'ตระกูลสิริวัฒนภักดี' ทุ่ม 850 ล้าน ซื้อ 'อมรินทร์' ด้าน กสทช. มองช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ
'ตระกูลสิริวัฒนภักดี' ทุ่ม 850 ล้าน ซื้อ 'อมรินทร์' ด้าน กสทช. มองช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ
Posted: 25 Nov 2016 05:51 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้ง ด้วยเม็ดเงิน 850 ล้านบาท 'เลขาฯ กสทช.' มองช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ มองปชช.ได้ประโยชน์มากสุด ยืนยันพร้อมหาทางช่วยผู้ประกอบการที่ขาดทุน
25 พ.ย. 2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจโรงพิมพ์ ธุรกิจคอนเทนต์ นิตยสาร งานแฟร์ รวมทั้งทีวีดิจิทัลช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี 34 แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น ให้แก่บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ราคาหุ้นละ 4 บาท 25 สตางค์ รวมมูลค่า 850 ล้านบาท ทำให้ ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 47.62 เพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจทีวีดิจิทัลและชำระค่าใบอนุญาต รวมทั้งชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์
ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ยอมรับ อุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิทัล มีการแข่งขันสูง ทำให้บริษัทต้องลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ช่องอมรินทร์ มีเรทติ้งน่าพอใจ และติดท็อปเทน ของผู้ประกอบการทั้งหมด
ปัจจุบันอมรินทร์มีทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท แบ่งเป็น 220 ล้านหุ้น โดยในการทำรายการครั้งนี้อมรินทร์จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 420 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 200 ล้านหุ้น เพื่อจัดสรรให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ซึ่งมี ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะทำให้อมรินทร์ได้รับเงินเพิ่มทุนใหม่สำหรับต่อยอดทางธุรกิจประมาณ 850 ล้านบาท โดย ระริน จะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของอมรินทร์พริ้นติ้ง ในการนี้ อมรินทร์จะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวในช่วงต้นปี 2560
กสทช. มองช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ
ขณะที่ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มองกรณีดังกล่าวว่า การเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตยังเป็นบริษัท หรือ นิติบุคคลเดิมอยู่ เพียงแต่หลังจากนี้ทางอมรินรินทร์ทีวี ต้องมีการแจ้งมายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ถึงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ให้รับทราบตามกฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม การที่ตัวผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิตอล มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม การที่อมรินทร์ได้ตระกูลสิริวัฒนภักดี มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทนั้น มองว่ากลุ่มนี้ค่อนข้างจะเป็นมืออาชีพ และมีความสามารถด้านคอนเทนท์ น่าจะเข้ามาช่วยยกระดับด้านเรตติ้ง และคอนเทนท์ในการนำเสนอผู้ชมได้ ซึ่งการที่ได้พันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชน ที่จะได้รับชมรายการดีๆ มากขึ้น
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าการขายหุ้นครั้งนี้ เนื่องจากขาดทุนอย่างหนักจากการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลนั้น ทาง กสทช. ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะช่วยเหลือในแง่มุมทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ โดยในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 14 ธ.ค. นี้ จะเสนอวาระ กสทช. อุดหนุนค่าเชื่อมต่อสัญญาณทีวีดิจิตอลขึ้นดาวเทียมแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนตัวกล่าว เป็นเวลา 3 ปี เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณให้ประชาชนสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ผ่านทางทีวีดาวเทียม หรือเคเบิ้ลทีวี เพื่อขอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาอนุมัติ ภายหลังที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.59 ได้อนุมัติในหลักการแต่ให้กลับไปทบทวนจำนวนเงินช่วยเหลือใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการที่มีผู้ชำระเงินเพียงรายเดียวจะทำให้มีอำนาจการต่อรองมากกว่า จากที่ กสท. เสนองบช่วยเหลือมาทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท
ที่มา ข่าวอมรินทร์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แสดงความคิดเห็น