Posted: 17 Nov 2017 11:16 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแจงเหตุเชิญตัวแกนนำชาวสวนยางเข้าค่ายทหาร ย้ำเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ แนะมีช่องทางยื่นข้อเรียกร้องในระดับพื้นที่ พร้อมแสดงความเป็นห่วงสื่อนำเสนอข่าวลดความเชื่อมั่นประเทศ
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่า พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงข่าวเรื่องแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปค่ายทหาร เพื่อไม่ให้เดินทางเข้ามาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำใน กทม. ว่า “รัฐบาลไม่เคยห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือเสนอข้อเรียกร้องแต่อย่างใด และยังได้จัดกลไกรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับอำเภอถึงจังหวัด ผ่านศูนย์ดำรงธรรมและหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย ขณะเดียวกันก็มีช่องทางสื่อมวลชนที่แกนนำใช้สะท้อนความต้องการมายังรัฐบาลเป็นรายวันอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงพยายามจะเดินขบวนเข้ามาใน กทม.
การที่อ้างว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ อยากให้เสนอมาว่าหากเป็นท่านเองจะทำอย่างไร จะได้ร่วมกันปรึกษาหารือด้วยเหตุผล โดยไม่นำความเดือดร้อนของชาวสวนยางมาสร้างประเด็นทางการเมือง และแม้จะมีความเห็นออกมาแล้วบ้าง เช่น ควรทำให้การยางแห่งประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 6 ก็ต้องย้อนไปดูด้วยว่าประเทศมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐต้องดูแล หรือหากทำแล้วรัฐจะกลายเป็นคู่แข่งของเอกชน จนถูกมองว่าไปทำลายกลไกตลาดหรือไม่”
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลและ คสช. ยินดีรับฟังข้อเสนอของทั้งพรรคการเมืองและนักกฎหมาย เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจึงอาจทำให้ข้อมูลและวิธีคิดแตกต่างกัน โดยอยากให้นำเสนอข้อเรียกร้องด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ควรเดินขบวนหรือชุมนุม แต่การแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ส่วนการเชิญตัวแกนนำไปค่ายทหารนั้นยืนยันว่า เป็นการพูดคุยทำความเข้าใจกัน ไม่ใช่การข่มขู่หรือทำร้าย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเป็นห่วงเรื่องการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ที่ระบุว่า เสรีภาพของสื่อออนไลน์ไทยถูกลดอันดับ และเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศสังคมนิยมบางประเทศ โดยอยากให้สังคมร่วมกันคิดว่า รัฐบาลใช้อำนาจกับสื่อมากเกินไปจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาตามความเป็นจริงจะพบว่า วันนี้สื่อมวลชนยังมีเสรีภาพอย่างมาก ส่วนการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันคงไม่ถูกต้องนัก มิหนำซ้ำในบางประเทศมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดมากกว่าไทย แม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตยก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศและเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังต่างประเทศ แต่ต้อง ยอมรับว่าการใช้สื่อออนไลน์ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิด หลอกลวง ฉ้อโกง โป๊ หมิ่นประมาท ขายสินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกประเทศจึงต้องมีกฎหมายควบคุมเรื่องเหล่านี้
“สื่อออนไลน์และผู้ใช้งานควรร่วมกันคิดด้วยว่า จะปฏิรูปสื่อและสร้างสรรค์สังคมอย่างไร และต้องไม่ให้ตนเองกลายเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้ง หรือนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความเสียหายทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ”
แสดงความคิดเห็น