Posted: 01 Nov 2017 03:52 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุรพศ ทวีศักดิ์

ในไทยแลนด์โอนลี่ มักมีการพูดตามๆ กันว่า “ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” แม้จะจริง แต่ก็ไม่จริงทั้งหมด ซ้ำยังยังเป็นการพูดกันบนมายาคติว่า ศาสนาที่แท้จริงเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่การเมืองเป็นเรื่องสกปรก เมื่อดึงศาสนามาเกี่ยวกับการเมืองจึงทำให้ศาสนาสกปรกไปด้วย
แต่ที่จริง ศาสนามีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง การเมืองก็มีสองด้านเช่นกัน

ความย้อนแย้งของบรรดาผู้ที่พูดว่าศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็คือพวกเขามักเชื่อว่าศาสนาจะช่วยแก้ปัญหาการเมืองปัจจุบันได้ เช่นด้วยการทำให้ประชาธิปไตยมีธรรมาธิปไตย นักการเมืองเป็นคนดีมีจริยธรรม แต่เมื่อถามว่า ประวัติศาสตร์ของ “รัฐนาฏกรรม” ในเอเชียอาคเนย์ที่ผู้ปกครองเป็นธรรมราชาตามคติพุทธ และส่งเสริมความรุ่งเรืองของวังคู่กับวัดมาร่วมพันปี ทำไมถึงไม่ทำให้รัฐต่างๆ ในแถบนี้สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองได้ดีกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมาธิปไตย

บรรดาผู้ที่อ้างธรรมาธิปไตย ก็มักจะตอบหน้าตาเฉยว่า “นั่นเป็นเพียงการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ใช่การปฏิบัติตามหลักศาสนาที่แท้จริง”

เพื่อเปิดเปลือยมายาคติดังกล่าว เราควรทำความเข้าใจความหมายและประวัติศาสตร์ศาสนาอย่างตรงไปตรงมา ที่เราเรียกกันว่า “ศาสนา” นั้น ชาวตะวันตกเรียก “Religion” หมายถึง ข้อผูกมัด, คำสั่ง, กฎของพระเจ้า ถ้าถือนิยามนี้อย่างเข้มงวด ย่อมหมายถึงศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว หรือเอกเทวนิยม แต่ในความหมายยืดหยุ่น ย่อมรวมถึงศาสนาที่นับถือเทพหลายองค์ หรือพหุเทวนิยมด้วย

ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์ ศาสนาพหุเทวนิยมสถาปนาระบบสังคมและการเมืองที่กำหนดว่า ชนชั้นปกครองถ้าไม่ใช่ผู้นำศาสนาที่เป็นทั้งนักบวชและผู้ปกครองในคนๆ เดียวกัน ก็จะเป็นกษัตริย์ที่เป็นโอรสของเทพ หรือเป็นเทพเองเลย โดยมีนักบวชเป็นฝ่ายสร้างสรรค์จรรโลงสถานะและอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดาของผู้ปกครอง นอกจากนี้ ศาสนายังเป็นที่มาของศีลธรรม ประเพณี ความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลการเกษตร ความรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดทั้งระบบชนชั้นทางสังคม และการแบ่งชาติพันธุ์ ชนเผ่าที่นับถือเทพต่างๆ คำสนทนาที่คนยุคนี้ทำความรู้จักกัน คือ “เทพเจ้าของคุณคืออะไร” หรือ “คุณนับถือเทพเจ้าองค์ใด” เป็นต้น

แน่นอน เทพบนสวรรค์ย่อมทำสงครามกันเป็นปกติ และสงครามบนโลกมนุษย์ระหว่างฝ่ายที่นับถือเทพต่างกันก็เกิดขึ้นเป็นปกติเช่นกัน ซึ่งแปลว่า เทพบนสวรรค์เมื่อมีเวลาว่างจากการทำสงครามกันเอง ก็มักจะลงจากสวรรค์มาช่วยเหลือพวกมนุษย์ฝ่ายที่นับถือตนเองในการทำสงครามกับฝ่ายที่นับถือเทพองค์อื่นๆ เสมอ

ส่วนการเกิดขึ้นของศาสนาเอกเทวนิยม ก็เกิดขึ้นด้วยสายตาที่ดูแคลนความงมงายในความเชื่อเรื่องเทพหลายองค์ และรังเกียจการสร้างรูปเคารพของเทพที่มีอยู่ดาษดื่น พระเจ้าองค์เดียวคือใคร? ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะรู้เองได้ ต้องฟังเสียงของพระองค์ที่กระซิบ “ในหัว” ของศาสดาพยากรณ์ว่า “เราเป็นสิ่งซึ่งเราเป็น” และ “จงอย่าสร้างรูปเคารพใดๆ แทนตัวเรา”

คำสั่งห้ามสร้างสัญลักษณ์ใดๆ แทนพระเจ้ามีนัยสำคัญว่า พระเจ้าคือ “ความจริงแท้หนึ่งเดียว” ไม่มีสัญลักษณ์ใดแทนความจริงแท้ได้ การรู้จักสัญลักษณ์จึงไม่ใช่การรู้จักความจริง เหมือนคำว่า “น้ำ” เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่บ่งถึงบางอย่างที่มีความจริงของมันเองแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสัญลักษณ์ในภาษาที่ออกเสียงว่า “น้ำ, water และ ฯลฯ”

ด้วยเหตุนี้ ศาสนาเอกเทวนิยมในแง่หนึ่งก็เป็นศาสนาที่เรียกร้องศรัทธาสูงสุด แต่ศรัทธาสูงสุดนั้นคือศรัทธาต่อ “ความจริงแท้” จึงเป็นศรัทธาที่กลายเป็นพลังในการแสดงหาความจริง เพราะผู้นับถือศาสนาเอกเทวนิยมเชื่อว่า ตัวตนของเขามีอยู่จริง แต่ก่อนที่จะมีตัวตนของเขา โลก จักรวาลและสรรพสิ่งนั้น มีความจริงแท้เพียงหนึ่งเดียวคือพระเจ้า และพระองค์คือผู้สร้างตัวตนของเขาและสรรพสิ่งขึ้นมา

ฉะนั้นในหนังสือ “ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์” ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ จึงอุปมาอุปไมยว่า “มนุษย์คือตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นโดยพระเจ้า” และศาสดาพยากรณ์ก็คือผู้ที่ติดต่อกับผู้เขียนนั้นได้ และย่อมเป็นไปได้เช่นกันที่ตัวละครอย่างเราๆ จะสามารถ “สัมผัส” กับผู้เขียนเรื่องราวของเราได้โดยตรง หากเรามีศรัทธาที่แน่วแน่แท้จริง

ดูเหมือนการนับถือพระเจ้าในฐานะความจริงแท้หนึ่งเดียว จะไม่เกี่ยวอะไรกับ “การเมือง” แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเกิดจากการดูแคลนศาสนานับถือเทพหลายองค์ ดังนั้นในสายตาของพวกเอกเทวนิยมจึงมองพวกพหุนิยมเป็น “พวกนอกรีต” ซึ่งแน่นอนว่า พวกพหุนิยมก็ย่อมมองพวกเอกนิยมเป็นพวกนอกรีตเช่นกัน ฉะนั้นเนื้อแท้ของการกำเนิดศาสนา จึงเริ่มจากความเป็นการเมืองตั้งแต่แรก เพราะการนับถือเทพหลายองค์หรือนับถือพระเจ้าองค์เดียวมีความหมายสำคัญว่า เทพที่เรานับถือ หรือพระเจ้าที่เรานับถือเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหรือเป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่สูงสุด และเทพหรือพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่นั้นจะนำพาชาติพันธุ์ของเราผู้ซึ่งเชื่อฟังพระองค์ไปสู่ชัยชนะเหนือชาติพันธุ์อื่นๆ บนโลกนี้

ความขัดแย้งและสมรภูมิรบระหว่างพระเจ้าองค์เดียวกับเทพหลายองค์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคอับราฮัม ศาสดาพยากรณ์คนแรกที่ได้ยินเสียงพระเจ้าองค์เดียว เรื่อยมาถึงยุคโมเสสผู้นำชาวยิวอพยพหนีจากการตกเป็นทาสของพวกที่นับถือเทพหลายองค์ในอียิปต์มายาวนานกว่าสี่ร้อยปี เพื่อแสวงหา “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ครั้นถึงยุคเยซู พระเจ้าก็ปรากฏขึ้นในร่างมนุษย์ในฐานะ “ผู้ไถ่บาป” แต่แล้วพระเจ้าในร่างมนุษย์ก็ถูกกล่าวหาว่า “ดูหมิ่นพระเจ้า” เสียเอง บวกกับการถูกกล่าวหาจากฝ่ายโรมันว่า เยซูประกาศตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว จึงถูกประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน แต่พระเจ้าไม่ได้ตายถาวร พระองค์ฟื้นคืนชีพและเสด็จคืนสู่สวรรค์

เมื่อบรรดาผู้เผยแพร่ “พระวรสาร” ของพระเจ้าองค์เดียวเข้าไปสู่กรุงโรม พวกเขาย่อมเข้าไปด้วยสายตาดูแคลนความงมงายในความเชื่อเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งแน่นอนว่า ชาวโรมันย่อมมองว่าศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเป็น “ภัยคุกคาม” แต่การเปลี่ยนศรัทธาของผู้เชื่อพระเจ้าองค์เดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ วิธีปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมจึงตามมา ทว่าการฆ่าผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่พร้อมพลีชีพเพื่อพระเจ้านั้น ยิ่งฆ่าก็ยิ่งเพิ่ม ในที่สุดเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินหันมานับถือคริสต์และก่อตั้งศาสนจักรคริสต์ขึ้น ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวจึงมีอิทธิพลเหนือยุโรปตลอดยุคกลางร่วมพันปี ด้วยการสถาปนาระบบการปกครองสองระบบควบคู่กัน คือการปกครองทางโลก มีกษัตริย์ใช้อำนาจในนามพระเจ้า และการปกครองทางจิตวิญญาณ มีโป๊ปใช้อำนาจในนามพระเจ้าองค์เดียวกัน

หันมาดูอิสลามที่มูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย ผู้ซึ่งได้ยินเสียงสวดที่เชื่อว่าเป็น “พระวจนะ” ของพระเจ้าโดยตรง ต่อมาเสียงสวดนั้นถูกบันทึกในคัมภัร์อัลกุรอาน แม้จะเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวเช่นกัน แต่มูฮัมหมัดไม่เห็นด้วยกับชาวคริสต์ที่แบ่งพระเจ้าเป็นสามภาคคือ “ตรีเอกานุภาพ” พระบิดา พระบุตร และพระจิต พระเจ้าองค์เดียวที่แท้จริงที่สุดคือ “อัลเลาะฮ์” เท่านั้น และคำสอนที่แท้จริงของพระองค์คือพระวจนะที่มูฮัมหมัดได้ฟังมาโดยตรงและถูกจดจำต่อมา จนนำมาบันทึกในอัลกุรอานเท่านั้น

สำหรับมูฮัมหมัดนั้น เป็นทั้งศาสนทูตและนักรบผู้นำทัพต่อสู้กับศัตรูของชาวมุสลิม ทั้งสองบทบาทนี้ไม่ได้ขัดกัน เนื่องจากศาสนากับการเมืองไม่อาจแยกจากกัน ฮัลโลเวย์อธิบายว่า เป้าหมายของอิสลามคือ “เปลี่ยนโลกให้หันมามองในมุมเดียวกับพวกเขา นั่นคือมุมมองเรื่องชุมชนหนึ่งเดียวหรือ อุมมะฮ์ (umma) ซึ่งหลอมรวมศรัทธาและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ในอุมมะฮ์ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างศาสนากับสังคม เพราะทั้งสองจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน”

แน่นอนว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ “ญิฮาด” (jihad) เพื่อปกป้องมุสลิมย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และสำหรับอัลเลาะฮ์นั้น ย่อมเป็นทั้งพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมเมตตาและมีอำนาจลงโทษที่น่ากลัว พระองค์จึงเป็นพระเจ้าที่ชาวมุสลิมต้องน้อมยอมตนต่อพระประสงค์อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ

มองมาที่ศาสนาในอารยธรรมอินเดีย แม้ชาวฮินดูจะเชื่อว่า พวกเขาถูกสร้างโดยพระเจ้า แต่ตัวตนของพวกเขาเป็นเพียง “มายาภาพ” เป้าหมายของพวกเขา คือการหลุดพ้นจากการยึดติดตัวตนที่เป็นมายาเพื่อเข้าสู่โมกษะหรือนิรวาน อันเป็นการสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดในตัวตนที่เป็นมายาภายใต้กฎแห่งกรรมในสังสารวัฏ

ความย้อนแย้งคือ ขณะที่พวกเขาเชื่อว่าไม่ควรยึดติดตัวตนที่เป็นมายาภาพ แต่พวกเขากลับยึดติดอย่างเข้มข้นว่า “ระบบวรรณะสี่” เป็นสิ่งที่พระพรหมผู้สร้างโลกกำหนดไว้อย่างตายตัว มนุษย์ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

ระบบวรรณะสี่ จึงเป็นระบบสังคมการเมืองที่ศาสนาฮินดูสถาปนาขึ้น ถือว่ากษัตริย์และพราหมณ์คือชนชั้นปกครองที่สืบทอดอำนาจโดยชาติกำเนิด ขณะที่ชนชั้นผู้ถูกปกครอง คือไวศยะและศูทร เฉพาะศูทรนั้นคือทาส ดังนั้นศาสนาฮินดูจึงสถาปนา “ระบบทาส” ขึ้นมาด้วย

แต่ดูเหมือนว่าศาสดาใดๆ จะไม่ได้มองว่า “ระบบทาสผิดศีลธรรม” นักบุญเปาโลก็เคยนำทาสที่หนีเจ้านายมานับถือคริสต์ไปคืนเจ้านายเดิม พร้อมกับขอให้เจ้านายเมตตาต่อทาสด้วย ขณะที่นักบูญออกัสตินสอนว่า “ระบบทาสเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาเพื่อลงโทษต่อบาปของมนุษย์” พุทธศาสนาเองก็มีวรรณกรรมอมตะ “เวสสันดรชาดก” ที่พระโพธิสัตว์บริจาคลูกเป็นทาสเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณในอนาคต

แม้พุทธศาสนาจะไม่ได้สถาปนาระบบการเมืองการปกครองชัดเจนเท่าฮินดู, คริสต์, อิสลาม แต่ก็มีคำสอนในไตรปิฎกว่า “พุทธธรรมราชา” กับ “จักรพรรดิธรรมราชา” ควรทำหน้าที่โดยธรรมสนับสนุนกัน ประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคอโศกเป็นต้นมาจนตลอดยุคกลาง ล้วนปรากฏมีธรรมราชาในรัฐนาฏกรรมต่างๆ ของอินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ไทย เป็นต้น ที่ถือว่าธรรมราชาเป็นพระโพธิสัตว์, สมมติเทพ,พระพุทธเจ้าอยู่หัว

ฉะนั้น โดยความหมายของศาสนาและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสนาตามที่กล่าวมา จึงไม่ใช่เพียงว่าศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่พูดๆ กัน ศาสนาต่างหากที่สถาปนาระบบการเมืองการปกครอง กระทั่งระบบทาสขึ้นมา

การแยกศาสนาจากรัฐ ตามแนวคิดโลกวิสัย (Secularism) จึงหมายถึง การแยกการเมืองการปกครองและเรื่องสาธารณะอื่นๆ ออกมาจากอำนาจทางศาสนา คือเปลี่ยนการเมืองการปกครองและเรื่องสาธารณะจากที่เคยขึ้นต่อข้อผูกมัด, คำสั่ง, กฎของพระเจ้า หรือความเชื่อทางศาสนาใดๆ มาเป็นการปกครองแบบทางโลก หรือ Secular ที่อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์

สาระสำคัญของ Secular คือ มนุษย์สมัยใหม่ไม่ต้องการเป็นเพียงตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้เขียนคือพระเจ้า (หรือกฎสังสารวัฏ) อีกต่อไป เพราะบทเรียนทางประวัติศาสตร์ยากจะหาข้อสรุปชัดเจนได้ว่า ตกลงมนุษย์เป็นตัวละครที่ถูกพระเจ้าเขียนขึ้น หรือมนุษย์เองเป็นผู้เขียนพระเจ้าขึ้นเป็นตัวละครที่ใช้อ้างกดหัวคนด้วยกัน ฉะนั้นการทำให้การเมืองและเรื่องสาธารณะอื่นๆ หลุดพ้นจากอำนาจศาสนามาเป็นเรื่อง Secular จึงหมายถึง การยอมรับตรงๆ ว่ามนุษย์คือผู้เขียนกฎของตัวเอง เราเป็นทั้งผู้ร่วมเขียนบทและเป็นตัวละครในโลกที่เป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ที่เราร่วมกันสร้างขึ้นด้วยหลักความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ และการยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง

การเกิดขึ้นของวิถีโลกสมัยใหม่แบบ Secular ย่อมทำให้อิสลามที่ดำรงความเป็นศาสนาการเมืองแบบดั้งเดิมไว้มากที่สุด กลายเป็นศาสนาที่ “แปลกหน้า” และแน่นอนว่า ความเป็น Secular โดยเฉพาะ “เสรีนิยม” ย่อมเป็นสิ่งที่แปลกหน้าสำหรับหลักการอิสลามด้วยเช่นกัน

มองในแง่นี้ รากฐานของ Islamophobia จึงมาจาก “ความแปลกหน้า” ระหว่างกัน เมื่อเกิดเงื่อนไขบางอย่างที่กระตุ้นให้ความแปลกหน้ากลายเป็นความขัดแย้งและความรุนแรง ย่อมจะนำไปสู่การสร้างกระแส Islamophobia ได้ง่ายๆ (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า มีเพียงฝ่ายอิสลามที่ถูกระแวงและกลัว แต่ย่อมระแวงและกลัวกันทั้งสองฝ่าย หรือมากกว่า)

ส่วนพุทธไทยนั้น ภายใต้โลกสมัยใหม่แบบ Secular พุทธไทยได้กลายเป็นศาสนาที่สับสน ลักลั่นในเรื่อง “เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” มีความพยายามหลอกตัวเองว่าไม่เกี่ยวการเมือง แต่องค์กรสงฆ์ยังเป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐ

พูดอีกอย่าง Secular แบบโลกสมัยใหม่ ได้ทำให้เราเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐไทยว่า เป็น “รัฐกึ่งศาสนา” ที่ปกครองด้วยระบบอำนาจแบบรัฐนาฏกรรมอิงความเชื่อเรื่องสมมติเทพตามคติพุทธไทยซึ่ง “ควบขี่” กันไปกับการปกครองด้วยหลักการทางโลก

โดยมีนักบวชเป็นผู้ผลิตสร้างบทสวดสรรเสริญสมมติเทพ เทศนา และประกอบพิธีกรรมเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของ “การแสดงนาฏกรรม” ทางอำนาจบารมี และศีลธรรม ความดีในสังคมที่ยังมองไม่เห็นทางออกว่า จะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยในความหมายแบบโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.