รายงานฉบับใหม่ของยูนิเซฟเผยยังมีเด็กจำนวนมหาศาลที่กำลังเผชิญกับความรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากคนใกล้ชิดของเด็ก โดยเด็กบางคนมีอายุเพียง 12 เดือนเท่านั้น ไทยเด็กหญิง 9 ใน 10 ที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จัก
ภาพจากยูนิเซฟ
1 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า รายงานชื่อ A Familiar Face: Violence in the lives of children and adolescents (คนใกล้ตัว: ความรุนแรงในชีวิตของเด็กและวัยรุ่น) ระบุว่า เด็กอายุ 2-4 ปีจำนวน 3 ใน 4 คนหรือราว 300 ล้านคนทั่วโลกถูกพ่อแม่ผู้ปกครองกระทำรุนแรงทางจิตใจ และ/หรือถูกลงโทษทางร่างกาย นอกจากนี้ เด็กวัย 1 ปี เกือบ 1 ใน 4 คนถูกลงโทษโดยการจับเขย่า และเกือบ 1 ใน 10 คนถูกตบหรือตีที่ใบหน้า ศีรษะ หรือหู รายงานดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประมาณ 1 ใน 4 คน หรือราว 176 ล้านคนอาศัยอยู่กับแม่ซึ่งเป็นเหยื่อความรุนแรงจากคู่ครอง
สถานการณ์ในประเทศไทยก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2559 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติโดยการสนับสนุนของยูนิเซฟ พบว่า เด็กวัย 1-14 ปีจำนวน 3 ใน 4 คนถูกสมาชิกในครอบครัวลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจ ผลการสำรวจยังพบว่าผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเกือบครึ่งหนึ่ง เชื่อว่าการลงโทษทางกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเด็ก
โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหยุดมองว่าการทำโทษด้วยการใช้กำลังเป็นเรื่องปกติของการเลี้ยงดูเด็ก แต่เราควรหันมาใช้การสร้างวินัยเชิงบวกในการอบรมสั่งสอนเด็กแทน เพราะนอกเหนือจากความเจ็บปวดระยะสั้นที่เด็กได้รับแล้ว ความรุนแรงอาจส่งผลเสียที่หนักหน่วงและยาวนานต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก และอาจทำลายศักยภาพของพวกเขาไปตลอดชีวิต พวกเราทุกคนตั้งแต่ พ่อแม่ สมาชิกชุมชน ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำทางสังคมล้วนมีบทบาทในการหยุดความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ”
การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทั้งหญิงและชายก็ยังคงเป็นปัญหาหลักทั่วโลก รายงาน “A Familiar Face” พบว่า มีเยาวชนหญิงอายุ 15-19 ปีจำนวน 15 ล้านคนถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ หรือถูกกระทำทางเพศอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จัก ทว่ามีเพียงร้อยละ 1 ของเด็กเหล่านี้เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมจากศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล 523 แห่งทั่วประเทศในปี 2558 พบว่า เด็กจำนวนเกือบ 11,000 คน หรือราว 30 คนต่อวัน เข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกกระทำรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ โดย 9 ใน 10 คนถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จัก
“ภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลกเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กทารกถูกตบหน้า เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือวัยรุ่นถูกฆาตกรรมในชุมชนของตนก็ตาม จะเห็นได้ว่าความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยแทบไม่มีขอบเขตจำกัด” คอร์นีเลียส วิลเลียมส์ หัวหน้าใหญ่ฝ่ายคุ้มครองเด็กของยูนิเซฟ กล่าว
ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก รวมถึงสนับสนุนแนวปฏิบัติ ‘INSPIRE’ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และพันธมิตรเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก (Global Partnership to End Violence Against Children) โดยมีข้อเสนอแนะในการดำเนินการดังต่อไปนี้
จัดทำแผนงานระดับชาติเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก ที่มีการประสานเชื่อมโยงภาคการศึกษา สวัสดิการทางสังคม ระบบสุขภาพ ระบบยุติธรรม รวมถึงชุมชนและตัวเด็กเอง
เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และจัดการกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมที่ยอมรับความรุนแรง การขาดกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสม บริการรองรับที่ไม่เพียงพอ และการขาดการลงทุนในระบบที่ป้องกันและจัดการกับความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลักดันการลดพฤติกรรมรุนแรง การลดความเหลื่อมล้ำ การจำกัดการเข้าถึงอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ ให้เป็นนโยบายแห่งชาติ
สร้างระบบบริการทางสังคมและฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ในการให้คำปรึกษาและบำบัดเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงการส่งต่อผู้เสียหายให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
ให้ความรู้แก่เด็ก ผู้ปกครอง ครู และสมาชิกในชุมชนเพื่อให้ตระหนักถึงความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมทั้งเสริมพลังให้มีการร้องเรียนและรายงานความรุนแรงได้อย่างปลอดภัย
เก็บรวบรวมข้อมูลด้านความรุนแรงต่อเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตรวจสอบความคืบหน้าผ่านการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ
แสดงความคิดเห็น