“คุณพ่อคุณแม่เฮลิคอปเตอร์” หมายถึงผู้ปกครองคอยวนเวียนดูแลบุตรหลานโดยไม่ยอมปล่อยมือ
ที่อเมริกาผู้ที่สนใจการศึกษาของลูกจำนวนไม่น้อยคุ้นเคยกับคำว่า “Tiger Mom” โดยเฉพาะจากหนังสือ Battle Hymn of the Tiger Mother ของ Amy Chau อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล เมื่อ 6 ปีก่อน ที่พูดถึงการเลี้ยงลูกของคนเชื้อสายเอเชีย ผ่านประสบการณ์ตรงของเธอที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถึงสองปริญญา
บ่อยครั้ง “Tiger Mom” จึงสะท้อนถึงคุณแม่ที่เคร่งครัดเรื่องการเรียนและความสำเร็จทางการศึกษาของลูก
คำเรียกผู้ปกครองที่มีลักษณะเข้าข่ายดังกล่าว อีกคำหนึ่งที่คนใช้ทั่วไป ไม่เน้นถึงคนเชื้อสายเอเชีย คือ “Helicopter Parents”
"คุณพ่อคุณแม่เฮลิคอปเตอร์" ในที่นี้หมายถึงผู้ปกครองคอยวนเวียนดูแลบุตรหลานโดยไม่ยอมปล่อยมือนั้น เริ่มใช้กันในสหรัฐฯ นานกว่า “Tiger Mom” คือเกิดขึ้น เมื่อราว 40 ปีที่แล้ว
ผู้สื่อข่าววีโอเอ Max Cotton พูดคุยกับนักการศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้
คุณแม่ของ แม็คคินซี่ โทบิน นักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัย Pennsylvania State University เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “Helicopter Parents”
แม็คคินซี่ บอกว่า แต่ละวันจะต้องคุยโทรศัพท์กับคุณแม่ 5 ครั้ง และนักศึกษาผู้นี้รู้สึกกลัวที่ต้องทำอะไรหลายอย่างเป็นครั้งแรกในชีวิต เช่น การกรอกข้อมูลยาที่รับประทานให้กับเภสัชกร เพราะก่อนหน้านี้แม่ของเธอทำให้หมด
อาจารย์ Holy Schiffrin ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Mary Baldwin ทีเมืองเฟรดเดอริคเบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย กล่าวว่า นักศึกษาทั่วไปต้องเผชิญกับเหตุการณ์สร้างความกระวนกระวายใจมากมาย เพราะชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ต้องแยกจากครอบครัวมาอยู่ห่างกันเป็นครั้งแรก
Julie Lythcott-Haims ผู้เขียนหนังสือชื่อ "How to Raise an Adult: Break Free of the Overparenting Trap and Prepare Your Kids for Success" เคยเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ขณะที่เป็นผู้รับผิดชอบกิจการนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัย Stanford สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เธอสังเกตเห็นว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว มักมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและเก่งด้านวิชาการ แต่หลายคนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องคำปรึกษาแนะนำ การแก้ปัญหา รวมทั้งการตัดสินใจ
นักเขียนผู้นี้เองยอมรับด้วยว่า เธอได้พบว่าตนก็เป็น “Helicopter Parents” ประเภทหนึ่งเช่นกัน จากการที่เธอยังคอยหั่นเนื้อสำหรับอาหารมื้อเย็นให้บุตรชายวัย 10 ปี แทนที่จะสอนให้ลูกรู้จักทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
การศึกษาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Child and Family Studies ระบุว่า นักเรียนนักศึกษาที่ถูกผู้ปกครองดูแลแบบไม่ปล่อย อาจมีความเสี่ยงต่อความรู้สึกว่าตนยังขาดบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเสมอๆ
ขณะเดียวกัน เลนอร์ สเก็นาซี่ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Free Range Kids และประธาน กลุ่ม Let Grow ที่ส่งเสริมการลดการเลี้ยงดูบุตรแบบควบคุมติด กล่าวว่า เด็กที่ขาดโอกาสให้มีการเติบโตด้านอารมณ์ อาจเกิดระดับความกระวนกระวายใจในเรื่องต่างๆ สูง
Julie Lythcott-Haims ผู้เขียนหนังสือ How to Raise an Adult เตือนว่า การทำตนเป็น Helicopter Parent นั้น แม้อาจจะสร้างผลดีในระยะสั้น เช่น ช่วยให้การบ้านเสร็จทันเวลา หรือทำให้เด็กรอดพ้นจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกก็ตาม
แต่ผลเสียในระยะยาว คือจะทำให้เด็กเหล่านี้ขาดทักษะและการเรียนรู้ การปรับตัว และการตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงสำหรับการเตรียมตัวเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริงในที่สุด
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Max Cotton)
http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166099455606317979
แสดงความคิดเห็น