Posted: 22 Apr 2018 03:39 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงาน 'อำลามหากาฬ' ขอบคุณผู้สนับสนุนที่ทำให้ชาวบ้านอยู่รอดพ้นปัญหามาถึง 25 ปี แต่จำเป็นต้องอำลาเพื่อยุติมหากาพย์ไว้เพียงเท่านี้ ย้ายไปอยู่ชุมชนกัลยาณมิตรชั่วคราว เก็บเงินซื้อที่ดินตั้งชุมชนป้อมมหากาฬใหม่

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือที่ชุมชนได้รับ

22 เม.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน 'อำลามหากาฬ' หลังมีการรื้อถอนบ้านอย่างต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในชุมชนมีผู้ทยอยเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งชาวบ้านที่เคยอยู่ในชุมชน อาจารย์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน อาทิ นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมกสรสิทธิมนุษยชน, นางปองขวัญ ลาซูส สมาคมฯ สถาปนิกสยาม และนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่าชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานวันนี้เพื่อรำลึกอดีต 25 ปีเต็มที่ต่อสู้ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 26 เราได้รับการสนับสนุนจากผู้สื่อข่าวที่นำเสนอเรื่องราวให้เรียนรู้ ได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิชาการซึ่งไม่สามารถกล่าวได้หมด ใจจริงอยากจากไปแบบเงียบๆ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีคนที่เคารพ มีพี่น้องภาคประชาสังคมมีคนที่แบ่งปันให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็ง มีพี่น้องสื่อที่ตนอยากบอกว่าอย่าทิ้งเรา

26 ปีของการต่อสู้ เหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง เป็นเรื่องยากที่อธิบายได้ว่า เราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่คนชุมชนป้อมมหากาฬจำต้องเอ่ยคำเชื้อเชิญเพื่อน พี่น้อง มิตรสหาย กัลยาณมิตรทุกคนมารวมกันเป็นครั้งสุดท้าย การรวมพลเพื่ออำลาและปิดฉากชุมชนป้อมมหากาฬ พื้นที่ที่เราพยายามทำทุกทางเพื่อรักษาความเป็นชุมชนเอาไว้ ตลอดระยะเวลา 26 ปีบนเส้นทางนี้เราได้ผ่านทั้งร้อน หนาว ผ่านทุกข์และสุข ได้พบเจอมิตรสหาย กัลยาณมิตรมากมาย มีความทรงจำที่มิอาจลืมเลือนได้ มีการต่อสู้ที่มิอาจลืมลง และขณะเดียวกัน เราก็เผชิญกับการจำพราก ความขัดแย้งและความสูญเสียมากมาย เผชิญกับความเจ็บปวดและอ่อนแอภายในตัวตนของเราเอง สูญเสียมากมาย เผชิญกับแรงเสียดทานที่โถมทับเข้ามาจนเราไม่อาจต้านทานได้อีก และท้ายที่สุด เราจะต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าวันหนึ่งข้างหน้า ชุมชนป้อมมหากาฬอาจเป็นเพียงชื่อเรียกขาน เป็นเพียงเรื่องเล่าบอกต่อกัน ในไม่ช้าก็จะลบหายไปจากประวัติศาสตร์ชนชั้นของมหานครแห่งนี้

มันช่างยากเหลือเกินที่เราจะอธิบายความรู้สึก อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยตัวอักษรเพียงไม่กี่ประโยค ไม่กี่ย่อหน้า และหวังไปว่ามันจะสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ว่าเราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันนี้เราเจ็บปวด เราจะพยายามเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนี้ด้วยความหวัง เพราะเป็นเช่นนี้ ในช่วงเวลาสุดท้ายเราจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวนี้แก่ทุกคน อยากจะทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่หวังเหลือเกินว่า ทุกคนที่มีความผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้จะมาร่วมกันบันทึกเรื่องราว สร้างความทรงจำครั้งสุดท้ายบนผืนที่แห่งนี้ ในสถานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ในวันอาทิตย์ที่ 22 เม.ย. 2561 นี้

ก่อนที่พวกเราจะเก็บความทรงจำเหล่านี้ไว้บอกกับลูก หลานสืบไปว่าครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเรา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ต่อสู้กับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับชุมชน เราสู้เรื่องกฎหมายไม่ได้แน่นอน วันหนึ่งเราจึงต้องจากไป เราอยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬเป็นกรณีศึกษา ในครั้งต่อไปถ้าหน่วยงานภาครัฐจะไล่รื้อชุมชนใดก็แล้วแต่ ก็คงตระหนักถึงชุมชนป้อมมหากาฬว่าพวกเขามีวิถีชีวิตและต่อสู้มายาวนานขนาดไหน สิ่งเหล่านี้จะบอกกับสังคมได้ว่า ชีวิตคนหรือว่าวัตถุกันแน่ที่สำคัญ การที่คุณทำให้ชุมชนต้องล่มสลาย ต้องกระจัดกระจาย ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างไร้ที่อยู่ สุดท้ายแล้วพวกคุณได้ตามดูชีวิตพวกเขาเหล่านั้นหรือเปล่า

ณ วันนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬขอปิดตัวลง

ตัวแทนชาวชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวคำแถลง


พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวพลางสะอื้นว่าการต่อสู้ยังไม่จบและจากนี้ชาวชุมชนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ "มันจบ ณ พื้นที่นี้เท่านั้น แต่พวกเราจะไปสร้างชีวิตใหม่ที่เอาคนป้อมและชีวิตของป้อมไปอยู่ด้วย เพราะตอนนี้เราไม่มีที่ดินเลย ไปอาศัยเพื่อนอยู่ แต่ในอนาคตสักปีสองปีก็คงซื้อที่ดินได้ เราจะเอาชีวิตของคนป้อมไปอยู่ บ้านเป็นแค่สัญลักษณ์ เราบอกแล้วว่า เราไปไหนเราก็คนป้อม เราจะไปสร้างด้วยกันใหม่ ก็ขอให้ตามเราตลอด เพราะการต่อสู้ไม่ได้สิ้นสุด แต่มันได้เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ว่า เราจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร"
"ชุมชนป้อมฯ จะเกิดมาใหม่ด้วยจิตวิญญาณ ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ นี่คือการหลั่งน้ำตาเป็นหยดสุดท้าย ต่อจากนี้จะชนะตลอดไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะอำลา ขอให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นความทรงจำ และนำพี่น้องกล่าวลาครั้งสุดท้าย" ธวัชชัยกล่าว

จากนั้นชาวบ้านป้อมมหากาฬได้พนมมือ แล้วกล่าวพร้อมกันว่าขอขอบคุณสิ่งที่ทุกท่านมอบให้ชาวป้อมมหากาฬ ตลอดจนอาจารย์ สื่อมวลชน ที่ได้มอบสิ่งงดงาม มอบสิ่งเรียนรู้ ทำให้ชาวบ้านได้อยู่รอดพ้นปัญหามาถึง 25 ปี บัดนี้ จำเป็นต้องอำลาเพื่อยุติมหากาพย์ไว้เพียงเท่านี้

พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักศึกษาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า "หากท่านมองไปรอบๆ จะเห็นซากปรักหักพังของบ้านที่พวกเราร่วมปกป้อง มันคือซากปรักหักพังของเรื่องราว ของการหล่อทอง ของบ้านลิเก ของการทำอาหาร ของมิตรภาพ เมื่อถึงวันหนึ่ง ถ้าที่ตรงนี้กลายเป็นสวนอย่างที่ทาง กทม. กล่าวอ้าง ถึงมันจะสวยขนาดไหนเราก็คงต้องเรียกมันว่าซากปรักหักพัง เพราะจิตวิญญาณ เรื่องราว และประวัติก็ได้พังเสียหายไปแล้ว ผมเสียใจมากๆ ที่ผม ในฐานะคนรุ่นใหม่ไม่สามารถทำได้ดีกว่านี้ในการปกป้องที่นี่ สุดท้ายเราไม่สามารถปกป้องบ้านเก่าแก่ ชุมชน และจิตวิญญาณของทุกคนในชุมชนป้อมมหากาฬได้ แต่ผมสัญญาว่า วันหนึ่งเราต้องไม่มีการไล่รื้อชุมชน ใช้อำนาจเจ้าหน้าที่คุกคามชาวบ้าน ต้องไม่มีการไล่ทำลายอัตลักษณ์ เรื่องราวเก่าๆ ของคนธรรมดาให้หายไป"

พรเทพกล่าวว่า ต่อจากนี้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬราว 7-8 ครัวเรือนจะไปอยู่ร่วมกับชุมชนกัลยาณมิตร บริเวณวัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ ที่ช่วยเอื้อเฟื้อสถานที่พักพิงชั่วคราว โดยต้องย้ายออกภายในวันที่ 25 เม.ย. นี้ จากนั้นจะเก็บเงินเพื่อสร้างชุมชนป้อมมหากาฬใหม่บริเวณพุทธมนฑลสาย 2 แต่ก็คงใช้เวลาเพราะที่ดินที่ดูไว้ขนาด 106 ตร.ว. มีราคาราว 3 ล้าน 7 หมื่น 4 พันบาท สาเหตุที่เลือกที่ดังกล่าวเพราะว่ายังไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากและสัญจรสะดวก โดยคิดว่าคงจะเอาเงินที่ชุมชนออมร่วมกันหลักหนึ่งแสนบาทไปหาทุนเพิ่มเติม

ปัจจุบันมีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าบริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสภาพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน
ภาพในงานและสภาพชุมชนปัจจุบัน













[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.