Posted: 19 Apr 2018 08:31 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เดชรัต สุขกำเนิด

ก่อนอื่น บอกก่อนเลยว่า แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ผมก็ไม่ได้เกลียดทหาร เพราะฉะนั้น โพสต์ทัศนะนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อโจมตีทหารแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ในช่วงท้ายที่ผมกล่าวถึงทหารกองหนุนนะครับ

มาเริ่มกันที่การเกณฑ์ทหาร

ปีที่ผ่านมา กองทัพเกณฑ์ทหารไป 100,000 ราย (ย้ำตัวเลขหนึ่งแสนราย) แต่ละรายกองทัพบอกว่าจะได้เงิน/สวัสดิการ 10,000 บาท/เดือน นั้นแปลว่า หากคิดคร่าวๆ แต่ละปี เราจะต้องใช้งบประมาณสำหรับการเกณฑ์ทหารประมาณ 12,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาทต่อปี)

งบประมาณก้อนนี้ไม่ใช่น้อย สามารถนำไปพัฒนากองทัพในด้านอื่นๆ ได้มากทีเดียว

พัฒนากองทัพอย่างไร? ผมมีความเห็นสอดคล้องกับหัวหน้าพรรคเกรียนของผมว่า ในอนาคตรูปแบบสงคราม (ถ้ามี) จะไม่ใช่การรบที่ใช้ไพร่พลขนานใหญ่ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีทำลายจุดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ แบบสงครามในซีเรียมากกว่า

ดังนั้น แทนที่เราจะเอางบประมาณมาฝึกทหารเกณฑ์ได้ 100,000 ราย และอยู่กับกองทัพเพียง 2 ปี แล้วปลดประจำการ ผมว่า เรานำเงินไปจ้างทหารมืออาชีพประจำการ ที่ได้ฝึกกันอย่างต่อเนื่อง (มีเงินเดือนอย่างน้อยสัก 20,000 บาท/เดือน) สัก 3-40,000 คน จะดีกว่ามั้ย

ส่วนทหารกองหนุนหากว่าจะเผื่อสงครามขนานใหญ่ ผมเสนอให้ปรับรูปแบบการฝึกจะดีกว่า เพราะปัจจุบัน แต่ละปี กองทัพจะเรียกทหารกองหนุน 2.5% มาฝึกเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี หลังจากจบ ร.ด. ผมไม่เคยถูกเรียกเลย

อยากโดนเรียกมั้ย? ถ้าต้องไปทีละ 2 เดือน ผมบอกเลย ไม่อาย ว่าผมไม่อยากไป มันเสียการเสียงานของผม (ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้างเช่นกัน)

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นฝึกครั้งละหนึ่งสัปดาห์ โดยมีหัวข้อการฝึกที่ชัดเจน บอกเลยว่า ผมจะสมัครเป็นประจำ ปีละหนึ่งสัปดาห์

ตัวอย่างคอร์สการฝึกทหารกองหนุนที่ผมสนใจจะสมัครแน่นอน ได้แก่

(ก) การบัญชาการเหตุการณ์ภัยพิบัติ/การก่อการร้าย
(ข) การปฐมพยาบาลภาคสนามในยามภัยพิบัติ/ก่อการร้าย
(ค) การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย
(ง) การสร้างระบบเหมืองฝายเพื่อชีวิต
(จ) การบริหารการส่งกำลังบำรุง
(ฉ) การประกอบอาหารในยามวิกฤต
(ช) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
(ซ) การบังคับโดรนในยามสันติ และในยามสงคราม

ฯลฯ (บอกแล้วว่าน่าสนใจจริงๆ)

ซึ่งนอกจาก กองทัพจะเปิดให้ทหารกองหนุนแต่ละคนสมัครเข้าร่วมเองแล้ว กองทัพยังควรเชิญชวนทหารกองหนุนแบบเป็นทีม เช่น การสร้างทีมอาสาสมัครป้องกันภัยของ อบต. (อบต.ละ 20 คน) หรือทีมส่งกำลังบำรุงของบริษัท เป็นต้น ซึ่งการฝึกเป็นทีมจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้งานจริงในพื้นที่หรือในองค์กร เพราะมีคนที่รู้งานอยู่ร่วมกันเป็นทีม

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยังควรเปิดให้ทหารกองหนุนเข้ามาช่วยกองทัพ ในรูปแบบของ “การเปิดโจทย์” ให้ทหารกองหนุนมาช่วยปรับปรุงงานของกองทัพ เช่น การจัดระบบการซ่อมบำรุงแบบ Total Productive Management หรือการใช้แบบจำลองสมัยใหม่ในการวางแผนส่งกำลังบำรุงของหน่วยรบ หรือระบบการดูแลสุขภาพของกำลังพล หรือแม้กระทั่ง การเข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในอาเซียน

ผมว่าถ้าทำแบบนี้ได้ เราจะมีทหารกองหนุนที่แอคทีฟ และเราสามารถเปิดรับคนไทยทุกคนเป็นทหารกองหนุนที่เวียนกันเข้ามาฝึกได้ทุกปี แทนที่จะต้องเกณฑ์ทหารให้บางคนเดือดร้อนไป 2 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี

หากข้อเสนอทั้งหมดที่ผมกล่าวมายังไม่เหมาะสม ก็ชี้แนะได้เต็มที่นะครับ แต่ผมอยากย้ำว่า ทั้งหมดที่ผมพยายามนำเสนอ ก็เพื่อให้กำลังพลและทหารกองหนุนมีสมรรถภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ารูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
รักทหาร ต่อต้านการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook: Decharut Sukkumnoed

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.