Posted: 03 Aug 2018 02:22 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

Submitted on Fri, 2018-08-03 16:22


ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: เรื่อง

กิตติยา อรอินทร์: ภาพประกอบ

ย้อนดูกลไกการร้องทุกข์ของทหารเกณฑ์ พบมีความย้อนแย้งในตัวเอง มีข้อจำกัดสูง ขณะที่กลไกตรวจสอบกองทัพโดยพลเรือนยังเป็นเพียงฝันที่เลือนลาง สื่อมวลชนจึงกลายเป็นพื้นที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาไทยินดีรับทุกเรื่องราวการละเมิดสิทธิในค่ายทหาร

1.พลทหารเกาลูนและเรื่องราวของเขา

หัวใจที่ไม่ทนต่อความอยุติธรรม กับสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตได้ คือปัจจัยสองอย่างที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อแอคเคาท์ว่า “เกาลูน ลายน้อย” ใช้มันเพื่อร้องเรียกความเป็นธรรมให้กับตัวเอง นานนับเดือนที่เขาตกอยู่ในสถานะของคนงานเลี้ยงไก่ชน แน่นอนอาชีพนี้ไม่ได้แย่ และเป็นอาชีพสุจริต หากแต่ว่าเขาไม่ได้สมัครใจมาเป็นคนเลี้ยงไก่ ความตั้งใจแต่เดิมคือ การสวมเครื่องแบบทหาร เพื่อรับใช้ในสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งเขาเรียกมันว่า “ชาติ”

เขาใช้ความกล้า หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายทอดสดผ่านแอปพลิเคชั่นเฟสบุ๊ก บอกเล่าเรื่องราวที่คับอกคับใจ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม “นี่คือความเป็นอยู่ที่ผมต้องมาทุกข์ทนอยู่ที่นี่” คือประโยคแรกที่เขาพูด เขาเล่าว่าเต็มใจสมัครมาเป็นทหารเกณฑ์ ตั้งใจที่จะมาเป็นทหาร แต่หลังจากเสร็จหลักสูตรการฝึก 10 สัปดาห์เขาถูกเรียกตัวให้ไปอยู่กับนายทหารยศร้อยเอก และหน้าที่หลักสำหรับเขาหลังจากฝึกทหารเสร็จคือการเป็น “คนงานเลี้ยงไก่ชน”

หลายคนคงสงสัยกองทัพไทยทำไมจึงมีงานเกี่ยวข้องกับไก่ชน ไม่ต้องไปควานหาคำตอบจากที่ไหน พลทหารเกาลูน เล่าผ่านการถ่ายทอดสดไว้แล้วว่า ฟาร์มไก่ชนที่เขาได้รับหน้าที่มาดูแลนั้นไม่ได้เป็นสมบัติของกองทัพ หรือสมบัติของชาติแต่อย่างใด หากแต่เป็นฟาร์มไก่ชน ซึ่งเป็นธุรกิจของนายทหารยศร้อยเอกที่เรียกตัวเขามา

เงินเดือนที่เกาลูนได้รับเป็นเงินที่ได้มาจากภาษีของเราทุกคน แต่งานที่เกาลูนต้องทำกลับกลายเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับบุคคลเพียงคนเดียว และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ “ชาติ” อย่างที่เขาตั้งใจจะรับใช้มัน ยิ่งไปกว่านั้นคุณภาพชีวิตในฟาร์มไก่ชนของเขา ก็ไม่ได้แตกต่างจากไก่ที่เขาดูแลมากนัก เขากับเพื่อนทหารอีกคนต้องนอนอยู่บนแคร่ไม้ หมอนคนละใบ ผ้าห้มคนละผืน มีเตาแก๊สอยู่หนึ่งเตา หม้อต้ม กะทะ อย่างละหนึ่งที่เตรียมไว้สำหรับหุ้งหาอาหาร แต่ก็ไม่วายที่เหล่านักสู้ตีปีกจะมาเดินเหยียบย่ำไปทั่ว ดีขึ้นมาหน่อยคือมีตู้เย็น แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกนายทหารยศร้อยเอกเจ้าของฟาร์มนำตู้เย็นมาไว้สำหรับแช่อาหารไก่ ไม่ใช่อาหารของคน อย่าพึ่งคิดว่าแค่นี้ก็แย่แล้ว การถูกด่าราวกับขี้ข้า สภาพอากาศแย่ ไก่ไม่สบาย แต่คนโดนด่า ถูกสั่งให้เอาไก่มาตีกัน แต่พอไก่บาดเจ็บ คนต้องเจ็บด้วย คือสิ่งที่เขาเผชิญเป็นปกติ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ลูกผู้ชายที่หวังจะทำเพื่อ “ชาติ” ได้มาเจอ จนกระทั่งเขาทนมันต่อไปไม่ไหวและเลือกที่จะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้ทุกคนได้รับรู้ เพื่อหวังว่าคงจะมีใครสักคนที่จะช่วยเขาและเพื่อนได้

ไม่นานนัก คลิปที่เขาระบายความอัดอั้นใจออกมาก็ถูกเห็นโดยคนจำนวนมาก สื่อหลายสำนักต่างพากันนำเสนอเรื่องของเขา คำถามสำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้า เช้าวันถัดมาจะต้องได้คำตอบ คำอธิบาย และมาตรการแก้ไขปัญหา
2.กองทัพขอแก้ไขปัญหาในความเงียบ

เรื่องของเกาลูนเหมือนจะจบลงด้วยการที่เขาถูกดึงตัวกลับมาที่กองร้อย และทหารกองทัพบกได้ตั้งคณะกรรมตรวจสอบนายทหารที่สั่งให้เขาและเพื่อนไปเลี้ยงไก่ที่ฟาร์มของตัวเอง ไม่นานนักเรื่องราวก็เงียบไป พร้อมกับการออกมาทิ้งทายของพลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ออกมาพูดถึงการร้องทุกข์ของนายทหารทุกระดับว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 ได้ เพราะการปกครองบังคับบัญชาทหารและการดำรงรักษาวินัย ผู้บังคับบัญชาบางคน อาจใช้อำนาจในทางที่ผิดยุติธรรม ผิดกฎหมาย หรือผิดแบบธรรมเนียมทหาร มีผลให้ผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับประโยชน์ หรือสิทธิที่ควรจะได้รับ หากไม่ทราบว่าตนได้รับความเดือดร้อนจากผู้ใด ให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือ หากได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาตนเอง ให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชาสูงถัดขึ้นไป

ถ้าภายใน 15 วัน หากยังไม่ได้รับการชี้แจง ให้สามารถร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาสูงถัดไปเป็นลำดับอีก เพื่อการสั่งการไต่สวนและแก้ความเดือดร้อน ทั้งนี้ได้กำหนดไว้ชัดเจน ให้ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ จะเพิกเฉยไม่ได้เด็ดขาด ต้องรีบไต่สวนแก้ไขความเดือดร้อน และชี้แจงโดยเร็ว หากเพิกเฉยนับว่ากระทำผิดต่อวินัยทหาร หรือ หากการร้องทุกข์อันเป็นเท็จ ผู้ร้องทุกข์ ต้องมีความผิดต่อวินัยทหารเช่นกัน

เรื่องราวเหมือนจะมีการวางแนวทางแก้ไขต่อไปในอนาคต แต่ที่สุดแล้วหน้าที่หลักของการเป็นโฆษกประจำสถาบันหนึ่งๆ นอกจากจะออกมาชี้แจ้งข้อมูลแล้วยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือ การรักษาหน้าตาของสถาบันนั้น คำพูดสำคัญที่ตัดออกไปเสียไม่ได้ของ โฆษกกระทรวงกลาโหมคือ

“กระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ได้รับ จนได้ข้อยุติในทุกเรื่อง และขอให้เชื่อมั่นในสถาบันกองทัพ ด้วยการนำข้อมูลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกิจการทหาร ส่งตรงถึงแต่ละเหล่าทัพ ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจากกองทัพ และส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมโดยตรง โดยไม่เกิดช่องว่างให้มีกลุ่มบุคคลตัวกลาง นำไปสร้างภาพแอบแฝง และแสวงประโยชน์ บิดเบือน เชื่อมโยงข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้างความสับสนให้กับสังคมต่อภาพลักษณ์และเกียรติภูไม่ของกองทัพ” พลโทคงชีพ กล่าว

นัยสำคัญของคำพูดดังกล่าวคือ ต่อไปนี้หากเป็นทหารเกณฑ์ หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกกลั่นแกลง หรือรังแก ให้ร้องทุกข์ต่อกองทัพโดยตรง ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เพราะเกรงว่าจะมีการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลอื่นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และทำให้เกียรติภูมิของกองทัพไทยเสียหาย
3.แล้วเราเชื่อมั่นในกองทัพได้อย่างนั้นหรือ

กลไกในการร้องทุกข์ดังกล่าวเองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีอยู่แล้วตามปกติ แต่คำถามสำคัญคือ เราจะเชื่อมั่นนกลไกนั้นได้อย่างไร นับจากปี 2552 เป็นต้นมาพบว่ามีทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหาร เสียชีวิตในขณะที่อยู่ในช่วงเวลาของการฝึกในค่ายทหารไม่น้อยกว่า 10 ศพ (นับได้เฉพาะกรณีที่เป็นข่าว) ซึ่งจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากการสั่งลงโทษโดยผู้บังคับบัญชา บางกรณีใช้เวลานานกว่าผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ เช่น พลทหารวิเชียร เผือกสม บางกรณีพบว่าในช่วงแรกมีการบิดเบือนสาเหตุการเสียชีวิต เช่น สิบโทกิตติกร สุธีพันธ์ นอนหนาวตายในคุกทหาร แต่ร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผลฟกช้ำจำนวนมาก


ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

หรือตัวอย่างการร้องทุกข์ที่นำไปสู่ความตายของผู้ร้องก็เคยมีให้เห็น เช่นกรณีพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ซึ่งจับได้ว่านายสิบขโมยเงิน จึงได้ท้วงคืน แต่สุดท้ายกลับถูก นายทหารยศร้อยตรีซึ่งเป็นทหารเวรอยู่ในขณะนั้น ออกคำสั่งให้ทหารเวร 5 นาย ลงโทษปรับปรุงวินัยพลทหารทรงธรรม จนกระทั่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และพันเอกวินธัย สุวารี โฆษกทัพบก ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่พลทหารทรงธรรมถูกลงโทษนั้น เกิดจากการกระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กรณีดังกล่าวไม่ปรากฏบนหน้าสื่อสักพัก จนกระทั่ง 6 เดือนต่อมา 19 ต.ค. 59 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหาร โดยระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร.ต.ภัฏณัท เลิศชัยกุล สังกัดกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้สั่งการลงโทษพลทหารทรงธรรมนั้น ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.59 ซึ่งเป็นวันที่มีคําสั่งปลดออกจากราชการ เนื่องจากกระทําความผิดวินัยทหารฐานขัดคําสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและการขัดคําสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
4.ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ความย้อนแย้งในกลไกร้องทุกข์ของทหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดทำให้ความมั่นเชื่อที่ควรจะมีให้กับกองทัพลดลงน้อยลงไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ว่ากันว่าดินแดนในค่ายทหารถือเป็นดินแดนสนธยา กระบวนการในการตรวจสอบเรื่องราวการร้องทุกข์ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความมืดและความเงียบเช่นกัน เพราะบุคคลที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคนของกองทัพ ไม่มีช่องว่างให้สายตาของพลเรือนเขาไปสอดส่องหาความจริง กระบวนการที่ปิดลับนี้ดำรงอยู่กับค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมาอย่างเนินนานของลูกผู้ชายในกรมกองคือ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” พูดให้ง่ายนี่คือกระบวนการสอบสวนที่ปิดลับจากสายตาของพลเรือน ที่ถูกห่อหุ้มด้วยวัฒนธรรมของระบบพวกพ้อง และการปกป้องกันเอง

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 ก็ดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งในตัวเอง ในขณะที่ระบุช่องทางในการร้องทุกข์ไว้ แต่ก็ได้จัดวางสถานะภาพ ลำดับขั้น และธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างทหารชั้นผู้น้อยและทหารชั้นผู้ใหญ่ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่ปฎิบัติตามคำสั่งไม่ได้ และห้ามมีพฤติกรรมที่ไม่สมควร

สำหรับการร้องทุกข์นั้นทหารสามารถร้องทุกข์ให้ได้เพียงเฉพาะเรื่องของตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่นเป็นอันขาด และห้ามไม่ให้ลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามไม่ให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะที่ร้องทุกข์

ห้ามไม่ให้ร้องทุกข์ในเวลาที่ตนกําลังเข้าแถว หรือในขณะที่กําลังทําหน้าที่ราชการ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเวลาเป็นยาม เป็นเวร และห้ามไม่ให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว 24 ชั่งโมง นับตั้งแต่ที่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์เกิดขึ้น

ห้ามไม่ให้ร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นไม่ได้ลงทัณฑ์เกินอํานาจที่จะทําได้

การร้องทุกข์ผ่านกลไกของกองทัพจึงถึงเป็นเรื่องที่ถึงได้ยาก และผู้ที่ร้องทุกข์ก็ต้องเปิดตัวเองว่ากำลังมีเรื่องร้องทุกข์อยู่กับนายทหารที่มียศสูงกว่า ในขณะที่ตนเองยังอยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา และหากผลการตรวจสอบออกมาพบว่า ข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จ หรือการร้องทุกข์นั้นกระทําไป โดยผิดระเบียบ ผู้ร้องทุกข์จะต้องมีความผิดฐานกระทําผิดต่อวินัยทหาร ซึ่งนี้เป็นไปได้น้อยมากสำหรับการร้องทุกข์โดยทหารเกณฑ์หรือทหารชั้นผู้น้อย ที่ถูกฝึกและคาดหวังให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น
5.หน่วยงานพลเรือนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ กลไกปกป้องสิทธิ ที่ไทยยังไปไม่ถึง

แนวคิดการตรวจสอบกองทัพโดยหน่วยงานพลเรือนไม่ใช่สิ่งใหม่ หลายประเทศในโลกมีการจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ โดยเฉพาะในด้านการประพฤติปฏิบัติระหว่างกำลังพลด้วยกันแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่คุณภาพชีวิตระหว่างประจำการ การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการพูดจาเหยียดหยามเชื้อชาติและเพศสภาพ ภายใต้ชื่อกว้างๆ ว่า ‘ผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman)’


ผู้ตรวจการกองทัพ: ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร โมเดลต่างชาติและเงื่อนไขของไทย

ศูนย์สำหรับการควบคุมกองทัพอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งเจนีวา หรือ Geneva Centre for Democratic Control of Armed Forces (DCAF) หน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ในการสนับสนุน เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการปฏิรูปในภาคความมั่นคง (Security Sector Governance - SSG and Security Sector Reform - SSR) ให้คำนิยามเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ตรวจการกองทัพเอาไว้ดังนี้

ผู้ตรวจการกองทัพเป็นกลไกอิสระจากโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพ มีหน้าที่ตรวจสอบภาคความมั่นคงว่าดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิด ไม่เหมาะสม และข้อบกพร่องในทางการดำเนินงานในกองทัพ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพไม่มีหน้าที่ในการบังคับใช้หรือตัดสินใจนโยบายกลาโหม แต่มีหน้าที่ในการแก้ไขและสนับสนุนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมในภาคความมั่นคง

ตัวอย่างจากประเทศเยอรมันนี ผู้ตรวจการกองทัพแห่งรัฐสภา (The Parliamentary Commissioner for the Armed Forces) มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพลตั้งแต่ระดับพลทหารจนถึงระดับนายพลในประเด็นที่กำลังพลเห็นว่าตนได้รับการดูแลที่ไม่เป็นธรรมในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหน้าที่ในแต่ละวันไปจนถึงปัญหาในเรื่องสังคม ราชการ และเรื่องส่วนตัว กำลังพล ‘ทุกคน’ สามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากผู้ตรวจการกองทัพโดยตรง และมีรายงานประจำปีของผู้ตรวจการกองทัพที่สามารถเขาถึงได้ง่าย ในขณะที่ไทยเองยังไม่มีการพูดถึงองค์กรในลักษณะนี้เลย

ภายใต้สถานการณ์ที่การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน ยังถูกระบุอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ยังคงบังคับให้ชายไทยทุกคนต้องผ่านการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการอยู่ ยังคงมีพลเรือนปีละกว่า 1 แสนคน เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ที่อยู่ในสถานะที่ต่ำที่สุดของกองทัพอยู่ ในขณะที่กลไกการร้องทุกข์ผ่านกองทัพก็ยากที่จะเชื่อมั่น และยังไม่มีการวางแนวทางในการให้มีองค์ตรวจสอบกองทัพที่ทำหน้าที่โดยพลเรือน สื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ อาจจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการเรียกร้องความเป็นธรรมของทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อย ในฐานะของมนุษย์


ประชาไท มุ่งหวังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อยที่ได้รับความไม่เป็นธรรม เรายินดีรับเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร เผยแพร่สู่สาธารณชน ตราบเท่าที่ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารเราหวังว่าคุณภาพชีวิตของทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อยจะดีขึ้น และได้รับการปฏิบัติในฐานะของ “มนุษย์” ผ่านช่องทาง เฟสบุ๊กแฟนเพจ ประชาไท (https://www.facebook.com/Prachatai/) หรืออีเมล editor@prachatai.com

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.