25 พ.ค. 2557 กรุงเทพฯ (แฟ้มภาพ)
Posted: 17 Nov 2017 02:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: เรียบเรียง

พวงทองเปิดประเด็นจากบทเริ่มต้นงานวิจัยเรื่องกิจการพลเรือนของทหาร ชี้หลังสงครามเย็น กอ.รมน. ยังมีส่วนในการจัดตั้งมวลชนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้จัดตั้งเฉพาะมวลชนในต่างจังหวัด แต่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ไปจนถึงผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์-รถออฟโรด เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ราชาชาตินิยม

สองวันก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่ชื่อว่า “กฎอัยการศึก” เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ ในช่วงสองวันดังกล่าวไม่ได้มีเพียงการเรียกตัวนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งแกนนำเสื้อแดง และแกนนำ กปปส. เข้าพูดคุยเจรจา โดยมีท่าทีเสมือนว่าเป็นการหาทางออกให้กับประเทศในภาวะวิกฤติที่ถูกดันจนมาถึงทางตันเพียงเท่านั้น หากแต่กลไกการทำงานของทหารยังกว้างขวางออกไปในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือด้วย

ขณะที่มีการปิดห้องประชุมพูดคุยที่สโมสรกองทัพบกที่กรุงเทพฯ ช่วงเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารหลายจังหวัดได้เข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านสีแดง เพื่อที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ พร้อมกับเชิญตัวแกนนำเสื้อแดงหลายคนเข้าไปในค่ายทหารเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร บางคนโชคดีได้นอนค้างคืนในค่ายทหาร แต่บางคนโชคร้ายไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว เพียงถูกเรียกไปพูดคุยและได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้าน พร้อมกับการติดตามสอดส่องอย่างใกล้ชิด

ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคำถามสำคัญไว้ในงานเสวนาที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า “กิจการพลเรือนของทหาร: จากยุคต้านคอมมิวนิสต์ สู่ยุคต้านประชาธิปไตย” คำถามที่ว่าคือ เจ้าหน้าที่ทหารรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปยุติความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ไหนบ้าง และรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นแกนนำคนเสื้อแดงในระดับพื้นที่ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และหากเป็นเช่นนั้นคำถามที่ตามมาคือ เมื่อไหร่กันที่พวกเขาเริ่มต้นการทำงานในลักษณะนี้ และนี่คือภาพสะท้อนหรือไม่ว่า ทหารได้ทำกิจการพลเรือนอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

งานดังกล่าวจัดในช่วงเย็นของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางผู้ฟังทั้ง นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน สื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามารับฟัง พร้อมบันทึกภาพวิทยากร และผู้ร่วมฟังเสวนาตลอดงาน สำหรับงานนี้เป็นการนำเสนองานวิจัยชิ้นบทเริ่มต้นงานวิจัยของพวงทอง ซึ่งเป็นงานที่สืบเนื่องมาจากการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ICTS 2017 จัดขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่

สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง


ความเป็นมาของกิจการพลเรือนมาจากอะไร บริบทความขัดแย้งทางการเมืองแบบไหนที่ทำให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในกิจการพลเรือน อะไรคือความชอบธรรมทางการเมือง และความชอบธรรมทางกฎหมายที่ถูกเอามาใช้เพื่อขยายอำนาจหน้าที่ของกองทัพ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พวงทอง กำลังจะพาเราไปค้นหาคำตอบ

00000

จุดเริ่มต้นการขยายบทบาทในกิจการพลเรือนของทหาร

พวงทองชี้ให้เห็นว่า กิจการพลเรือนของกองทัพนั้นเกิดขึ้นและเด่นชัดที่สุดในยุคสงครามเย็น หรือสงครามการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย โดยในช่วงเวลานั้นได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วความหมายของคำว่ากิจการพลเรือนของทัพนั้น หากจะจำกัดความก็พอจะให้ขอบเขตกับมันได้ว่าเป็น กิจการของทหารที่ไม่ใช่การต่อสู้โดยให้กำลังอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการแทรกซึมเข้าไปในชุมชน หมู่บ้าน ผ่านการจัดตั้งมวลชนให้กลายมาเป็นกลไกที่ทำงานให้กับรัฐ เช่น หมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน, ไทยอาสาป้องกันชาติ, กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ อาสาสมัครรักษาดินแดน รวมทั้งกลุ่มนวพล กระทิงแดง และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีข้อครหาว่า กอ.รมน. เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้ง



คลิปประชาสัมพันธ์การทำงานของ ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2556


คำถามที่น่าสนใจซึ่งพวงทองชี้ชวนให้คิดต่อไปคือ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการสิ้นสุดลงของสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้จะมองเห็นว่าบทบาทของ กอ.รมน. และมวลชนจัดตั้งกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะนวพล กับกระทิงแดง ค่อยๆ หายไป แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความการทำงานภายใต้โครงสร้างเดิมจะยุติไปด้วย พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่าด้วยว่า หากไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะเท่ากับว่ากองทัพไม่ได้มีการทำงานในลักษณะที่เป็นการแทรกแซงการเมืองหรือไม่

“ถ้าเรามองกองทัพเพียงในแง่ของการกุมกองกำลังอย่างเดียวเท่านั้นก็จะทำให้มองข้ามบทบาทของกองทัพในมิติอื่นๆ ในด้านการเมือง และด้านอุดมการณ์” พวงทอง กล่าว

พวงทอง อธิบายต่อไปว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่กระตือรือร้นที่สุดสำหรับการทำกิจการพลเรือนของทหาร แม้การเกิดขึ้นมาของ กอ.รมน. ในช่วงแรกจะมีภารกิจหลักเพียงอย่างเดียวคือการใช้กำลังเข้าปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นไม่ได้ทำให้สงครามสิ้นสุดลงได้ในเวลาอันสั้น จนถึงที่สุดรัฐไทยเริ่มตระหนักได้ว่าปัญหาที่ถูกเรียกว่า “ภัยคอมมิวนิสต์” ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยในยุคสงครามเย็นที่ส่งอิทธิพลเข้ามาในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากความคับแค้นของผู้คนในประเทศเอง ซึ่งถูกกดขี่ให้อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างทางเศรษฐกิจ ประกอบการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมเป็นเวลานานต่างหากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คอมมิวนิสต์แผ่ขยายอย่างน่ากังวลสำหรับรัฐไทย

“ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ได้ก็จะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ควบคู่ไปกับการใช้กำลังทหาร กลายเป็นการเพิ่มบทบาทให้กับทหารในด้านการพัฒนา และในเรื่องทางอุดมการณ์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ในเวลานั้น” พวงทอง กล่าว

ในช่วงที่ยังมีสงครามคอมมิวนิสต์ ทหารมีบทบาทในการสร้างถนนหนทาง ขุดลอกคูคลอง สร้างฝายในท้องถิ่นให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ทหารเองก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ ด้านหนึ่งเพราะกองทัพมีกองกำลังอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกแทรกซึมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมกันกับการเข้าไปเพื่อการพัฒนา กอ.รมน. เองก็ยังมีส่วนในการเข้าไปอบรมจัดตั้งมวลชน เป้าหมายนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประชาชนในท้องถิ่นให้มีความจงรักภักดีกับรัฐ พยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการจับตามองของรัฐในพื้นที่ เปลี่ยนประชาชนให้เป็นดวงตาให้กับรัฐ

“เมื่อเข้าไปดูเนื้อหาการอบรมพบว่ามีการตอกย้ำประชาชนเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลพื้นที่ และรายงานเรื่องราวผิดปกติให้กับรัฐ และบทบาทที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ การส่งเสริม สนับสนุนอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งคือ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” พวงทอง กล่าว

ความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมตามกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อต่อการขยายกิจการพลเรือนของทหาร

พวงทองอธิบายต่อไปถึงความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญที่มารองรับหน้าที่กว้างขวางออกไปของทหารโดยชี้ให้เห็นว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ระบุหน้าที่ของทหารไว้เพียงแต่ว่า รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราช และประโยชน์แห่งชาติ แต่ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2516 ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2517 ได้มีการขยายบทบาทของกำลังเพิ่มขึ้นอีก โดยระบุให้ กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบ หรือการสงคราม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามกบฏ การจราจล เพื่อรักษาความมั่นของรัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ และหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไม่ได้มีการแก้ไขบทบาทของทหารอีกเลย

ขณะที่ความชอบธรรมตามกฎหมายอื่นๆ นั้น พวงทองชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีการขยายบทบาทในด้านกิจการพลเรือนของทหารจาก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 และ 65/2526 ซึ่งแผนทางการเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด มีการชูธงว่าจะมีใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งปลูกฝังความรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ กำจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการใช้ปฏิบัติการด้านจิตวิทยาข่าวสารด้วย

“นโยบายทั้งสองเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรม ซึ่งประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติที่หน่วยงานรัฐทั้งหลายต้องนำไปปฏิบัติ โดยมี กอ.รมน. เป็นองค์กรประสานงาน ผลักดัน เสนอแนะแนวทางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ หรือสามารถที่จะเข้าไปทำงานในด้านอื่นๆ ได้” พวงทอง กล่าว

ต่อมาพวงทองได้ ระบุถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ. 2551 ซึ่งถูกผลักดันโดยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังจากรัฐประหารปี 2549 แม้ว่าจะมีชื่อเรียกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงกว้างๆ แต่เนื้อหาที่ถึงเขียนนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. ทั้งหมด และเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจกับ กอ.รมน. อย่างมหาศาล จนถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ยืนยันการมีอยู่ของสภาวะรัฐซ้อนรัฐได้อย่างชัดเจน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกประกาศไม่กี่วันก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แม้จะไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในเวลานั้นทำคือการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบังคับบัญชาภายใน กอ.รมน. โดยกำหนดให้ กอ.รมน. จังหวัดหันมาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. โดยตำแหน่ง แต่หลังจากมี พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ได้กำหนดให้ กอ.รมน. จังหวัดกลับไปขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. ภาคเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่า ทหารมีอำนาจในการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดได้

กอ.รมน. และกิจการพลเรือนในยุคสมัยปัจุจบัน

ที่ผ่านมานโยบาย 66/2523 และ 65/2526 ถูกขนานนามว่าเป็น การปักธงชัยยืนยันชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นศัตรูที่สำคัญของรัฐไทยภายใต้การปกครองของทหาร ล่าสุดช่วงต้นปี 2560 พลเอกประยุทธ์ ผู้นำคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเตรียมกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปว่าการหวนกลับมาพูดถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้งนั้นสื่อความหมายถึงอะไร

ขณะที่กระบวนการพูดคุยเพื่อเตรียมสร้างความปรองดองเดินหน้าไปจนสิ้นสุด จนได้ผลลัพท์ออกมาเป็นสัญญาประชาคม 10 ข้อที่รัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. ในการนำเสนอสัญญาข้อตกลงเหล่านั้นกับประชาชน เมื่อย้อนกลับมามองกลไกพูดคุยเพื่อเตรียมสร้างความปรองดองอีกครั้ง พวงทองชี้ให้เห็นว่า กอ.รมน. ได้เป็นกลไกหลักในการดำเนินการดังกล่าว เช่นมีหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียก หรือเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ตัวแทนกลุ่มการเมือง มาให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายหน้าที่ให้ กอ.รมน. รับผิดชอบในการประสานงานผลักดันการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้วย

นับได้ว่า กอ.รมน. เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด พวงทองยังชี้ให้เห็นต่อไปว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 มีการรายงานข่าวว่าจะมีการระดมคนกว่า 5 แสนคน ภายใต้การจัดตั้งของ กอ.รมน. ให้ออกมาช่วยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ




นอกจากนี้ พวงทองพบว่าในช่วงเวลานับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา มีความพยายามรื้อฟื้นโครงการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกับขยายขอบเขตของมวลชนจัดตั้งที่เดิมเป็นประชาชนในต่างจังหวัด ไปสู่มวลชนที่อยู่ในเมือง และมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้นำทางศาสนา กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และรถออฟโรด ขณะที่ตัวอย่างซึ่งเห็นได้ชัดคือ การออกมายอมรับว่า เบส อรพิมพ์ เป็นนักพูดของ กอ.รมน. ซึ่งรับงานเดินสายพูดให้กับข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปทั่วประเทศฟัง



เบส อรพิมพ์ รักษาผล พูดสร้างแรงบันดาลในหัวข้อ “เกิดอีกกี่สิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล”



ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลบางส่วน และกรอบการมองปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นใหม่ของพวงทอง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า กระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อะไร แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยที่กระบวนการจัดตั้งมวลชนของ กอ.รมน. ยังคงทำงาน หรือถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในยุคสมัยปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ขณะเดียวกันหลังจากการนำเสนอจบลง ได้มีผู้ร่วมเสวนาตั้งคำถามถึงกระบวนการจัดตั้งของ กอ.รมน. ว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะนำไปสู่อะไร พวงทองได้ให้ความเห็นว่า ยังไม่ปักใจเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือกระบวนการดังกล่าวคือ การสถาปนาและตอกย้ำค่านิยมหลักของสังคมไทย และอุดมการณ์ของรัฐ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่พูดได้ อะไรคือสิ่งที่ห้ามพูด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.