นายมีแกน กรีน หัวหน้านักวิเคราะห์ของแมนูไลฟ์ แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในอิตาลีในวันอาทิตย์นี้ จะส่งผลให้เกิดวิกฤตธนาคารอีกครั้งหนึ่งในยุโรป

"ในความเห็นของผม ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ภาคธนาคาร มากกว่าในภาคการเมือง แม้ว่าจะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองขึ้นบ้าง" เขากล่าว

ทั้งนี้ ชาวอิตาลีจะออกมาใช้สิทธิลงประชามติว่าจะเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันอาทิตย์นี้ แต่คนส่วนใหญ่มองว่าการลงประชามตินี้ จะเป็นการลงคะแนนวัดกระแสความไว้วางใจของประชาชนต่อนายมัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ซึ่งได้ประกาศเดิมพันอนาคตทางการเมืองของเขา โดยยืนยันว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่ง และล้างมือทางการเมือง หากประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติคัดค้านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

ผลการสำรวจพบว่า ชาวอิตาลีจะลงประชามติไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้นายเรนซีต้องลาออกจากตำแหน่งตามที่เขาเคยสัญญาไว้ และจะทำให้เกิดการพลิกขั้วอำนาจทางการเมืองไปสู่พรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนการแยกตัวออกจากยูโรโซน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเงิน และทางการเมืองในอิตาลี

นายกรีนกล่าวว่า ถ้าภาคธนาคารของอิตาลีเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น ก็จะส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วยุโรป และบั่นทอนแนวทางการปฏิรูปภาคธนาคารซึ่งนายเรนซีได้วางไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของอิตาลีจะเกิดขึ้นอีก ถ้าหากนักลงทุนตัดสินใจยุติการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อช่วยเหลือธนาคารที่อ่อนแอของอิตาลี

ในช่วงต้นปีนี้ ผู้จัดการสินทรัพย์ บริษัทประกัน และธนาคารหลายแห่ง ได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งกองทุนวงเงิน 5 พันล้านยูโรเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธนาคารอิตาลีที่มีผลประกอบการย่ำแย่ เพื่อคลายความกังวลต่อภาวะไร้เสถียรภาพของธนาคารอิตาลี ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่คาดกันว่า ธนาคารอิตาลี 8 แห่งอาจประสบปัญหา หากชาวอิตาลีส่วนใหญ่ตัดสินใจลงประชามติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.