Posted: 20 Apr 2018 11:29 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เครือข่าย 'ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' ออกแถลงการณ์เสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมยืนยันต้องรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการ

21 เม.ย. 2561 เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เผยแพร่แถลงการณ์ เครือข่าย 'ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' โดยระบุว่าเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้กล่าวถึงเหตุผลว่า “เหตุใดจึงต้องรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการ ภาค 5” มาโดยตลอด กล่าวคือ เพื่อลบรอยแผลบนผืนป่าแห่งนี้ออกไปเสีย คืนผืนป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ไม่เพิ่มมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์ก่อสร้างบ้านพักบนพื้นที่ไม่เหมาะสม บนพื้นที่ลาดชัน ทำลายป่าและต้นไม้หวงห้าม เปลี่ยนแปลงทางน้ำ ถมแหล่งน้ำ ทำลายโขดหิน เปิดหน้าดิน สร้างมลพิษทั้งทางน้ำ เสียง ความสั่นสะเทือน แสงไฟสว่างต่อสัตว์ป่า มีความเสี่ยงน้ำท่วม ดินถล่ม ไฟป่า กระทบต่อน้ำดิบในการทำประปาของคนเชียงใหม่ รวมถึงที่แห่งนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูง ทั้งเรื่องไฟป่า น้ำป่า และดินสไลด์ เนื่องจากการก่อสร้างขวางลำห้วยถึง 3 สาย เป็นการกระทำที่เป็นการขีดแนวการก่อสร้างล้ำเข้าไปในป่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้หน่วยงานและประชาชนอื่นที่ไม่มีจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเสื่อมในศรัทธาต่อฝ่ายตุลาการจะคงอยู่อย่างน่าเศร้าเสียใจ สร้างความขัดแย้งของประชาชนต่อข้าราชการตุลาการ และที่สำคัญสุด คือ มิให้กระทบต่อความรู้สึกของชาวล้านนาที่มีต่อดอยสุเทพ ดอยอันศักดิ์สิทธิที่พวกเรานับถือมาอย่างยาวนานเกินกว่าพันปี พวกเราจึงไม่มีวันที่จะยอมรับได้ เมื่อเกิดการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี และความเชื่อของเรา ทั้งๆ ที่พวกเราต่างร่วมกันคัดค้านมาตั้งแต่ต้น มันคือความเจ็บปวดเหลือเกิน เมื่อหน่วยงานที่เราศรัทธามาตลอด กลับทำร้ายจิตใจ และก้าวล่วงต่อดอยสุเทพที่เราศรัทธายิ่งได้มากถึงขนาดนี้

แนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

1) เพื่อความปลอดภัย แก้ปัญหาปัจจุบัน และป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายจึงห้ามมีกิจกรรมของมนุษย์บนบ้านพักตุลาการจากแนวเขตป่าเดิมขึ้นไป (No man’s land) โดยออกเป็นมติครม. หรือกฎหมาย

2) เสนอให้พื้นที่ป่าบ้านพักตุลาการและที่ราชพัสดุทั้งหมดเชิงดอยสุเทพผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งทางอุทยานดอยสุเทพ-ปุยกำลังดำเนินขยายเขตอุทยานอยู่แล้วและเป็นวิสัยทัศน์ของกรมอุทยานฯ อีกด้วย ที่จะเพิ่มพื้นที่อุทยานฯ เป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ.2569 จึงขอผนวกพื้นที่ป่าราชพัสดุตีนดอยสุเทพทั้งหมดเข้าไปด้วย เพื่อตอบวิสัยทัศน์กรมอุทยานฯ และรับเอาสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่า ให้เป็นสัตว์ป่าตามกฎหมายและร่วมกันฟื้นฟูป่า ระบบนิเวศน์ภูเขา รวมทั้งป้องกันการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่นๆ อีกในรูปแบบใหม่ลักษณะ Co-management ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ

3) ระหว่างกระบวนการขยายเขตอุทยานฯ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาดำเนินการขอให้มีการประเมินผลกระทบ ความเสียหาย และให้มีการฟื้นฟูนิเวศน์ป่าดอยสุเทพในพื้นที่ดังกล่าวโดยผู้ชำนาญการและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วทำ MOU ระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ห้ามมีการใช้พื้นที่ ดำเนินการโดยผู้ว่าฯ แม่ทัพภาค 3 มทบ.33 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศน์ภูเขาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

4) ให้ตั้งคณะที่เชี่ยวชาญมาวางแผนขั้นตอนการ "รื้อบ้านพักตุลาการ" โดยที่จะไม่ถูกฟ้องร้องภายหลัง นายกสามารถแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

5) รัฐบาลควรจะนำเอาโครงการบ้านพักตุลาการบนดอยสุเทพนี้ เป็นกรณีตัวอย่าง ให้กับประชาชนของประเทศ ให้ได้เรียนรู้ โดยทำเป็นสื่อที่รวบรวมข้อมูลให้ประชาชน คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงเพื่อศึกษาเรียนรู้ (ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์) โดยตั้งเป็น “ธรรมนูญป่า” ของประเทศ ที่มีหลักคิด คือ เอาสายใยความเชื่อความผูกพันและสิทธิความเป็นเจ้าของนิเวศวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นและความยั่งยืนเป็นหลัก เพื่อบอกกับประชาชนทุกคนว่า เราจะไม่ทำลายป่า โดยไม่มีเหตุอันควร

6) ให้มีการประกาศเป็นทางการต่อสาธารณะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่าจะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปใช้พื้นที่ราชพัสดุที่เป็นป่ารอยต่อแนวป้องกันระหว่างพื้นราบกับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย อีกต่อไป โดยจะประกาศเขตอุทยานฯ คลุมลงมาให้เป็นป่าผืนเดียวกันในที่สุด

7) ให้มีการประกาศให้พื้นที่ป่าดอยสุเทพเป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามในมาตรา 43-45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อป้องกันหรือยับยั้งการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินใดๆ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านธรรมชาติ และศิลปกรรมให้ดำรงอยู่และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ข้อเสนอสองทางเลือก

ขณะนี้ท่านนายกฯ คือ ที่พึ่ง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอันเรื้อรังนี้ได้ โดยท่านมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ รื้อ กับไม่รื้อ

ข้อ 1 ถ้ารื้อ

1) ปัญหาก็จะจบ ชาวเชียงใหม่จะยุติการเรียกร้อง บ้านเมืองสงบ ปัญหาไม่บานปลาย กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามเกิดเป็นเรื่องใหญ่ในภายหน้า และเมื่อรื้อถอนไปจะทำให้มีบรรยากาศที่ดี ก่อนมีการเลือกตั้ง

2) เมื่อมีการฟื้นฟูป่า แม้จะใช้เวลา แต่คนพื้นที่พร้อมจะระดมสรรพกำลังกาย กำลังทรัพย์ช่วยกันจะทำให้บาดแผลอันใหญ่และลึก ทั้งบาดแผลที่เป็นป่าแหว่ง และบาดแผลบนจิตใจของชาวเชียงใหม่ และคนไทยทั้งปวงค่อยๆ ลบเลือนไป

3) คนรุ่นนี้ คนรุ่นปัจจุบัน ก็จะไม่ถูกประณามจากรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะได้สู้..เพื่อดอยสุเทพ พวกเราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้แล้ว สู้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง ไม่มีเหตุผลทางการเมืองทุกระดับเข้ามาเกี่ยว ด้วยสองมือของประชาชนผู้ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะดอยสุเทพคือมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา

4) ชาวเชียงใหม่ คนภาคเหนือ และคนไทยทั้งประเทศ จะเกิดความศรัทธาต่อ นายกฯ ประยุทธ จันทร์โอชา ว่าท่านมีหัวใจเป็นธรรม เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในทุกมิติ ท่านรักษาคำสัตย์ ที่ว่า “จะคืนความสุขให้กับคนไทย” เป็นนายกที่มีหัวใจละเอียดอ่อน รักสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รักษาป่า ตามนโยบายที่เคยประกาศไว้ รวมทั้งเป็นผู้ที่จริงจังน้อมนำต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการรักษาป่า ดูแลป่า

5) ทุกคนมีความสุข win - win แม้จะพบกับข้อยุ่งยากด้านกฎหมายบางประการ แต่เพื่อสิ่งที่ดีงามของประเทศโดยองค์รวม ปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้อย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ซึ่งตอนนี้ทางเครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านบ้านพักข้าราชการตุลาการ เพื่อขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จำนวนกว่า 50,000 รายชื่อ แนบนำเสนอ พร้อมกับมติของคณะกรรมการร่วมมาด้วยแล้ว

ข้อ 2 หากท่านไม่รื้อ... โดยอ้างว่าเสียดายงบประมาณ จะเก็บไว้ทำศูนย์การเรียนรู้

แสดงให้เห็นว่านายกไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น ไม่เข้าใจหัวอกชาวเชียงใหม่ ไม่เข้าใจศรัทธาของคนล้านนาที่มีต่อองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพ และครูบาศรีวิชัย การเสนอให้เก็บไว้ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ ไม่ใช่เจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นของชาวเชียงใหม่และไม่เชื่อว่าส่วนรวมจะได้ประโยชน์จริง จึงต้อง 'รื้อ' เท่านั้น เอา ตาน้ำ ห้วยชะเยือง ห้วยแม่หยวก ป่า และสิ่งแวดล้อมดีๆ คืนมา ส่วนรวมจึงจะได้ประโยชน์จริงๆ การเอาไปทำอย่างอื่นที่ประชาชนไม่อยากได้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ความสิ้นเปลือง และปัญหาใหญ่จะตามมาอีกมาก เพราะท่านจะต้องเตรียมรับมือจากพลังประชาชนที่รักป่าทั้งประเทศอันเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีต่อความเชื่อ ความศรัทธา ที่จะไม่ให้มีใครมาตัดไม้ทำลายป่า และมาลบหลู่ดอยศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

เรื่องนี้ จะจบไม่สวย...จะบานปลาย กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า บ้านเมืองที่เพิ่งกลับมาสงบร่มเย็น ก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย บาดหมาง ไม่รู้จักจบสิ้น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเสื่อมในศรัทธาต่อฝ่ายตุลาการจะคงอยู่อย่างน่าเศร้าเสียใจ

อีกประการหนึ่ง สถานที่แห่งนั้น บัดนี้เป็นเสมือนเมืองต้องคำสาป ย่อมไม่มีใครต้องการเข้าไปใช้บริการ หรือทำงานอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องทนต่อสายตา และเสียงก่นด่าของคนเชียงใหม่ อีกทั้งยังต้องวิตกกังวลต่อภัยพิบัตินานาที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ เพราะทำเลตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ

บัดนี้ อยู่ที่ท่านแล้วครับว่า จะเลือกทางไหน
เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกฯจะเข้าใจถึงเหตุผลอันละเอียดอ่อนนี้ และไตร่ตรอง มองเห็นปัญหาอย่างลึกซึ้งในทุกมิติสังคม เพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นผลดีต่อส่วนรวมได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เครือข่าย "ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ" ที่ได้เปิดแคมเปญผ่านเว็บไซต์ www.change.org ด้วย ดูเพิ่มเติมที่ https://goo.gl/N2cnns

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.