Posted: 21 Apr 2018 10:22 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

'สรรเสริญ' ยัน รบ.ไม่เคยแทรกแซงลูกจ้างในกิจการประมงทะเล

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวว่าจากกรณีที่สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยระบุว่ามีการละเมิดเสรีภาพแรงงานอย่างร้ายแรงในประเทศไทย เนื่องจากมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแทรกแซงลูกจ้างในกิจการประมงทะเลนั้น รัฐบาลได้รับรายงานจากกระทรวงแรงงาน ว่าคณะทำงานดังกล่าว คือ คณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเลซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs และผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่จัดทำมาตรการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเลให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างหรือแรงงานทั้งสิ้น

ที่ผ่านมาคณะทำงานได้จัดประชุมอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด โดยให้ลูกจ้างในกิจการประมงทะเลรวมตัวกันอย่างสมัครใจ เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีและเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน พร้อมทั้งจัดทำแผนส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล ที่เป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน NGOs และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

"คณะทำงานชุดนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกจ้างในกิจการประมงทะเลรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน สร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยไม่ได้ประสงค์จะแทรกแซงหรือให้นายจ้าง องค์การนายจ้าง มีอิทธิพลต่อลูกจ้างแต่อย่างใด"

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและคณะทำงานยืนยันว่า ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของกลุ่มสหภาพแรงงานประมงต่างด้าวและไทย (TMFUG) ที่เป็นการรวมกลุ่มกันเองของลูกจ้างต่างด้าวและไทย โดยการดำเนินงานของกลุ่มเป็นไปอย่างเสรี แม้จะยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม

ที่มา: คมชัดลึก, 22/4/2561

ก.แรงงาน ประสานทุกหน่วยพร้อมช่วยแรงงานไทยป่วยในไต้หวัน รอเพียงวินิจฉัยจากแพทย์อนุญาตให้ส่งตัวกลับประเทศไทย

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีแรงงานชายไทยที่ทำงานอยู่ในไต้หวัน มีอาการป่วยและญาติได้ร้องขอความช่วยเหลือ ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อจัดการส่งตัวกลับมาประเทศ นั้น กระทรวงแรงงานได้รับรายงานข้อมูลจากสำนักงานแรงงานไทย ณ เมือง เกาสง ไต้หวัน ซึ่งรับผิดชอบดูแลแรงงานไทยในพื้นที่ภาคใต้ของไต้หวัน ว่า นายฉัตรชัย ขุริดี อายุ 33 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี เป็นแรงงานไทยที่ทำงานอยู่กับบริษัท Uni-President Co.,Ltd. เมืองไถหนาน มีอาการป่วยด้วยอาการพยาธิขึ้นสมอง สาเหตุจากการรับประทานหอยที่งมจากคลองใกล้โรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลที่ รพ. ฉีเหม่ย เขตซินหยิง เมืองไถหนาน โดยสำนักงานแรงงานไทย ณ เมืองเกาสง ได้ติดตามดูแลเรื่องนี้มาตลอด ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือดังนี้

1. ได้ช่วยประสานงานกับแพทย์ มูลนิธิของโรงพยาบาลฉีเหม่ย มูลนิธิฉือจี้ บริษัทจัดหางาน และบริษัทการบินไทยเพื่อเตรียมการส่งตัวแรงงานไทยกลับ ขณะนี้ได้รับแจ้งจากแพทย์ว่าอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ลดความต้องการปริมาณออกซิเจนจากระดับ 10 เหลือ ระดับ 6 รอแพทย์วินิจฉัยอนุญาตให้นำตัวส่งกลับประเทศไทย

2. สำหรับประมาณการค่าใช้จ่ายในการส่งกลับเป็นเงินกว่า 2 แสนเหรียญไต้หวัน ขณะนี้ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสำนักงานแรงงานไทย ณ เมืองเกาสง จะติดตามประสานงานกับมูลนิธิทั้งสองแห่งและบริษัทจัดหางานเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะบริจาคให้นายฉัตรชัย ขุริดี เพื่อส่งตัวกลับประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมอบหมายให้สำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี ได้ไปพบกับครอบครัวของนาย ฉัตรชัย ขุริดี เพื่อประสานงานการรับตัวกลับประเทศไทย และให้การช่วยเหลือเยียวยากับครอบครัวในเบื้องต้นด้วยแล้ว

“กระทรวงแรงงาน โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือแรงงานทั้งที่ทำงานในประเทศและทำงานอยู่ต่างประเทศอย่างใกล้ชิด หากประสบปัญหาความเดือดร้อนสามารถติดต่อสำนักงานแรงงานไทยในประเทศนั้น ๆ ได้ หรือ ญาติพี่น้องสามารถติดต่อสอบถามขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือ โทร.สายด่วน 1506” นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 21/4/2561

JobDB เผยผลสำรวจคนไทยมีความสุขในการทำงานมากน้อยแค่ไหน

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทย จำนวน 1,108 คน ในปี 2560 พบ 60% ของคนไทยมีความสุขกับการทำงานโดยค่าเฉลี่ยของคะแนนดัชนีความสุขคิดเป็น 4.55 คะแนน น้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2559 แต่สอดคล้องกับแนวโน้มของดัชนีความสุขในการทำงานอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ลดลงเหลือ 4.51 คะแนน โดย 5 สายงานที่มีความสุขในการทำงานสูงสุดในปี 2560 ได้แก่ งานบริหาร (4.95 คะแนน), งานธุรการและทรัพยากรบุคคล (4.94 คะแนน), งานวิศวกรรม (4.86 คะแนน), งานไอที (4.74 คะแนน) และงานขนส่ง (4.73 คะแนน) ตามลำดับ

เมื่อเทียบระดับความสุขของพนักงานในอีก 6 ประเทศที่ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้ คือ ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย พบว่าพนักงานไทยมีระดับความสุขเป็นอันดับที่ 5 (ปีก่อนได้อันดับ 3) รองจาก อินโดนีเซีย (5.27) เวียดนาม (5.19) ฟิลิปปินส์ (4.97) และมาเลเซีย (4.65) รั้งท้ายด้วย ฮ่องกง (4.45) และสิงคโปร์ (4.31)

รายงานยังเผยให้เห็นว่าเด็กจบใหม่ หรือพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า 1 ปี มีความสุขในการทำงานน้อยที่สุด โดยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.35 คะแนน ด้านเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทั่วไปที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 – 4 ปี มีความสุขในการทำงานน้อยสุดเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.45 คะแนน ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงมีความสุขในการทำงานมากที่สุดคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.19 คะแนน ตามด้วยระดับผู้จัดการและระดับหัวหน้างานมีระดับความสุขเฉลี่ยอยูที่ 4.64 และ 4.54 ตามลำดับ

เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า 37% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่ ขณะที่ 20% จะพอใจกับชีวิตการทำงานในองค์กรเดิมมากขึ้นหากได้รับการปรับเงินเดือน และ 8% จะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นหากได้รับการยอมรับในผลงานหรือได้รับรางวัลจากการทำงาน

ก่อนหน้านี้คนทำงานจะเลือกงานที่มีความมั่นคง มีหลักประกันชีวิต เพราะคำนึงถึงการเริ่มต้นชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ทั้งชีวิตการทำงานหรือเริ่มต้นสร้างชีวิตครอบครัวของตนเอง ที่ส่วนใหญ่ขยับตัวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบัน ขณะที่มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ๆ ใช้ “ความต้องการ” เป็นตัวแปรในการตัดสินใจเลือกงานและองค์กร คนกลุ่มนี้ไม่กดดันตัวเองด้วยการเอาปัจจัยเรื่องความมั่นคง และเงิน มาสร้างกรอบให้ตัวเองติดอยู่กับ Comfort Zone เพราะไม่ใช่กลุ่มคนที่ภักดีกับองค์กร อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ส่งผลให้คนทำงานทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสุขในการทำงาน คือ ทำเลที่ตั้งของสถานที่ทำงาน ชื่อเสียงขององค์กร และเพื่อนร่วมงาน ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้ความสุขของพนักงานลดลงคือ การได้ทำงานกับทีมผู้บริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ การอยู่ในองค์กรที่ไม่มอบโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน และการไม่มีโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาตัวเอง

ตลอดปีที่ผ่านมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลต่อตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งหุ่นยนต์และการพัฒนาระบบ AI ที่กำลังเติบโตจนส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน รวมทั้งการขยายตัวของสตาร์ทอัพที่ดึงดูดความสนใจคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายตัวเองให้ผันตัวไปเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่เลือกใช้โซเชียลมีเดียในการประกอบอาชีพที่มีความยืดหยุ่นทั้งเวลาและรายได้ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ความท้าทายของผู้นำองค์กรอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากสร้างรายได้และเพิ่มผลิตผลให้แก่องค์กรแล้ว ยังต้องสามารถสร้างแรงจูงใจ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ได้อีกด้วย กุญแจสำคัญที่จะช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง พร้อมกับสร้างโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน เช่นเดียวกับการทำให้พนักงานได้เห็นต้นแบบที่มีศักยภาพ และมีวิสัยทัศน์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้พนักงานสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วันควบคู่กันไปด้วย

ที่มา: Thumbsup, 21/4/2561

ครอบครัววอน! ช่วยหนุ่มไทยกลับจากไต้หวัน หลังกินก้อยดิบทำพยาธิขึ้นสมอง นอนเป็นเจ้าชายนิทรา

ที่บ้าน ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ บ้านพ่อแม่ของนายฉัตรชัย ขุริดี อายุ 33 ปี แรงงานไทย ที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก “เจ้าหญิง เจ้าชาย” โพสต์ภาพผู้ป่วยนอนไม่ได้สติอยู่บนเตียง และภาพบัญชีธนาคารแม่ของแม่ผู้ป่วย ระบุข้อความ

"คนไทยด้วยกัน ช่วยกัน 09090xxxxx คนงานไทยในไทหนาน เขตชินหยิง กินอาหารเป็นพิษ นอนหมดสติรักษาตัวอยู่ รพ.ฉีแหม๋..เหลียวหยิง นานเกือบ 2 เดือนแล้ว คนป่วยไม่ได้เกิดเหตุในเวลางาน การรักษาของประกันสังคมจึงมีขีดจำกัด ค่ารักษา ค่าหมอ ค่ายา บางส่วนคนไข้ต้องจ่ายเอง และค่าตั๋วเครื่องบิน ที่จะพากลับไปรักษาตัวที่เมืองไทยเราไม่มีเงิน พ่อแม่คนป่วยก็แค่ชาวนาธรรมดา ไม่มีเงินจะรับลูกชายกลับได้ จึงใคร่ขอความเมตตาจากผู้ใจบุญมา ณ ที่นี้ เราคนไทยด้วยกันช่วยกัน หากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคได้ที่ รพ.ฉีแหม๋ แผนกสงเคราะห์ หรือกรมแรงงานช่วยเหลือคนงานไทย ขอบคุณค่ะ"

นายประยงค์ ขุริดี อายุ 59 ปี นางทองวัน ขุริดี อายุ 55 ปี และ น.ส.อภิญญา เยาวลักษณ์ อายุ 39 ปี พ่อแม่และภรรยาของนายฉัตรชัย ที่สภาพใบหน้าเต็มด้วยความกังวลใจ เปิดเผยร่วมกันว่า นายฉัตรชัยเดินทางไปทำงานโรงงานขวดน้ำหอมเมื่อพฤศจิกายน 2560 ติดต่อสื่อสารกับทางบ้านทางไลน์ มีนาคม 2561 โทรมาบอกว่าปวดท้อง-ปวดหัว ที่เกิดจากไปงมหอยกับเพื่อนคนงาน 9 คน เอามาทำอาหารรวมทั้ง “ก้อยดิบ” กิน ทั้งที่หัวหน้าคนงานประกาศเตือน ห้ามไปหาปลา-สัตว์น้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะมีสารเคมีเยอะ โดยคนไต้หวันกินปลาเลี้ยงและปลาทะเล

เวลาผ่านไป 2 วันอาการไม่ดีขึ้น จึงไปหาหมอของโรงงาน ให้ยามากินอีก 7 วันก็ไม่หาย จึงไปหาหมอที่ รพ. หมอก็ให้นอน รพ.ทั้งหมด นายฉัตรชัยติดต่อมาว่าขอนายจ้างกลับบ้าน แต่ยังไม่อนุญาต จากนั้นก็ติดต่อกันไม่ได้ จนเพื่อนคนงานไทยโทรมาบอกนายฉัตรชัยไม่รู้สึกตัวอยู่ในห้องไอซียู ส่วนเพื่อนคนงานไม่หนักเท่า จึงตัดสินใจกู้นอกระบบ 5 หมื่นบาท เป็นค่าตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายให้ภรรยาไปดูอาการสามีที่ไต้หวัน

น.ส.อภิญญาเล่าว่า เมื่อไปถึงสามีนอนไม่ได้สติในห้องไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ เจาะคอให้อาหารทางสายยาง หมอบอกว่ากินหอยดิบ ทำให้พยาธิเข้าไปในร่างกาย เส้นเลือด และขึ้นสมอง พยาธิได้กัดกินสมองไปบางส่วน ไม่มีโอกาสฟื้น แต่ยังไม่ตาย ต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทรา เพราะเป็นคนหนุ่มร่างกายแข็งแรง แพทย์บอกให้พ่อแม่และภรรยาทำใจ ได้อยู่ดูแลสามี 1 เดือนวีซ่าหมดจึงกลับ ส่วนเพื่อนสามี 8 คน กินหอยสุกอาการดีขึ้น หมอให้ออกจาก รพ. และนายจ้างอนุญาตให้กลับเมืองไทย หายก็กลับมาทำงานใหม่

น.ส.อภิญญาเล่าอีกว่า สามีรู้ว่าเขาห้ามกินสัตว์น้ำในคลอง แต่มีคนงานไทยเคยกินอยู่ จึงอยากประหยัดค่าอาหาร จะได้มีเงินส่งกลับมาใช้หนี้ เงินเดือนรวมโอทีได้เพียง 2 หมื่นกว่าบาท ที่ไปเพราะอยู่ที่บ้านได้เงินไม่แน่นอน ตอนนี้สิทธิในการรักษาตัวจากโรงงานหมดแล้ว แต่ยังมีมูลนิธิแรงงานไทยที่ไต้หวัน และกลุ่มแรงงานไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือมาบ้าง ซึ่งเงินส่วนเกินจากการประกันสังคมที่นั่นต้องจ่ายเอง โดยทางบริษัทที่จัดส่ง จัดหางาน และสถานทูต ก็มาดูแลให้บางส่วน

หมอบอกว่าหากไม่ต้องการให้สามีทรมาน ก็สามารถดึงออกซิเจนออก แต่ตนรักสามี อีกทั้งพ่อแม่ยังทำใจไม่ได้ อยากจะนำตัวกลับมารักษาที่บ้าน ถึงจะเป็นเจ้าชายนิทราก็จะดูแลกันเอง แต่ค่าใช้จ่ายเดินทางกลับแพง เพราะต้องเดินทางแบบคนป่วยทางเครื่องบินเช่าเหมาลำราคา 5 แสนบาท ค่ารักษาพยาบาลอีกจำนวนหนึ่ง จึงอยากวอนรัฐบาล ผู้ใจบุญช่วยเหลือ ช่วยนำสามีกลับมารักษาตัวที่บ้าน ให้ภรรยา พ่อแม่ และญาติพี่น้องได้ดูแลกันในวาระสุดท้ายด้วย

นายประยงค์ และนางทองวัน พ่อและแม่นายฉัตรชัย เล่าว่า มีอาชีพรับจ้าง มีลูกชาย 3 คน นายฉัตรชัยเป็นคนที่ 2 เพิ่งแต่งงาน เคยไปทำงานที่ไต้หวันมาแล้ว 2 ปี ครั้งนี้ได้ยืมโฉนดที่นา 30 ไร่ จากยายไปจำนองนายทุน 85,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 6 เป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไป เพิ่งส่งเงินมาได้เพียงเดือนเดียว 1 หมื่นบาท ก็มาป่วยหนัก ตอนนี้ห่วงลูกมาก ทำอะไรก็ไม่ได้ ไปดูแลก็ไม่ได้ ได้แต่รอฟังข่าวจากเพื่อนคนงาน และญาติที่อยู่ที่นั่น อยากนำลูกกลับมาบ้าน แม้ว่าจะไม่รู้สึกตัว และมีแค่ลมหายใจก็ตาม แต่เพราะเป็นคนจน หาเช้ากินค่ำ จึงอยากวอนให้ผู้ใจบุญช่วยเหลือนำลูกชายกลับมาบ้านให้ด้วย

ด้านนางยุทธศาสตร์ ทูลกลาง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า สอบถามไปยังบริษัทจัดหางานที่ส่งตัวนายฉัตรชัยไปทำงาน รับแจ้งว่า ได้ประสานงานติดต่อให้การช่วยเหลือ โดยให้ตัวแทนเป็นผู้ประสานงานใช้สิทธิประกันสุขภาพ โดยคนงานจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าส่วนต่าง ส่วนการส่งตัวกลับมารักษาที่บ้าน บริษัทแจ้งว่า แพทย์ให้ความเห็นว่าหากมีการส่งตัวกลับ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่หากถอดเครื่องช่วยหายใจ คนงานอาจเสียชีวิตทันทีในระหว่างการเคลื่อนย้าย บริษัทประสานกับทางครอบครัวตลอด หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2187-1114

ผู้ใจบุญที่มีจิตเป็นกุศล ต้องการช่วยเหลือนำตัวนายฉัตรชัยฯ แรงงานไทยรายนี้กลับมารักษาตัวที่บ้าน สามารถบริจาคเงินช่วยเหลือได้ โดยบริจาคทางบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบ้านผือ ชื่อบัญชี นางทองวัน ขุริดี เลขที่บัญชี 431-0-512593

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/4/2561

ปี 2560 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตั้งเป้าอบรมหลักสูตร 'อาหารไทย' 70,000 คน ทั่วประเทศ

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นแหล่งที่มาของรายได้เข้าสู่ประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 4 แสนล้านบาท กระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำเรื่องของภารกิจกรมให้มีการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงาน และผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือมากขึ้น ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับร้านอาหารไทยทั้งใน และต่างประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการไปสู่ Thailand 4.0 กพร. จึงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ จัดฝึกอบรมหลักสูตรด้านอาหารไทยรองรับโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก รวมถึงหลักสูตรเนื่องเกี่ยว ได้แก่ การจัดการห้องครัว การบริหารวัตถุดับ และการค้าขาย ออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการฝึกทักษะให้กับแรงงานทุกเพศ ทุกวัย ให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในสถานประกอบกิจการ หรือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร รวมถึงแรงงานผู้สูงอายุ ให้มีอาชีพ รายได้เสริม สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ เป็นไปตามนโยบายเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ปี 2561 กพร. มีเป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมกว่า 70,000 คน เนื่องจากธุรกิจด้านการอาหาร ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับการฝึก เป็นอย่างมาก ด้วยรูปลักษณ์ การจัดตกแต่ง รูปแบบอาหาร และรสชาติที่จัดจ้าน ทำให้เป็นที่ถูกปากของชาวไทยและต่างชาติ และตลาดแรงงานยังมีความต้องการพ่อครัว แม่ครัว ที่มีฝีมือในการประกอบอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กพร. ดำเนินการฝึกอบรมโดยสถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกแห่งทั่วประเทศ ฝึกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริม สามารถดูแลตัวเองได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว ทั้งนี้ สนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้ทั้งวัยแรงงาน และผู้สูงอายุ มาร่วมฝึกทักษะ และยกระดับความสามารถเพื่อการถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทย ด้วยอาหารไทย สู่สากล อีกทั้งเป็นการเตรียมแรงงานเพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงานในอนาคตอีกด้วย

นางจันทิรา สุนทรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอ่างทอง กล่าวว่าขณะนี้ สนพ.อ่างทอง ได้เปิดอบรมหลักสูตร ผู้ประกอบอาหารไทย รุ่น 4/2561 สำหรับผู้ที่ต้องการนำความรู้ไปประกอบอาชีพด้านอาหารไทย หรือต้องการไปทำงานต่างประเทศ โดยสอนการทำอาหารไทย 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เมนู ไส้อั่ว ข้าวซอย น้ำพริกหนุ่ม ภาคกลาง เมนูข้าวแช่ ภาคอีสาน เมนู ไก่ใต้น้ำ สลัดลาว คอหมูย่าง ภาคใต้ แกงไตปลา ข้าวยำ หมูเมืองคอน และเมนูจำพวกขนมหวาน อาทิ ขนมครก ปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวมะม่วง กล้วยทอดคาราเมล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการทำขนมไทย ให้กับผู้สูงอายุ เป็นหลักสูตรระยะสั้น โดยเน้นที่กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม ระหว่าง 7-11 พฤษภาคม 2561 ฝึกฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอ่างทอง 035-762026 9 หรือ กรอบใบสมัครออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอ่างทอง www.dsd.go.th/Angthong หัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์

ที่มา: Nation TV, 20/4/2561

เปิดจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวระยะ 2 ดีเดย์ 23 เม.ย. นี้ ระบุจำนวน 179,227 คน แยกเป็นกรุงเทพฯ 37,319 คน ต่างจังหวัด 141,908 คน

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (วีซ่า)

และอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุเมธ มโหสถ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานของกัมพูชา และเมียนมา หัวหน้าศูนย์ปรับสถานภาพแรงงาน สปป.ลาว และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน ร่วมประชุม

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มระยะเวลาการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตรวจลงตรา ประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักร ขออนุญาตทำงานและจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา

โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ แต่ได้ยื่นเรื่องขอจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติกับกรมการจัดหางานในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 (สจก. 1-10) หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด (สจจ.)

และยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อทำการปรับปรุงทะเบียนประวัติ พิสูจน์สัญชาติ ขอรับตรวจลงตราและประทับตราให้อยู่ในประเทศได้นั้น

ปรากฏว่ามีจำนวนแรงงานต่างด้าวตามมติดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 479,299 คน แบ่งเป็น 1. กลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 300,072 คน เป็นกรุงเทพฯ 120,692 คน ต่างจังหวัด 179,380 คน 2. กลุ่มยังไม่พิสูจน์สัญชาติ จำนวน 179,227 คน เป็นกรุงเทพฯ 37,319 คน ต่างจังหวัด 141,908 คน

และเพื่อให้การจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา และอนุญาตทำงานแล้วเสร็จตามกำหนดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 กระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อการจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นเลขานุการ และจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง และในต่างจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง รวมเป็น 80 แห่ง

สำหรับการดำเนินการของแรงงานต่างด้าวคือ 1. กลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 300,072 คน แบ่งเป็น 1) กลุ่มที่ดำเนินการไม่ครบทุกขั้นตอนของศูนย์ OSS จำนวน 127,429 คน โดยได้ตรวจลงตรา และขออนุญาตทำงานแล้ว ให้ไปดำเนินการปรับปรุง/จัดทำทะเบียนประวัติ ผลิตบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) 2) กลุ่มที่ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 140,770 คน และยื่นเอกสารหลักฐาน ณ ศูนย์ OSS /สจก. 1-10

ที่มา: คมชัดลึก, 20/4/2561

'เจ็บ-ตาย' ช่วงสงกรานต์ 2561 ประกันสังคมต้องจ่ายผลประโยชน์ทดแทน 9,839,302.45 บาท

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ดำเนินการขอความช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคม

จากการประสบอุบัติเหตุของผู้ประกันตนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2561 รายงานจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ยอดผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางจราจรในช่วงสงกรานต์มีจำนวนทั้งหมด 2,479 ราย และเสียชีวิตจำนวน 49 ราย

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ ในขณะมึนเมาหรือเมาแล้วขับ อีกทั้งมาจากการขับขี่ด้วยความประมาท รวมถึงการขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร

"ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม ได้ประมาณการประโยชน์ทดแทน ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ประกันตน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 9,839,302.45 บาท"เลขาธิการ สปส.ระบุ

ที่มา: คมชัดลึก, 19/4/2561

กยศ.ขอความร่วมมือนายจ้าง-ส่วนราชการช่วยหักเงินเดือน หลังคดีผิดนัดชำระหนี้ล้นศาล

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้ประสานความร่วมมือกับ กยศ. ติดตามหนี้ โดยได้มีส่วนช่วยเหลือในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดี

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนมีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้จำนวนกว่า 3.6 ล้านราย โดยมีผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้และศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1.2 ล้านราย รวมทั้งมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา และเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้วจำนวนประมาณ 2 แสนราย และยังมีผู้กู้ยืมที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีประมาณ 1 ล้านราย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีปกติของศาล

อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรของพนักงาน/ลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุน ตามอำนาจที่กองทุนแจ้งเนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้าง นำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระหนี้คืนกองทุน คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ของกองทุน โดยลดปัญหาหนี้ค้างชำระและลดจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาล สำหรับผู้กู้ที่ศาลพิพากษาแล้วขอให้ไปชำระหนี้หรือขอเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีได้ เพื่อป้องกันการถูกยึดทรัพย์บังคับคดี โดยผู้กู้ยืมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กองทุน กยศ. หรือสำนักงานบังคับคดีในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ กยศ.จะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้กลุ่มข้าราชการที่จ่ายเงินผ่านกรมบัญชีกลาง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และได้ทำสัญญาประนีประนอมกับ กยศ.แล้ว

เบื้องต้นคาดว่ามีจำนวนหลักพันรายให้เข้ามาสู่ระบบหักชำระเงิน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กยศ.ได้เชิญส่วนราชการที่จ่ายเงินเดือนผ่านกรมบัญชีกลางมาชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อเริ่มหักเงินเดือนได้ในเดือน มี.ค. 2561 ปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ.กว่า 2 แสนราย ในจำนวนนี้มีการชำระหนี้ครบแล้วกว่า 5 หมื่นราย ซึ่งยังเหลือข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ.อีกกว่า 1.5 แสนราย ขณะที่การหักเงินเดือนลูกจ้างบริษัทเอกชนคาดว่าเริ่มได้ในไตรมาส 4 ปีหน้า อย่างไรก็ดี กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้คืนตามกำหนดชำระหนี้ เหมือนให้ทุนแก่เยาวชน เพื่อไปสร้างอนาคต และส่งมอบโอกาสคืนทุนการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 19/4/2561

กสร. รณรงค์คนรุ่นใหม่ทำงานปลอดภัยและสุขภาพดี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้วันที่ 28 เมษายนของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล เพื่อเป็นการรณรงค์และส่งเสริมแนวคิดในการสร้างจิตสำนึกและก่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างยั่งยืน รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลก กสร. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ทำงานปลอดภัยและสุขภาพดี โดยได้กำหนดจัดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "คนรุ่นใหม่ทำงานปลอดภัยและสุขภาพดี (Generation Safe and Healthy)" ในวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561 เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน)

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า กสร.จึงขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานร่วมกันภายในงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี 2561 ซึ่งภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ "การสร้างทัศนคติคนรุ่นใหม่ให้ทำงานด้วยความปลอดภัยและมีสุขภาพ" โดย นายปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนออนไลน์เข้าร่วมงานฟรี ได้ที่ https://goo.gl/yi7Bsr ภายในวันที่ 24 เมษายน 2561 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 0 2448 9128 ต่อ 503

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 19/4/2561

กระทรวงแรงงานเผยช่วง 6 เดือน ยอดตำแหน่งงานว่างผู้สูงวัย 1,435 อัตรา ได้รับการบรรจุงาน จำนวน 869 ราย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการหางานให้ผู้สูงอายุ โดยได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานสำรวจตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการเพื่อจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 กรมการจัดหางานได้จัดโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมคือ 1. กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา ภายใต้การดำเนินงาน “ผู้ทรงอายุทรงคุณค่า สร้างภูมิปัญญา เพื่อไทยนิยมยั่งยืน” โดยจะจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีความรู้ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่าง ๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชน เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดและประกอบอาชีพต่อไป เป้าหมายผู้สูงอายุได้รับการจ้างงาน 150 คน กำหนดดำเนินการใน 11 จังหวัดนำร่องคือ นนทบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงราย นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช และสงขลา

2. กิจกรรมส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว เป้าหมายคือผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานทั้งแบบเต็มเวลาและบางช่วงเวลา จำนวน 1,200 คน โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) กรมการจัดหางานได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับผู้สูงอายุ 1,435 อัตรา มีผู้สูงอายุมาใช้บริการ 2,037 คน ได้รับการบรรจุงานแล้วจำนวน 869 คน เป็นแรงงานด้านการผลิตมากที่สุด 225 คน รองลงมาเป็น แม่บ้าน 131 คน พนักงานดูแลความปลอดภัย 113 คน ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสอนอื่นๆ 56 คน และเสมียนพนักงานทั่วไป 26 คน ตามลำดับ

ในส่วนของภาครัฐได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 – 75 ปี ใน 20 หน่วยงานของกรมการจัดหางานเพื่อเป็นต้นแบบในการจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 20 ราย ระยะเวลาทำงาน 144 วันๆ ละ 3 ชั่วโมง ค่าตอบแทน 250 บาทต่อชั่วโมง มีรายได้ 108,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้เกษียณอายุราชการและผู้เกษียณอายุจากรัฐวิสาหกิจอีกด้วย ซึ่งในปี 2561 (ตุลาคม 2560-มีนาคม 2561) มีผู้เกษียณอายุได้รับการบรรจุงาน 14 คน ประกอบอาชีพอิสระ 51 คน

นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้สูงอายุคนใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job center) อาคาร 3 ชั้น ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือสมัครได้ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/elderly หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/4/2561

‘นักเทคนิคการแพทย์’ ชี้ กม.เงินทดแทนเป็นความหวัง หลังเป็นอีกวิชาชีพเสี่ยงจากการทำงาน

ตามที่สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับ พ.ศ ... ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงเพิ่มสิทธิจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยจ่ายเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 70 ของเงินเดือน จากเดิมร้อยละ 60 และหากทุพพลภาพจ่ายให้ตลอดชีวิต จากเดิม 15 ปี โดยขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประชุมแล้ว 3 ครั้ง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และน่าจะประกาศใช้ประมาณเดือนตุลาคม ส่งผลให้ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีแทบทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นลูกจ้างชั่วคราวจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 16 เมษายน รศ.ยุพา เอื้อวิจิตรอรุณ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า เห็นด้วยและยินดีกับการผลักดันร่างกฎหมายเงินทดแทน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างส่วนราชการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มี อย่างกลุ่มนักเทคนิคการแพทย์ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้น มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน เพราะต้องทำหน้าที่ตรวจเชื้อ ตรวจสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อวัณโรค น่ากลัวมาก แม้จะมีเครื่องมือในการป้องกัน แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้หมด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ติดเชื้อจากการทำงาน แม้จะได้รับการดูและรักษาพยาบาลแล้ว แต่ในส่วนการเยียวยา หรือการจ่ายเงินทดแทนหยุดงานนั้น ไม่มีเลย ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายที่ดีที่จะให้สิทธิอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน

นางศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล อดีตนักเทคนิคการแพทย์เชี่ยวชาญ ข้าราชการบำนาญ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าในฐานะที่เคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข และปัจจุบันก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงฯในตำแหน่งต่างๆอยู่ ทำให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาของนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวมีมากเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ เนื่องจากนักเทคนิคการแพทย์จะทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์สารคัดหลั่งต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยให้แพทย์ เรียกว่าทำงานคู่กับแพทย์มาตลอด และมีความเสี่ยงมากเช่นกัน โดยเฉพาะการตรวจเชื้อ ตรวจเลือด เพราะแม้จะมีระบบป้องกันภัยเป็นอย่างดี แต่อุบัติเหตุต่างๆเกิดขึ้นได้ ทั้งเข็มเจาะ หรือติดเชื้อ ซึ่งเชื้อที่อันตรายและมีความเสี่ยงติดง่าย เพราะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ คือ วัณโรค หรือโรคทีบี (TB) รวมไปถึงเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้หากเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทั้งจ้างรายวัน จ้างรายเดือน หรือจ้างเหมา จะไม่มีสิทธิสวัสดิการในการดูแล ซึ่งตรงนี้น่าห่วงมาก เพราะเท่าที่ทราบยังมีลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ประมาณ 700-800 คน พวกเขาก็ไม่เคยได้รับสิทธิในการดูแลจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากงาน ยิ่งปัจจุบันก.พ.มีการจำกัดตำแหน่งข้าราชการ ยิ่งทำให้โอกาสในการเป็นข้าราชการของนักเทคนิคการแพทย์ยิ่งน้อยลง ขณะที่ภาระงานก็เพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องจ้างงานพิเศษ เป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายเดือน หรือรายวันก็มี บางแห่งจ้างเหมาแบบราย 3 เดือน 6 เดือน ตรงนี้น่าเห็นใจมาก ดังนั้น หากมีกฎหมายเงินทดแทนที่ครอบคลุมลูกจ้างส่วนราชการทั้งหมดจริงๆ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับการช่วยเหลือเยียวยามากขึ้น” นางศิริรัตน์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/4/2561

ลูกจ้างส่วนราชการ 1 ล้านคนได้สิทธิเงินทดแทน

1 ต.ค.นี้ ลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1 ล้านคนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายเงินทดแทน กรณีหยุดงานจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุระหว่างทำงานเป็นครั้งแรก ขณะที่ลูกจ้างเอกชน ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์หลายด้าน

16 เม.ย.2561 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายเงินทดแทน บอกว่า ความคืบหน้าร่างกฎหมายเงินทดแทนฉบับใหม่ผ่านเข้าสู่การประชุมสภานิติบัญญัติ 3 ครั้งแล้ว หากผ่านขั้นตอนทางกฎหมายจะทำให้ลูกจ้างส่วนราชการ ประเภทสัญญาจ้างรายปี หรือ จ้างเหมาทั้งหมดจำนวนกว่า 1 ล้านคน ได้รับเงินทดแทนจากการเจ็บป่วย หรือ ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานประมาณเดือนต.ค.นี้

ทั้งนี้จากเดิมที่ไม่เคยได้รับสิทธิใดๆจากกองทุนเงินทดแทน เพราะให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างเอกชน ทำให้ลูกจ้างส่วนราชการ เช่น พยาบาล นักดับเพลิง หากบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติงานต้องใช้สิทธิประกันสังคมแทน นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์จ่ายเงินทดแทนหยุดงานเป็นอัตราร้อยละ 70 ของเงินเดือน หากเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน หยุดงาน 1 วัน สามารถยื่นขอเงินทดแทนได้ทันที และหากทุพพลภาพถาวร เบิกเงินทดแทนได้มากกว่า 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้ระบุจำนวนวันที่แน่ชัด

ที่มา: ThaiPBS, 17/4/2561

รมว.ต่างประเทศ เผยมีคนไทยในซีเรีย 2 คน ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีของสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศซีเรีย ว่า ขณะนี้มีคนไทยอยู่ในประเทศซีเรียเพียง 2 คน ซึ่งแต่งงานมีครอบครัวอยู่ที่นั่น และยังคงปลอดภัยดี โดยขณะนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องติดตามกันต่อไป ในส่วนของอาเซียนนั้นได้มีการหารือกันแล้วแต่ยังไม่มีท่าทีอะไร เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่นิ่ง ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 นั้น เชื่อว่าทุกประเทศต่างตระหนักในเรื่องนี้ดี และมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว

ด้าน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯและซีเรียคงไม่บานปลาย เชื่อว่าการโจมตีได้จำกัดขอบเขต และจะไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย แต่อาจส่งผลต่อราคาหุ้น ราคาน้ำมัน และแรงงานไทยในอิสราเอล ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศจะสามารถดูแลได้

ที่มา: NEW18, 17/4/2561

สปส.ดัน กม.เงินทดแทนฉบับใหม่ครอบคลุมลูกจ้างทั้งรัฐ-เอกชน รายวัน รายเดือน

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ที่จะครอบคลุมให้ลูกจ้างส่วนราชการเป็นครั้งแรก หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน หรือหากทุพพลภาพก็จะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือตลอดชีวิตว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมทุกคนที่ทำงานให้กับนายจ้างไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน อย่างลูกจ้างก็รวมทั้งลูกจ้างส่วนราชการและเอกชน ที่ได้รับเงินเป็นรายเดือนและรายวันก็จะได้รับหมด จากเดิมลูกจ้างส่วนราชการ ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้นจะไม่ได้รับสิทธิกรณีเงินทดแทนการหยุดงาน เนื่องจากเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุจากงาน ปัญหาคือ กลุ่มลูกจ้างส่วนราชการแม้จะได้รับการดูแลรักษาจากกองทุนประกันสังคม หรือการรักษาโดยปกติทั่วไปก็ตาม แต่การดูแลหลังจากนั้นไม่มีเลย ยกตัวอย่าง หากอุบัติเหตุจากการทำงานจนทำให้ต้องทุพพลภาพ ในกลุ่มลูกจ้างเอกชนจะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนฉบับเดิมเป็นระยะเวลา 15 ปี แต่ร่าง พ.ร.บ.ใหม่จะได้ตลอดชีวิต และยังขยายไปให้กับกลุ่มลูกจ้างส่วนราชการจะได้รับสิทธิตรงนี้ด้วย

“กรณีการดูแลหลังจากออกจากงาน หรือไม่สามารถทำงานได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อทุพพลภาพแล้ว ย่อมกลับมาทำงานไม่ได้ จึงต้องได้รับเงินทดแทนส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนราชการไม่ได้รับ ซึ่งเราเห็นความสำคัญว่า ลูกจ้างทุกกลุ่มต้องได้รับการดูแลเหมือนกันหมด อย่างที่ผ่านมา พนักงานขับรถของภาครัฐหากประสบอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ หรือพนักงานกวาดถนนประสบอุบัติเหตุรถชนระหว่างปฏิบัติงาน หากทุพพลภาพ หรือพยาบาลเกิดภาวะติดเชื้อจากการช่วยเหลือคนไข้ กรณีเหล่านี้เป็นปัญหามาก เพราะเดิมไม่มีกฎหมายมาช่วยเหลือ แต่จากนี้จะมี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นคณะกรรมาธิการพิจารณา คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้จะเสร็จสิ้นในขั้นตอนนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ แน่นอนว่าปีนี้จะได้รับสิทธิจากกฎหมายใหม่แน่นอน” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณในการจ่ายให้แก่ลูกจ้างส่วนราชการจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า กองทุนเงินทดแทนเดิมที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างส่วนเอกชนนั้น ใช้งบประมาณราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากเงินสมทบของนายจ้างในสัดส่วนร้อยละ 0.2 ไปจนถึงร้อยละ 1 ของค่าจ้าง แต่หากบริษัทไหนดูแลความปลอดภัยของพนักงานในบริษัทเป็นอย่างดี ซึ่งจะมีระบบประเมินก็จะลดการส่งเงินสมทบให้บริษัทลง เหลือ 0.08 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ซึ่งส่วนราชการก็เช่นกันจะเป็นผู้จ่าย โดยส่วนราชการจะรวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอด้วย เพราะลูกจ้างที่ทำงานองค์กรดังกล่าวก็ไม่ได้รับสิทธินี้มาก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินทดแทนเฉพาะส่วนลูกจ้างราชการจะอยู่ที่ประมาณ 270 ล้านบาทต่อปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีลดเงินจ่ายสมทบให้นายจ้าง หากไม่มีเคสลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จะกลายเป็นช่องโหว่ให้นายจ้างไม่แจ้งเคสเพื่อเข้ากองทุนเงินทดแทนหรือไม่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า จริงๆ หากมีนายจ้างปกปิด และลูกจ้างทราบสิทธิก็สามารถแจ้งมายัง สปส.ได้ หรือหากไม่แน่ใจให้สอบถามมาได้เช่นกัน ซึ่งทาง สปส.จะเข้าไปตรวจสอบทันที

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/4/2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.