ซ้ายไปขวา: มีชัย วีระไวทยะ กฤษดา เรืองอารีรัชต์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เรืองโรจน์ พูนผล

Posted: 21 Apr 2018 05:19 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

วงเสวนาปฏิรูปการศึกษา นำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาไทยให้เป็น 4.0 หนุนโรงเรียนแนวใหม่ ร่วมรัฐ เอกชน ประชาสังคม ลดกฎระเบียบ รวมกลุ่มทุกภาคส่วนเป็นภาคีจัดทำนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บน ชวนคนช่วยกันคิดเทคโนโลยี นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนต้องสร้างผลผลิตที่หุ่นยนต์แทนไม่ได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI ร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ TEP จัดเสวนา “Reform Showcase: การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0” โดยมี ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย มีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Thailand และกองทุน 500 Tuk Tuks และสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เป็นวิทยากร

มีชัยได้นำเสนอนโยบาย Partnership School หรือชื่อเดิมคือ Public School คือนโยบายใหม่ที่ให้อิสระโรงเรียนในการบริหารจัดการและคัดเลือกบุคลากรได้เอง เป็นการปรับรูปแบบบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวและเป็นอิสระมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมนอกเหนือจากภาครัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชน สถานประกอบการ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนเริ่มพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อปลดล็อคกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคลากรและหลักสูตรวิชาการ และได้กำหนดแนวทางในการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ รวมถึงคัดเลือกองค์กรเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนโรงเรียนต้นแบบเหล่านั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเกิดส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

มีชัยกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนชื่อจาก Public School เพราะว่ากลัวชื่อจะสับสนกับโรงเรียนรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ยื่นขอร่วมโครงการ Partnerchip School กว่า 60 โรงเรียน มีบริษัทเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมเป็นภาคี โดยมีจากทั้งกลุ่มที่ร่วมมือในนโยบายประชารัฐและบริษัทอื่นๆ บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ถึงสองเท่า โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้

กฤษดานำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาด้วยการขับเคลื่อนจากภาคประชาชน เพราะเห็นว่า ที่ผ่านมามีความยายามในการปฏิรูปการศึกษามากว่า 20 ปี แต่ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เพราะนโยบายที่ดีที่มาจากข้างบนลงล่างที่นโยบายออกมาจากส่วนกลางให้ปฏิบัติตาม มักไม่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ การปฏิรูปแบบบนลงล่างจึงไม่เกิด ถ้าพ่อแม่และครู และเด็ก โรงเรียน ชุมชนไม่เชื่อถือในแนวทางปฏิบัติ เช่น ครั้งหนึ่งเกิดนโยบายให้เด็กเรียนใกล้บ้าน ใกล้ที่ไหนเรียนที่นั่น ปรากฎว่าคนแห่ย้ายที่อยู่เยอะ กลายเป็นอยากเรียนที่ไหนก็ย้ายไปที่นั่น หรือกรณีที่ครูให้เด็กออกไปทำกิจกรรมข้างนอก พ่อแม่ก็มาด่าว่าสอนแบบนี้เด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร

แม้มีความพยายามขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาไทยดังที่คาดหวัง จึงนำมาสู่การก่อตั้งภาคีเพื่อการศึกษาไทย เกิดจากการรวมตัวขององค์กรภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม และบุคคลที่มีความเชื่อเดียวกันว่าระบบการศึกษาที่ดีเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เป็นการสร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วมกันด้วยการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ให้คนทั่วไปตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากจุดที่ตนอยู่

เรืองโรจน์ นำเสนอความเคลื่อนไหวทางสังคมในโครงการ Education Disruption & EdTech Hackathon ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเทคโนโลยีและนักการศึกษาเพื่อ disrupt การศึกษาไทย โดยเห็นว่า ศตวรรษที่ 21 กำลังถูกถาโถมด้วยสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี ตัวอย่างกำลังเกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนคือการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเกือบทุกด้าน การศึกษาที่ยังสร้างคนเพื่อป้อนเข้าระบบโรงงานจะทำให้สังคมมนุษย์ล้มเล้ว

ในอนาคต ระบบการศึกษาจะต้องดึงความเป็นคนให้กลับมา โดยต้องสร้างทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้เช่น การแก้ปัญหาซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ ห้องเรียนในอนาคตจะต้องเน้นพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคลและควรถูกกำหนดโดยนักเรียนที่จะเป็นคนอยู่ต่อไปในอนาคต เพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดเช่นนี้ โดยปัจจุบันตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาหรือ EdTech มีความน่าสนใจมากขึ้น มีแหล่งทุนมากขึ้นและมีคนที่เข้ามาทำงานมากขึ้น

สมเกียรตินำเสนอนโยบายเขตการศึกษาพิเศษเพื่อขยายผลโรงเรียนดีและสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษาในพื้นที่จริง คือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Reform Sandbox โดยระบุว่า สถานการณ์และระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประดับพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการขยายผลของการคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนในโรเรียน มีความต้องการปรับเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบที่แตกต่างจากระบบการศึกษาเดิม พร้อมทั้งต้องการให้มีการประเมินผลกระทบเพื่อหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศ

ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ โรงเรียนจะมีอิสระด้านการบริหารและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดนวัตกรรมด้านการสอนต่างๆ ตามบริบทของตน และจะไม่มีภาระการดำเนินโครงการพัฒนาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายผลนวัตกรรม ฝ่ายบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกันทั้งด้านหลักสูตร สื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผลและอื่นๆ ซึ่งความสอดคล้องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบการศึกษาใหม่

ทางผู้จัดงานยังได้เชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมงาน TEP Forum 2018 “ถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาไทย” ในวันที่ 5-6 พ.ค. 2561 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ติดตามข่าวสารและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ Facebook: TEP - Thailand Education Partnership และ Facebook: tdri.thailand

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.