Posted: 31 Oct 2017 11:03 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เจษฎา บัวบาล
ความหมายของ “โลกวัชชะ” ถูกบิดเบือนให้กลายเป็น “พฤติกรรมที่ชาวโลกติเตียน” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มบุคคลในการจัดการพระภิกษุที่ประพฤติต่างออกไป ปัญหาจึงไม่ได้อยู่แค่การแปลความหมายของศัพท์ที่ผิด แต่ยังรวมถึงการไม่สามารถตัดสินได้ว่า “ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าพฤติกรรมนั้นควร-ไม่ควร ในท่ามกลางสังคมที่หลากหลาย
ความย่อหย่อนในวินัยสงฆ์เป็นเหตุให้ชาวบ้านติเตียน (โลกวัชชะ) และทำให้ศาสนาเสื่อม กลายเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้เรื่อยมา ที่เห็นได้ชัดคือ นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) ในปี 2557 และการออกประกาศของมหาเถรสมาคมเรื่องควบคุมพฤติกรรมพระสงฆ์เมื่อเดือนกันยายน 2560 บทความนี้มุ่งอภิปรายเหตุผลของการต้องปฏิรูปพระสงฆ์และการใช้คำว่า โลกวัชชะ ในนิยามของสังคมไทยซึ่งถูกนำมาตีความใหม่เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐและองค์กรสงฆ์ซึ่งไม่สอดรับกับประชาธิปไตย
ทำไมต้องปฏิรูปพระ?
พระสงฆ์ในสังคมไทยมิใช่แค่นักพรต (ascetics) ผู้ซึ่งหลีกหนีความวุ่นวายทางโลกเพื่อเข้าสู่ป่าอันเป็นพรมแดนที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว ณ ชมพูทวีป แต่เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐชาติและกลายเป็นสถาบันหนึ่งที่ช่วยขับเน้นอัตลักษณ์ของการสร้างชาติและความเป็นไทย แม้จะพระป่าเองก็ถูกรวบเข้าสู่อำนาจรัฐและมีช่วยสร้างสำนึกความเป็นไทยแก่พุทธศาสนิกตั้งแต่อดีต (Taylor, 1993)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจบริหารของมหาเถรสมาคมจากส่วนกลางที่ลดหลั่งกันมาโดยมีการให้คุณ ให้โทษผ่านการเลื่อนตำแหน่งบริหารปกครอง/สมณศักดิ์ ตลอดจนการตักเตือนหรือไล่สึก ได้ลดทอนความหลากหลายในการตีความคำสอนและรูปแบบปฏิบัติลง เพราะต้องกำหนดให้เป็นแบบแผนอันเดียว คือ พุทธศาสนาแท้ในแบบที่รัฐกำหนด ดังตัวอย่างการใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการกับสันติอโศกและธรรมกายเป็นต้น (Rory, 2007)
การผนวกความเชื่อที่ว่า “พระสงฆ์ที่ดีเป็นเนื้อนาบุญ” และ “พระสงฆ์ธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมของชาติ” นำไปสู่การต้องรู้สึกว่า ทุกคนต้องช่วยกันชำระพระสงฆ์ให้สะอาด เพื่อเป็นแบบอย่างอันเป็นปูชนียบุคคลของสังคมและเป็นผู้ควรแก่การรับวัตถุทานอันจะส่งผลเป็นบุญมหาศาลในอนาคต สิ่งนี้กลายเป็นแรงจูงใจในการพยายามตรวจสอบพฤติกรรมพระ ใช้อำนาจรัฐในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและจัดการคนเห็นต่างซึ่งอาจเรียกว่า เดียรถีย์/อลัชชีปลอมบวช และโมเดลนี้ถูกยกให้เป็นหน้าที่หนึ่งของธรรมราชาหรือผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองในการพิทักษ์พุทธศาสนา (Swearer, 2010)
จนลืมไปว่า ความเชื่อ (รวมทั้งวิธีปฏิบัติธรรม) เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ไม่ควรถูกละเมิด การจับสึกให้พ้นสภาพนักบวชตามอุดมคติของตนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หากท่านรูปนั้นมิได้กระทำผิดกฎหมายร้ายแรงของบ้านเมือง แต่เพราะพระสงฆ์ถูกควบคุมมิให้หลากหลาย และที่สำคัญ การเคารพความเป็นปัจเจก (privacy) และความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไม่ได้ถูกเน้นเท่ากับคุณธรรม การตรวจสอบจับผิดและจัดการให้เป็นแบบเดียวกัน การล่าแม่มดและจับสึกคนคิดต่างในฐานะเป็นผู้ทำลายความงดงามของพุทธศาสนาจึงมีให้เห็นตราบจนปัจจุบัน
ความหมายที่บิดเบือนของ “โลกวัชชะ”
โลกวัชชะในนิยามของคนไทยหมายถึงพฤติกรรมด้านลบของพระสงฆ์ที่ “ชาวโลกติเตียน” ดังนั้น จึงหมายรวมเอาพฤติกรรมทุกอย่างตั้งแต่กิริยาไม่สำรวมเล็กๆน้อยๆ เช่น หัวเราะเสียงดัง สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ จนกระทั่งการความผิดใหญ่ เช่น เสพยาบ้าและโกงเงินบริจาค เป็นต้น โลกวัชชะจึงถูกใช้แบบครอบคลุมทุกสถานการณ์จนลืมความหมายดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ไปเสีย
“โลกวัชชะ” (Pakati-vajja/Lokavajja) หมายถึงความผิดตามธรรมชาติ (wrong by their very nature, common sin) ซึ่งชาวโลกทั่วไปยอมรับกันอย่างสากลว่า เป็นการกระทำที่ผิด คือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น ฆ่าคน ฉ้อโกง ละเมิดทางเพศ เป็นต้น โลกวัชชะหรือปกติวัชชะเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “ปัณณัตติวัชชะ” (Pannatti-vajja) ที่แปลว่า มีโทษตามพระวินัย (wrong because the Buddha has established so) (Asanga Tilakaratne, 2008, p. 10) กล่าวคือ เป็นพฤติกรรมที่ดูไม่เหมาะสมและเป็นความผิดตามพระบัญญัติทางศาสนา เช่น พระภิกษุฉันอาหารตอนเย็น แม้ถือเป็นเรื่องปกติในทางโลกซึ่งปกติแล้วการกินอาหารตอนเย็นไม่ควรถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ แต่เมื่อท่านเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ก็ถือเป็นความผิดทางพระบัญญัติ
การกินอาหารตอนเย็นของพระสงฆ์เป็นความผิดแบบ “ปัณณัติวัชชะ” ซึ่งเป็นกฎพิเศษที่พระพุทธเจ้ากำหนดขึ้นเพื่อสร้างบรรทัดฐานของสังคมสงฆ์เท่านั้น มิใช่ความผิดตามธรรมชาติที่ให้โทษหรือทำร้ายผู้ใด ฉะนั้นสิ่งนี้จึงมิใช่ “โลกวัชชะ” ในแบบที่คนไทยเข้าใจ กล่าวให้ชัดคือ โลกวัชชะ เป็นโทษหรือความผิดที่มีลักษณะเป็นสากล (common sin) ซึ่งทุกคนยอมรับหรือตกลงร่วมกันได้ง่ายเพราะเป็นการละเมิดสิทธิต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้อื่น ส่วนปัณณัติวัชชะเป็นความผิดของคนบางกลุ่มซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่กลุ่มของตนเท่านั้น
การใช้คำว่า โลกวัชชะ แบบไทยเพื่อสื่อถึง “พฤติกรรมที่ชาวบ้านติเตียน” (blamed by people) แทนความหมายดั้งเดิมคือ การผิดศีลธรรมแบบสากล (universal moral codes) เกิดขึ้นเมื่อใดเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก อย่างน้อยที่สุด ความหมายในแง่นี้ได้ถูกกล่าวถึงในพจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) หน้า 260 เช่นกัน ว่า “โลกวัชชะ” อาบัติที่เป็นโทษทางโลก คือ คนสามัญที่ไม่ใช่ภิกษุทำก็เป็นความผิดเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น “บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น” (เน้นคำโดยผู้เขียน) ผลเสียของการนำนิยามที่สองนี้ไปใช้ จะกล่าวถึงในข้อ “ใครคือผู้กำหนดความเหมาะสมพฤติกรรมของพระ?”
พุทธวินัยไม่ใช่เรื่องสากล
อรรถกถาพระวินัยสมันตปาสาทิกา อธิบายไว้ว่า “บรรดาโทษสองอย่างนั้น สิกขาบทใดในฝ่ายสจิตตกะ (มีเจตนาจงใจกระทำ) มีจิตเป็นอกุศลล้วน (เจตนาร้าย) สิกขาบทนั้นชื่อว่าเป็น โลกวัชชะ ที่เหลือ (ตรงกันข้าม) จัดเป็น ปัณณัตติวัชชะ” (อรรถกถาปฐมปาราชิกสิกขาบท มักกฏีวัตถุกถา)
อีกอย่างหนึ่ง โลกวัชชะ เป็นการกระทำที่ทำอันตราย (harmful/antarayika) ต่อสวรรค์และนิพพาน ส่วน ปัณณัติวัชชะ มิได้ทำอันตรายต่อสิ่งเหล่านั้น (anantarayika) (Samantapasadika, Vol. III, p. 1319) พูดกันอย่างถึงที่สุดคือ การละเมิดอาบัติพระวินัย เช่น กินข้าวในตอนเย็น ไม่ได้ขัดขวางการบรรลุธรรม เป็นแต่เพียงการละเมิดจารีตที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของพระสงฆ์เท่านั้น
เป็นไปได้ว่า พระพุทธเจ้าเองก็ยอมรับความไม่เป็นสากลของศาสนา จึงยอมรับให้พระสงฆ์ที่แม้บวชเข้ามาในศาสนาแล้วก็ยังต้องรับโทษที่เป็นโลกวัชชะ เพราะการบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อจะเกิดขึ้นเมื่อพระสงฆ์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พระองค์มิได้อ้างความเป็นสัพพัญญูแล้วบัญญัติกฎระเบียบขึ้นอย่างสมบูรณ์คราวเดียว โลกวัชชะ (universal moral codes) จึงเป็นกฎสำคัญที่พระสงฆ์ต้องยึดถือในฐานะพลเมืองของรัฐนั้นๆ เช่นเดียวกับฆราวาสทั่วไป ส่วนสิกขาบทที่บัญญัติขึ้นมิได้เป็นสากล หากแต่กำหนดใช้กับพระภิกษุเท่านั้น ซึ่งก็ต้องปรับตามสภาพวัฒนธรรม สังคม และช่วงเวลาของประเทศนั้นๆ (Kaushlya Karunasagara, 2014)
ใครคือผู้กำหนดความเหมาะสมพฤติกรรมของพระ?
การแปลความหมายของ โลกวัชชะ ว่าเป็น “พฤติกรรมที่ชาวบ้านติเตียน” ทำให้ชาวพุทธเข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมทุกอย่างที่ชาวบ้านติเตียนย่อมไม่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่การกำหนดเป็นวินัยของพระสงฆ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่า สิกขาบทหลายข้อก็เกิดจากการติเตียนของชาวบ้าน เช่น ต้องกำหนดให้พระสงฆ์เข้าพรรษาเพราะชาวบ้านติเตียนและปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ละเมิด (วัสสูปนายิกขันธกะ วินัยปิฎก เล่ม 4) แต่ผู้จะมีสิทธิกำหนดสิกขาบทเพิ่มเติมขึ้นมีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น มิใช่พระสงฆ์หรือผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสห้ามพระสารีบุตรผู้ทูลขอให้บัญญัติสิกขาบทว่า “จงรอก่อนสารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีนั้น” (วินัยปิฎก เล่ม 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 ข้อ 8) และเมื่อจะปรินิพพาน ก็มิได้ยกความเป็นใหญ่ให้ผู้ใด หากแต่ให้ถือพระธรรมและวินัยที่พระองค์เคยกำหนดไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์ (สุตตันตปิฎก เล่มที่ 10 ข้อ 141)
แต่หากมองว่าพระวินัยเป็นเพียงสมมติบัญญัติ ที่สามารถยกเลิกหรือแก้ไขได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตไว้ว่า ดูกรอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา หากสงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ (สุตตันตปิฎก เล่มที่ 10 ข้อ 141) สิ่งนี้ก็ถูกพระมหากัสสปะและพระอรหันต์ 500 รูปสมัยทำสังคายนาครั้งที่ 1 ปฏิเสธไปเสียแล้ว เพราะไม่ทราบว่าอาบัติใดคืออาบัติหนักและอาบัติใดเล็กน้อย จึงกลายเป็นอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทว่าจะไม่เพิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ และจะไม่บัญญัติเพิ่มสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ (วินัยปิฎก เล่มที่ 7 ข้อ 621)
ที่น่าสนใจคือ การอ้างว่าจะธำรงไว้ซึ่งสิกขาบทโดยไม่ลดทอนหรือกำหนดเพิ่มเติมถูกนำมาอ้างบ่อยครั้งในสังคมไทย เช่น กรณีให้มีผู้ขอให้พระสงฆ์ทำการบวชภิกษุณีโดยใช้พระสงฆ์ผู้ชายเพียงฝ่ายเดียว มิต้องให้มีพระอุปัชฌาย์ที่เป็นภิกษุณีผู้หญิงจะได้หรือไม่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็ตอบในทำนองว่า จะทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ของความเป็นพุทธศาสนาเถรวาท เพราะเป็นนิกายที่ยืนยันจะรักษาขนบเดิมแบบไม่เพิ่มเติมหรือตัดลดสิกขาบทใดๆ (ป.อ.ปยุตฺโต, 2554, น. 8-10)
แต่น่าแปลกใจว่า ข้อกล่าวอ้างแบบเดียวกันนี้มิได้ถูกหยิบยกมาใช้เมื่อต้องการออกระเบียบอื่นๆ มาควบคุมพฤติกรรมของพระสงฆ์ เช่น ห้ามใช้กล้องถ่ายรูปในที่สาธารณะ ห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนห้ามแสดงกิริยาอาการที่ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตน เป็นต้น (มติชนออนไลน์, 2560) พระพุทธโฆษาจารย์ให้เหตุผลในกรณีที่รัฐหรือองค์กรสงฆ์ออกระเบียบกติกาขึ้นว่ามีความชอบธรรม หากสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อหนุนหรือส่งเสริมการรักษาพุทธบัญญัติ (ป.อ.ปยุตฺโต, 2554, น, 19)
ทั้งนี้ เหตุผลดังกล่าวนี้ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะใครเล่าจะเป็นผู้ชี้ว่าระเบียบกติกานั้นสอดคล้องกับพระวินัยและเป็นไปเพื่อความมั่นคงของศาสนา ไฉนการจะออกระเบียบใหม่เพื่อส่งเสริมการบวชภิกษุณีเพื่อช่วยทำงานเผยแผ่จึงถูกมองว่าเป็นการทำลายศาสนาเป็นต้น สรุปคือ การตัดสินว่าสิ่งใดควรเพิ่มเติมหรือเพิกถอนได้นั้นขึ้นอยู่กับชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม และมักอ้างความมั่นคงของศาสนาโดยโยงว่าเป็นพฤติกรรมที่ “ชาวโลกติเตียน” แล้วเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการ
การแสดงกิริยาอาการที่ไม่สอดคล้องต่อเพศกำเนิดของตนเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาเพราะมีความคลุมเครืออย่างมาก ด้านวินัยเองก็ยังมิได้วินิจฉัยกันชัดว่า บัณเฑาะก์หรืออุภโตพยัญชนกคือบุคคลประเภทใดกันแน่ กิริยาอาการบางอย่างถูกตีความว่าส่อลักษณะคนข้ามเพศ ซึ่งก็ยังมิได้พิสูจน์ว่าพระรูปนั้นเป็นบัณเฑาะก์หรืออุภโตพยัญชนะจริงหรือไม่ แต่สังคมก็พร้อมจะประณามและส่งเสริมให้เข้าจัดการกับผู้นั้นโดยใช้มายาคติเรื่องเพศสภาพที่มองว่าผิดปกติทางเพศมากกว่าเป็นเพศทางเลือกหรือพฤติกรรมที่หลากหลายมิใช่แค่แบ่ง หญิง-ชาย
การอ้างโลกวัชชะเพื่อปฏิรูปพระสงฆ์ด้วยนิยามที่ว่า “ชาวบ้านติเตียน” ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะชาวบ้านมีหลายกลุ่ม ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และจากการศึกษาในทางมานุษยวิทยา ชาวบ้านทั่วไปกลับคุ้นเคยกับพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นและยังให้ความเคารพ ถวายอาหารบิณฑบาต ตลอดจนรับเป็นโยมอุปัฏฐาก บางรูปเป็นพระนักเทศน์ ทำงานเก่ง และเป็นศูนย์รวมศรัทธาได้ไม่ด้อยไปกว่าพระที่มีพฤติกรรมชายแท้ในสายตาของคนไทย ดังนั้น การอ้างว่าพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมหรือชาวบ้านติเตียนจึงเป็นการมองจากมุมเดียวหรือคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมิใช่คนส่วนใหญ่และมิใช่ชาวบ้านในชุมชนที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับพระนั้นโดยตรง (Jesada Buaban, 2016)
ความย้อนแย้งของเถรวาทแบบไทยและทางออก
หากยึดความหมายของโลกวัชชะว่า “โลกติเตียน” แล้วต้องจับพระที่ดื่มเหล้าสึก ทั้งที่โทษตามวินัยกำหนดให้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การรับเงินทองยังเป็นโทษที่หนักกว่าคือ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ก็มิต้องถูกลงโทษทั้งที่คนไทยไม่น้อยก็ติเตียนพฤติกรรมเช่นนี้ หากใช้บรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อมีผู้ตำหนิว่า พระใช้โทรศัพท์ราคาแพง มีรถหรู หรือ รับตำแหน่งแบบราชการเหมือนฆราวาส เป็นต้น ก็ควรจะต้องจับพระเหล่านั้นสึกด้วยหรือไม่ สิ่งนี้สะท้อนว่า สังคมไทยไม่มีบรรทัดฐานในการเอาผิดผู้กระทำที่พอจะยอมรับได้แบบสากล จึงกลายเป็นว่า ความผิด-ชอบ หรือออกข้อกำหนดต่างๆ กลายเป็นเครื่องมือของผู้อำนาจที่ใช้จัดการกับคนบางคนเท่านั้น
หากชาวพุทธไทยจะปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ซึ่งซับซ้อนขึ้นก็ทำได้โดยการกลับไปยึดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ให้พระสงฆ์ตกลงกันปรับเปลี่ยนอาบัติเล็กน้อยได้ แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า กรรมการมหาเถรสมาคมมิใช่ตัวแทนของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ เพราะเป็นตำแหน่งที่ได้มาด้วยการแต่งตั้ง มิใช่การเลือกซึ่งเป็นมติส่วนใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวให้สั้นคือ หากจะให้ระเบียบหรือข้อกำหนดใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับพระวินัย จะต้องปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย หรือต่อให้เป็นแบบเดิมก็ต้องหาวิธีทำให้มติเหล่านี้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของพระสงฆ์โดยรวม
อย่างไรก็ตาม แม้การปกครองคณะสงฆ์จะเป็นประชาธิปไตย แต่การกำหนดพระวินัยหรือข้อปฏิบัติเพิ่มเติมยังต้องคำนึงถึงบริบทของท้องที่และช่วงเวลา ดังตัวอย่างของการกำหนดอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้อาบน้ำก่อนช่วงเวลาครึ่งเดือน แต่ยอมให้ในกรณีที่เป็นหน้าร้อน (หรือเมืองร้อน) ภิกษุที่เหนื่อยจากการทำงาน ภิกษุเดินทาง เป็นต้น (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ภาค 2 สุราปานวรรค สิกขาบทที่ 7) จะเห็นว่าวินัยมีความยืดหยุ่นและต้องปรับตามกาละและเทศะ ดังนั้นการออกระเบียบปฏิบัติแบบตายตัวเพื่อครอบคลุมพระสงฆ์ทุกรูปในอาณาจักรจึงเป็นสิ่งที่แย้งต่อความเป็นจริง
สุธี ชล นักศึกษาปริญญาเอกด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เสนอว่า การแยกคณะสงฆ์ออกจากรัฐ โดยทำให้เป็นองค์กรเอกชน (privatized organizations) โดยให้พระสงฆ์แต่ละกลุ่มปกครองกันเองตามสายอุปัชฌาย์มีความสอดรับกับพระธรรมวินัยและรัฐสมัยใหม่มากกว่า ดังตัวอย่างการทำสังคายนาของพระมหากัสสปะ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงการตกลงกันของพระอรหันต์ 500 รูปเท่านั้น มิใช่พระสงฆ์ทุกกลุ่มจะเห็นด้วยกับการทำสังคายนาครั้งนั้น อย่างน้อยก็ท่านปุราณะซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งมีสานุศิษย์จำนวนมากได้เห็นแย้งและยืนยันจะปฏิบัติตามรูปแบบของตน ซึ่งท่านก็อ้างว่าได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าและไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านกัสสปะเสนอ ประเด็นที่น่าสนใจคือ พระมหากัสสปะก็มิได้ใช้อำนาจรัฐเพื่อเข้าจัดการกับท่านปุราณะและกลุ่มภิกษุอื่นๆ ที่เห็นต่างออกไป
กล่าวโดยสรุป โลกวัชชะ ควรถูกกล่าวถึงด้วยความหมายเดิมคือ โทษหรือความผิดที่เป็นสากลซึ่งทุกคนยอมรับร่วมกันได้ (universal moral codes) มิใช่แปลแบบบิดเบือนและนำมาอ้างเพื่อจัดการความหลากหลายของศาสนาเพียงเพราะพฤติกรรมนั้นมีผู้ติเตียน เพราะในสังคมที่หลากหลาย ไม่มีพฤติกรรมใดที่ไม่มีผู้ติเตียน ความหมายเดิมนี้จะช่วยลดพฤติกรรมการตัดสิน/จับผิดผู้อื่นตามกรอบจารีตและการตีความของตน
ฉะนั้นการเคารพในการตัดสินใจที่จะเลือกนักถือและปฏิบัติศาสนกิจของปัจเจกบุคคลควรถูกเน้นย้ำให้มากขึ้น เพื่อศาสนาจะสามารถปรับตัวรับกับความหลากหลาย ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็มิใช่สิ่งใหม่ หากแต่เป็นวิถีที่พบได้ในสมัยพุทธกาลและลักษณะที่ยืดหยุ่นของพระวินัย ซึ่งไปกันได้กับรัฐสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสรีนิยมประชาธิปไตย
อ้างอิง
Asanga Tilakaratne. (2008). Thinking of Foundation and Justification of Buddhist Ethics, The Journal of International Association of Buddhist Universities. Bangkok: Mahachulalongkornrajavidayalaya University.
Jesada Buaban. (2016). Purple Buddhism: Social Acceptability of Gay Monks in Thai Theravada Tradition. A paper presented in the international conference on Thai Studies, Chulalongkorn University, Bangkok. In the theme of Globalized Thailand (Institute of Thai Studies).
Kaushlya Karunasagara. (2014). Demonstrate the Aims of Promulgating Vinaya in the Buddhist Dispensation.
Rory, M. (2007). New Buddhist Movements in Thailand: Towards an Understanding of Wat Phra Dhammakaya and Santi Asoke. New York, Routledge.
Swearer, Donald K. (2010). The Buddhist World of Southeast Asia. NY: State University of New York Press.
Taylor, J.L. (1993). Forest Monks and the Nation-State: An Anthropological and Historical Study in Northeastern Thailand. Singapore, Institute of Southeast Asian Studies.
ป.อ.ปยุตฺโต (พระเทพเวที). (2538). พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
-------------- (พระพรหมคุณาภรณ์). (2554). ตอบ ดร.มาร์ติน: พุทธวินัยถึงภิกษุณี. พิมพ์ครั้งที่ 2, ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์.
มติชนออนไลน์. (2560). เอาจริง!! เจ้าคณะปกครองแจ้ง ‘พระ-เณร’ ห้ามแสดงออกผิดเพศ-เล่นเฟซ-กดไลค์-แชร์-วิจารณ์สถาบัน ใครละเมิดถูกลงโทษ. ศาสนา-วัฒนธรรม 1 ตุลาคม 2560. เข้าถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จากเว็บไซด์ https://www.matichon.co.th/news/681419
แสดงความคิดเห็น