงชุมชน คนบ้านใกล้เรือนเคียงและเพื่อนของพวกเขา มีความเชื่อมั่นว่าคนเหล่านี้จะสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องที่กระทบกับชีวิตประจำวันของพวกเขา และเป็นเรื่องที่พวกเขาจะพูดต่อกับคนอื่น ถ้าหากเรื่องราวเหล่านี้มาจากสื่อที่พวกเขาเชื่อถือก็มีโอกาสร้อยละ 62.7 ที่พวกเขาจะแชร์ต่อ

ถึงแม้ว่าพื้นที่แบบโซเชียลมีเดียจะเอื่อต่อพวกข่าวปลอมทั้งหลายในยุคสมัยที่ความเชื่อถือต่อสื่อระดับบรรษัทลดลง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้คนก็เชื่อถือในสื่ออิสระเพิ่มขึ้นเช่นกัน งานวิจัยของคิงจึงเสนอว่าถ้าหากต้องการให้มีการหารือกันเกี่ยวกับนโยบายระดับประเทศควรต้องมีการสนับสนุนสื่ออิสระต่อไป


เรียบเรียงจาก

Why Science Says You Should Be Reading Small Independent Media, Yes! Magazine, 10-11-2017
http://www.yesmagazine.org/people-power/why-science-says-you-should-be-reading-small-independent-media-20171110

How the news media activate public expression and influence national agendas, Sciencemag, 10-11-2017
http://science.sciencemag.org/content/358/6364/776

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.