ข้าวโลละ 5 บาท รัฐบาลล้มเหลวหรือไม่


Posted: 31 Oct 2016 04:56 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ถ้าพูดจาแบบผู้ไม่มีความรับผิดชอบก็ต้องเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 44 เรียกเจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวมาปรับทัศนคติฐานรับซื้อข้าวกิโลกรัมละ 5-6 บาทจากชาวนา ทำให้เกิดกระแสชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา สะท้อนถึงความบกพร่องของรัฐบาล คสช.ในการบริหารประเทศ

แต่คงไม่สามารถมีข้อเสนอแนะเช่นนั้นออกไปได้เนื่องจากการใช้อำนาจไปแก้ปัญหาโดยไม่รับฟังเหตุผลคงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและยั่งยืน

หลายคนคงสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวต้นฤดูกาลผลิตนาปีราคาถึงได้ตกต่ำอย่างน่าใจหาย มีคำอธิบายจากรัฐบาลผ่านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ว่า ที่ข้าวราคาตกเป็นเพราะน้ำฝนมีปริมาณมาก ข้าวเปลือกที่ออกสู่ตลาดมีความชื้นสูง แต่ราคาข้าวที่ตกไม่ใช่เกิดจากการสร้างสถานการณ์เพื่อกดราคาข้าว

นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าข้าวราคาตกจริง แต่สาเหตุเกิดจากข้าวมีความชื้นสูงจริงหรือไม่

รายงานข่าวจากเว็บไซต์แนวหน้า ระบุว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่จะเร่งเก็บเกี่ยวข้าว เพราะเกรงปัญหาข้าวเน่าเสีย ทำให้ข้าวมีความชื้นสูงเกินกว่าร้อยละ 30 ราคารับซื้อจากโรงสีจึงเหลือเพียงตันละ 5,000-6,000 บาท แต่หากเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นร้อยละ 15-20 ราคารับซื้อเฉลี่ยตันละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตลาดขณะนี้ (28 ต.ค. 2559)

นั่นหมายความว่า แม้จะตัดเรื่องความชื้นออกไป ราคาข้าวก็จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2 บาท จากกิโลกรัมละ 5-6 บาทเพิ่มมาเป็น 7-8 บาทเท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นราคาที่ต่ำอยู่ดีเมื่อเทียบกับสมัยมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่รับจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ก่อนจะลดลงมาเหลือเกวียนละ 13,500 บาทในฤดูกาลผลิตฤดูกาลสุดท้ายก่อนถูก คสช.ยึดอำนาจ เมื่อปี 2557

(โครงการรับจำนำข้าวจะจบลงพร้อมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วมีโครงการรับจำนำยุ้งฉางเข้ามาแทนที่ โดยเป็นโครงการที่มีหลักการคล้ายคลึงกันเพียงแต่ชื่อเรียกไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับหลายโครงการของรัฐบาลชุดนี้ อาทิ โครงการประชารัฐที่คล้ายกับโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ)

แม้จะมีตัวเลขราคาข้าวยืนยันเช่นนั้นแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีตัวแทนของรัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบและขอโทษชาวนาที่ขายข้าวได้ราคาต่ำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติของรัฐบาล คสช. ที่มีความเชื่อว่า พวกเขาเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรณีพิเศษ ความผิดชอบชั่วดีจึงอยู่ในสภาวะยกเว้น

กล่าวคือ เรื่องที่ปกติรัฐบาลอื่นทำถือว่าเป็นความผิด แต่ถ้ารัฐบาล คสช.ทำจะถือว่าไม่มีความผิด อาทิ การจัดซื้อไมค์ห้องประชุมทำเนียบรัฐบาลที่มีราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด ผลการสอบสวนออกมาเพียงว่าเป็นเรื่องของส่วนต่างแพงไม่ถึงขั้นทุจริต การหักค่าหัวคิวทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ผลการตรวจสอบไม่พบความผิดและได้คืนค่าหัวคิวแล้ว แต่ผู้ที่ต้องการไปตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์กลับมีความผิดเสียเอง เช่น กรณีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์

กรณีล่าสุดคือการเช่าเหมาลำเครื่องบินไปประชุมที่ฮาวายของ รมว.กลาโหม ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินออกมาการันตีว่าโปร่งใสก่อนที่จะลงมือตรวจสอบ

ที่กล่าวมาคือตัวอย่างเพียงคร่าวๆ ของมาตรฐานการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ชาวนาในหลายพื้นที่ไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล จึงเกิดปรากฏการณ์รวมตัวกันไม่ขายข้าวให้กับโรงสี แต่จะนำข้าวไปสีแล้วแบ่งใส่ถุงออกจำหน่ายเอง

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการขายข้าวเองจะทำให้รัฐบาล คสช.เกิดความหวั่นไหวเช่นเดียวกับเมื่อสองปีที่แล้วที่มีการสกัดกั้นการขายข้าวลายจุดของสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาราคาเกวียนละ 15,000 บาทหรือไม่ เพราะถ้ากิจการซื้อข้าวเกวียนละ 15,000 บาทเพื่อนำมาบรรจุถุงประสบผลสำเร็จและแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง จะเท่ากับว่า โครงการรับจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาทสามารถดำเนินการได้จริง แล้วการเอาผิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2557 หลังการยึดอำนาจคงเสียความชอบธรรมไปไม่น้อย

ไม่ว่ามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าวในวันที่ 31 ตุลาคม และเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะประสบความสำเร็จจนสามารถพยุงราคาข้าวได้ทันกาลหรือไม่

แต่อย่างน้อยการที่ชาวนาต้องขายข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 5-6 บาท (ถ้ารัฐบาลจะช่วยชาวนาจริงก็สามารถออกมาตรการได้เร็วกว่านี้เนื่องจากฤดูกาลปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวก็เป็นวัฏจักรประจำทุกปี) ก็เป็นคำตอบที่มีหลักฐานยืนยันสมมติฐานแล้วว่า รัฐบาล คสช.ล้มเหลวในการช่วยเหลือชาวนา เหมือนกับที่ล้มเหลวในหลายๆ เรื่อง แต่ยังจะคงบริหารประเทศต่อไป

บูรพา เล็กล้วนงาม สื่อมวลชนอิสระ
28 ต.ค. 2559

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.