ที่มา: facebook.com/unrwa

Posted: 30 Jul 2018 03:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-07-30 17:58


เมื่อคนทำงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ต้องกลายมาเป็นผู้ตกระกำลำบากเสียเอง จากการที่หน่วยงาน UNRWA เลิกจ้าง-ระงับสัญญาจ้างคนทำงานองค์กรในฉนวนกาซานับพันคน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่เผชิญปัญหาความยากจนอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังตั้งข้อสงสัยว่าแนวทางนี้สอดคล้องกับแผนการรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์และอิสราเอล

30 ก.ค. 2561 อัลจาซีรารายงานเรื่องการเลิกจ้างคนทำงานของ 'สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้' (UNRWA) ที่ส่งผลให้ผู้คนในอาศัยอยู่ในฉนวนกาซาจำนวนมากต้องเผชิญกับการว่างงาน และรู้สึกตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่คนที่ทำงานมาเป็นเวลานานก็ถูกเลิกจ้าง

มีการระบุถึงกรณีของราฟฟัต อาบู ฮาชิม ผู้ที่ทำงานที่สำนักงาน UNRWA ในฉนวนกาซามาเป็นเวลานานถึง 32 ปีแล้ว แต่ในเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้เขาจะไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง มันทำให้เขารู้สึกตกตะลึงมาก เขาต้องทำงานหาเลี้ยงลูก 6 คน ยังมีบางคนที่อยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย รวมถึงยังมีภาระหนี้สินต่างๆ ที่เขาต้องชำระ

สาเหตุที่มีการเลิกจ้างพนักงานในสำนักงาน UNRWA เสียเองเช่นนี้เป็นเพราะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตัดการช่วยเหลือด้านเงินทุนถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างว่าชาวปาเลสไตน์ไม่สำนึกในบุญคุณจากเงินช่วยเหลือและอ้างว่า "ไม่ยอมเจรจาสันติภาพ" ขณะที่ทรัมป์เองก็ดำเนินนโยบายแบบที่ยุยงให้เกิดการต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์อย่างชัดเจน อย่างเช่น การรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นขัดแย้งหลักๆ ระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เรื่องการตัดงบประมาณยังส่งผลกระทบต่องานบรรเทาทุกข์ด้านอื่นๆ ในฉนวนกาซา ซึ่งประชากรในกาซามากกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจาก UNRWA ซึ่งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้านเสบียงอาหาร, การรักษาพยาบาล, สวัสดิการสังคม, การจ้างงาน และการเข้าถึงการศึกษา จากองค์กรนี้มาเป็นเวลาราว 70 ปีแล้ว

ในปัจจุบันการปิดกั้นฉนวนกาซาทำให้มีอัตราการว่างงานร้อยละ 44 และการที่ทรัมป์ตัดความช่วยเหลือด้านงบประมาณถึงร้อยละ 80 ทำให้มีคนในองค์กร UNRWA ถูกเลิกจ้างอีก 113 ราย และมีการยกเลิกต่อสัญญาจ้างพนักงานในฉนวนกาซาอีก ราว 1,000 ราย ซึ่งอาบู ฮาชิม ก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนหนึ่งที่ถูกเลิกยกสัญญาจ้างเป็นคนทำงานในโครงการด้านสุขภาวะทางจิตที่มีพนักงานอยู่ร้อยละ 430 ราย

การเลิกจ้างดังกล่าวทำให้มีการประท้วงหน้าสำนักงาน UNRWA ในกาซา โดยที่อามาล อัล บาตช์ รองประธานสหภาพแรงงานของ UNRWA กล่าวว่าการเลิกจ้างหมู่ครั้งนี้ถือเป็น "การสังหารหมู่ลูกจ้าง" เขาบอกอีกว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตงบประมาณนี้ไม่ควรใช้วิธีการผลักภาระให้ลูกจ้างตัวเองที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนในฉนวนกาซา การตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ยังจะส่งผลเสียต่อทั้งลูกจ้าง ครอบครัวลูกจ้าง และผู้ลี้ภัยในกาซา รวมถึงเมื่อประเมินจากสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ในกาซาแล้วจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนเหล่านี้ด้วย

บาตช์บอกอีกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าการเงิน พวกเขาเคยเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหลายวิธีแล้วแต่ผู้บริหารของ UNRWA ก็ปฏิเสธ พวกเขาจะยกระดับการประท้วงต่อไปจนกว่า UNRWA จะยกเลิกการตัดสินใจนี้

นอกจากอาบู ฮาชิม แล้ว ยังมีลูกจ้าง UNRWA รายอื่นๆ ที่ประสบความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง มีพนักงานหญิงรายหนึ่งชื่อ โมนา อัล คิชาวี ถูกปลดจากการจ้างประจำกลายเป็นลูกจ้างล่วงเวลาที่ได้รับเงินเดือนครึ่งเดียว คิชาวีเป็นหญิงม่ายที่ต้องทำงานเลี้ยงดูลูก 6 คน มีบางคนที่ยังเรียนอยู่

พนักงานหญิงอีกคนหนึ่ง ฮูไวดา อัล กูล ที่ทำงานให้องค์กรมาเป็นเวลา 16 ปีแล้ว และต้องหาเลี้ยงลูกอีก 5 คน เพราะสามีเธอที่เคยทำงานในอิสราเอลถูกทำให้ว่างงาน ลูกของเธอคนหนึ่งเป็นโรคหอบหืดและเป็นโรคปอดทำให้เธอต้องใช้เงินค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากและยังมีหนี้สินที่ค้างไว้กับธนาคาร เธอกล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราทั้งน้ำตาว่าเธอกลัวจะต้องถูกจับเข้าคุกเพราะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ การได้รู้ข่าวเรื่องปลดพนักงานทำให้เธอล้มป่วยทางใจจนต้องถูกส่งเข้าโรงพยาบาล

"การที่องค์กรด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมปฏิบัติต่อพวกเราแบบนี้มันมีเหตุผลแล้วหรือ" อาบู ฮาชิม กล่าว

โมห์เซน อาบู รอมฎอน นักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ในกาซากล่าวว่า UNRWA กำลังดำเนินนโยบายใหม่ในแบบที่จะทำให้สถานการณ์ในฉนวนกาซาเลวร้ายลงกว่าเดิม จากที่กาซาต้องเผชิญปัญหาความยากจนอย่างหนักและปัญหาการว่างงานภายใต้การถูกปิดล้อมมาเป็นเวลา 11 ปี องค์กรเหล่านี้กำลังเบี่ยงแนวทางสนับสนุนวาระของชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการหยุดการยึดครองพื้นที่และการปิดล้อมของอิสราเอลรวมถึงให้สิทธิในการคืนถิ่นฐานแก่ชาวปาเลสไตน์ให้กลายเป็นแค่เรื่องความช่วยเหลือแบบการกุศลแทน

รอมฎอนเปิดเผยอีกว่าผู้ที่เคยคิดนโยบายแบบนี้คือนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ที่คิดมาตั้งแต่ช่วงปี 2533-2543 โดยเรียกชื่อว่า "สันติเชิงเศรษฐกิจ" ซึ่งเอามากลบแนวทางแก้ปัญหาแบบยอมรับชาติปาเลสไตน์ และผู้ที่นำแนวทางของเนทันยาฮูมาใช้คือรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จากการเสนอแนะของที่ปรึกษาพิเศษที่เป็นลูกเขยขอทรัมป์เองที่ชื่อ จาเรด คุชเนอร์ ที่น่าเป็นห่วงคือ UNRWA แทนที่จะต่อต้านนโยบายเช่นนี้กลับยอมรับนโยบายเช่นนี้มาใช้เสียเอง แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการจัดประชุมระดมทุนแต่กลับใช้วิธีการบูชายันต์ลูกจ้างตัวเองและทำลายบริการที่ให้กับคนในกาซา

เรียบเรียงจาก

UNRWA job cuts in Gaza 'a massacre for employees', Aljazeera, 30-07-2018
https://www.aljazeera.com/news/2018/07/180729105810213.html
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.