Posted: 03 Aug 2018 05:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-08-03 19:18
วาด รวี
เรื่องพรรคอนาคตใหม่ กับท่าทีเรื่อง 112 และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ผมเสนอให้บรรดากรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนและเหล่าที่ปรึกษาโดยเฉพาะปัญญาชนที่มีความหวังกับพรรคนี้ลองใคร่ครวญกันดูให้ดีๆ ในขณะที่ยังพอมีเวลาอยู่
ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เกี่ยวพันกับรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยไทยที่ทั่วโลกจับตามอง และสื่อต่างประเทศรวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด
มันจะเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้เลยสำหรับนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่จะบอกว่าพรรคการเมืองใหม่ของคนรุ่นใหม่ของไทยที่เสนอตัวเป็นความหวังกลับไม่มีนโยบายหรือท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ต่อเรื่องนี้ ที่ผ่านมาคนในไทยเองก็พยายามเรียกร้องความสนใจและใส่ใจจากนานาประเทศ แต่เมื่อเกิดพรรคการเมืองใหม่ที่รวมเอาบุคคลากรผู้เคยเรียกร้องต่างชาติให้ช่วยเข้ามาดูกลับไม่มีนโยบายใดๆ เลยเสียเอง
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผลัดไปก่อนเอาไว้ค่อยคิดทีหลัง หรือเป็นเรื่องที่ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของที่ประชุมพรรคอย่างเป็นไปตามยถากรรมโดยไม่มีการอภิปราย คิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน หรือชี้ให้สมาชิกพรรคได้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง
มันไม่ใช่แค่ประเด็นสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเรื่องที่จะสะท้อนวิสัยทัศน์ ความเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองและปัญหารากฐานของประชาธิปไตยไทยของพรรคในฐานะองค์กรทางการเมืองที่ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล จริงๆ แล้วต้องพูดว่ามันคือประเด็นที่เป็นแกนหลักที่จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงและจะกำหนดทิศทางและตำแหน่งแห่งที่ของพรรค
พรรคอนาคตใหม่จะเอายังไงกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เป็นองค์กร head of state ซึ่งขอบเขตอำนาจและบทบาทเต็มไปด้วยความคลุมเคลือและเป็นปมใหญ่ทางการเมืองมาตลอดวิกฤตการเมือง และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เห็นกันแค่ภายในประเทศ แต่ทั่วโลกที่จับตามองต่างก็ทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดี?
การปล่อยปละละเลย ไม่นำประเด็นนี้ขึ้นมาหารืออย่างซีเรียส ในที่สุดแล้วโอกาสที่เรื่องนี้จะกลายเป็นความเงียบและส่งผลร้ายในภายหลังมีมากกว่าอื่นใด ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์กับความไม่สามารถจะแปรรูปอุดมการณ์ให้เป็นนโยบายที่เหมาะสมในความเป็นจริงเมื่อมีอำนาจทางการเมืองสามารถส่งผลกระทบแบบกลับตาลปัตรทำให้สถานภาพตกต่ำได้เพียงใดเราคงได้เห็นกันแล้วจากกรณีของอองซาน ซูจี
เป็นไปไม่ได้ที่จะนำพาประเทศออกจากวงจรของการรัฐประหาร วังวนของความขัดแย้ง ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีแผนการณ์ใดๆ ในเรื่องที่เป็นปมใหญ่ของประเทศ มันไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะไปคิดเอาระหว่างทาง หรือรอเวลาที่เหมาะสมในการปลดปล่อยความคิด แต่เป็นเรื่องที่ต้องแสดงให้รู้ บอกให้ทราบถึงจุดยืนที่ชัดเจน ผ่านนโยบายที่ใตร่ตรองมาอย่างดี และสื่อสารให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบอย่างโปร่งใส
ถ้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมจะเป็นผู้นำทางการเมืองและพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นนี้ ธนาธรจะมีอะไรที่แตกต่างจากผู้นำทางการเมืองที่ผ่านมา ถ้าธนาธรไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าตนเองมีจุดยืนและนโยบายในเรื่องนี้แตกต่างจากประยุทธ์ จันทรโอชาอย่างไร นั่นย่อมหมายถึงว่าต่อให้ธนาธรได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่ทำอะไรที่แตกต่างจากประยุทธ์ในเรื่องนี้?
คงจะต้องเป็น record ที่ตลกและเป็นข้อกังขาไปทั่วโลก ทั้งในวันนี้และในฐานะประวัติศาสตร์ในวันหน้า ที่จะบันทึกว่า พรรคปีกซ้ายของไทยที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่หลังวิกฤตการเมืองนับสิบปี ไม่มีความชัดเจนใดๆ เลยในเรื่องสถาบันกษัตริย์
การนับ 1 ในลักษณะนี้ ไม่ต่างกับการนับ 0 แต่อย่างใด
จำเป็นต้องเน้นย้ำให้ชัดเจนว่าผมไม่มีความต้องการแม้แต่น้อยที่จะให้พรรคอนาคตใหม่แสดงออกอย่างสุดขั้วหรือใช้ท่าทีแข็งกร้าว ไม่คาดหวังให้ต้องสามารถบรรลุผลในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะกฎหมาย 112 หรือประเด็นอื่นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และไม่แม้แต่เรียกร้องว่าขั้นต่ำของท่าทีหรือนโยบายที่จะแสดงออกมาจะต้องเป็นอย่างไร
หนทางในการนำเสนออย่างนุ่มนวลมีอยู่เต็มไปหมด บุคคลที่สามารถแสวงหาความร่วมมือมีเต็มไปหมด แม้แต่จากสถาบันกษัตริย์เอง ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ออกมาเปิดเผยในทางบวกหลังจากเข้าเฝ้า แต่ความเหมาะสมคืออะไร? เป็นสิ่งที่ไม่เกินสติปัญญาของบุคลากรจำนวนมากในพรรคอนาคตใหม่ หากเพียงแต่กล้าที่จะคิดเท่านั้น และดุลยพินิจแห่งความเหมาะสมนี้เองที่จะแสดงให้เห็นว่าพรรคยืนอยู่ตรงจุดไหนของการเมืองไทย
ประเด็นอยู่ที่ความตระหนักรู้ว่านี่คือภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้า ไม่ใช่หลบเลี่ยง มีความจำเป็นที่จะต้องกล้าคิด กล้าแลกเปลี่ยน กล้าปรึกษาหารือ จะต้องข้ามแนวเส้นของการปล่อยให้เรื่องนี้เป็นความเงียบ ไม่ใช่เฉพาะกับผู้นำพรรค แต่หมายถึงสมาชิกพรรคทุกคน พรรคที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่ไม่สำเหนียกถึงความสำคัญและจำเป็นของเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มก่อรูปในวันนี้ ก็จะกลายเป็นเพียงพรรคที่อ่อนหัด ไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับแรงเสียดทานที่อาจจะหนักหนากว่านี้ในวันหน้า
คนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นในวิกฤตสิบกว่าปีที่ผ่านมา คงไม่มีคนไหนที่จะเห็นว่า ประเด็นที่อ่อนไหวอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่จะดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ปราศจากซึ่งปัญหาอันแหลมคมใดๆ รอคอยอยู่ และไม่มีความจำเป็นต้องตระเตรียม ทั้งความคิดและจิตใจ สำหรับคนที่อาสาจะทำงานการเมือง
ยิ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวยิ่งต้องการความแข็งแกร่งทางความคิดและจิตใจ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงสปิริตและวัฒนธรรมทางปัญญาของพรรคที่สามารถผลิตความกล้าหาญทางจริยธรรม
ที่มาภาพ: ประชุมพรรคอนาคตใหม่ เชื่อโลกใหม่ สังคมใหม่ การเมืองแบบใหม่ "เป็นไปได้"[full-post]
แสดงความคิดเห็น