Posted: 17 Nov 2017 07:37 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี


เรื่องยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (The Cambodia National Rescue Party) ไม่มีอะไรเกินความคาดหมายเพราะฮุนเซนเตรียมการมานานก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยซ้ำไป แต่เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนพัฒนาการในกัมพูชาคือ

หลักนิติรัฐในกัมพูชายังไม่เกิด เพราะรัฐบาลออกกฎหมายมาเล่นงานพรรคนี้โดยเฉพาะ ประธานศาลฎีกาที่ตัดสินคดีนี้คือ ดิท มนตรี (Dith Munty) คือสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคประชาชนกัมพูชา ระบบยุติธรรมกัมพูชาเหมือนของไทยและประเทศอื่นในย่านนี้ (แม้ว่าจะพัฒนามาต่างกัน) คือตุลาการอยู่ภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ ยังแยกตัวเป็นอิสระไม่ได้อย่างแท้จริง

ระบอบการเมืองแบบพหุนิยม (หลายพรรค) ยังไม่สามารถสถาปนาได้อย่างมั่นคงในกัมพูชา แม้ว่าจะมีการวางรากฐานจากสหประชาชาตินับแต่การเลือกตั้งปี 1993 มาแล้วก็ตาม

กระแสการเมืองแบบอำนาจนิยมในโลกและภูมิภาคนี้ เป็นแรงส่งสำคัญให้ฮุนเซนสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้กับตัวเองด้วยวิธีการนี้ เขาสามารถอ้างว่าสหรัฐบ่อนทำลายความมั่นคงของเขาได้โดยทรัมป์ไม่ว่าอะไร

ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะจะแทรกแซงการเมืองกัมพูชาได้อีกต่อไป เพราะนอกจากสายสัมพันธ์ตั้งแต่รุ่นสงครามเย็นแล้ว ชนชั้นนำไทยยุคหลังๆไม่ค่อยรู้จักเขมรเท่าไหร่ คนรุ่นใหม่ที่ใกล้ชิดกับชนชันนำไทยนั้น อยู่ในสายฮุนเซน เสียเป็นส่วนใหญ่ เครือข่ายสม รังสี และเขม สุขา นั้นส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป ไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาสนิทสนมกับชนชั้นนำกลุ่มใดในประเทศไทย ในกองทัพยิ่งไม่น่าจะมี แม้ว่าจะเป็นประจักษ์ชัดว่า พวกอีลิทในกองทัพไทยจะไม่ค่อยชอบขี้หน้าฮุนเซนสักเท่าไหร่ (หน้าฉากก็ทำตัวอี๋อ๋อหนิดหนมไปอย่างนั้นแหละ) แต่ดูเหมือนไม่คิดจะหาทางเลือกอื่น

แต่สังคมเขมรทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ครองอำนาจ (เกิดยุคหลังเขมรแดงอายุ 35 ปีลงมาเป็นส่วนใหญ่) พวกเขาไม่ได้เกลียดฮุนเซน แต่ไม่ได้คลั่งไคล้เท่าไหร่ ที่สำคัญมองหาอะไรใหม่ๆ เสมอ โดยที่พรรคซีพีพีนั้นไม่ค่อยจะมีอะไรใหม่มานำเสนอให้ถูกใจได้แล้ว ไม่แน่ว่ายุบ CNRP แล้วจะทำให้คะแนนนิยมซีพีพีสูงล้ำอยู่พรรคเดียว





ภาพประกอบ: ย่ำสนธยาที่พนมเปญ 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.