ปู่แซนเดอร์สเตือน ‘พรรคประชาธิปัตย์’ แบบแรงๆ

Posted: 23 Nov 2016 07:54 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งสำคัญนี้เพิ่งจบลงด้วยชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) มหาเศรษฐีชาวนิวยอร์กด้วยคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) อย่างขาดลอยถึง 290 ต่อ 232 แม้ฮิลลารี่ คลินตั้น (Hillary Clinton) คู่แข่งจะชนะคะแนนเสียงรวม (popular vote) มากกว่าทรัมป์ถึงกว่า 2 ล้านเสียงก็ตาม และแน่นอนว่าชัยชนะของทรัมป์สร้างความไม่พอใจให้กับคนอเมริกันจำนวนมากจนนำไปสู่การประท้วงผลการเลือกตั้งในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ

หลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่คนที่ให้ความเห็นที่น่าสนใจที่สุดในมุมของผู้เขียนน่าจะเป็นปู่เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ซึ่งเป็นอดีตผู้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญคนหนึ่ง ปู่แซนเดอร์สเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ (Vermont) อายุ 75 ปี แต่กลับมีฐานเสียงเป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมาก นอกจากนั้น ปู่ยังได้หาเสียงกับชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

ปู่แซนเดอร์สให้ความคิดเห็นน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ในขณะที่ คนอเมริกันจำนวนมากตั้งคำถามกับระบบการเลือกตั้งที่ยังใช้คณะผู้เลือกตั้งแทนการนับคะแนนเสียงรวม ซึ่งเป็นการปฏิเสธหลักการความเสมอภาคทางการเมือง หรือผู้สนับสนุนคลินตั้นจำนวนมากได้โทษคนอเมริกันหลายสิบล้านคนที่หน้ามืดตามัวไปเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ทั้งๆ ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นประธานาธิบดี แต่เมื่อไปถามปู่แซนเดอร์สว่าใครผิดในเรื่องนี้ แม้ปู่จะเห็นด้วยว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้มีปัญหาและแน่นอนว่าคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็อาจจะมีอคติเรื่องชาติพันธุ์ แต่ปู่แซนเดอร์สเน้นว่าหากมีใครที่จะต้องเป็นฝ่ายผิดในเรื่องนี้ มันต้องเป็น ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ของเขานั่นเอง

แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ปู่แซนเดอร์สกำลังวิจารณ์อยู่นี้ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ของประเทศไทยที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากแต่เป็นพรรคประชาธิปัตย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือพรรคเดโมแครตนั่นเอง ทั้งสองพรรคต่างมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า the Democratic Party เหมือนกัน ซึ่งหากจะเรียกพรรคเดโมแครตของอเมริกาเป็นภาษาไทยเราก็อาจจะเรียกว่าพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกัน (ถึงแม้จะมีจุดยืนในทางการเมืองค่อนข้างจะแตกต่างกันก็ตาม) แต่สาเหตุจริงๆ ที่ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์’ แทนคำว่าพรรคเดโมแครต เพราะผู้เขียนต้องการจะสื่อถึงทั้งพรรคประชาธิปัตย์ของไทยและของอเมริกา ซึ่งต่างเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของทั้งสองประเทศและกำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่งในทางการเมืองทั้งคู่ พรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกาเพิ่งแพ้การเลือกตั้งต่อคู่แข่งที่ไร้คุณสมบัติอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไทยไม่เคยชนะการเลือกตั้งมาสามทศวรรษแล้ว ทั้งสองพรรคจำเป็นต้องเลือกว่าก้าวต่อไปในทางการเมืองจะไปทางไหนดีเช่นกัน

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกา ปู่แซนเดอร์สออกมาเสนอว่าแม้ระบบการเลือกตั้งที่มีปัญหาจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกาจำเป็นต้องได้รับ ‘การปฏิรูป’ ปู่แซนเดอร์เขียนใน New York Times เพียงแค่ 3 วันหลังจากเลือกตั้งว่าเขาจะผลักดันให้พรรคมีการปฏิรูปในหลายด้าน เขาเชื่อว่าพรรคจำเป็นตั้งตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำที่ควบคุมบรรษัทขนาดใหญ่ เพื่อจะมาเป็นพรรครากหญ้าของกลุ่มคนชั้นล่าง ผู้สูงอายุ และคนยากคนจนในอเมริกาอีกครั้ง พรรคจำเป็นต้องเปิดประตูให้กับอุดมการณ์และพลังงานของคนหนุ่มสาวและคนอเมริกันที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และพรรคจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายเพื่อต่อสู้กับความโลภของบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ปู่แซนเดอร์สเตือนว่าหากพรรคไม่สามารถเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาโอกาสที่พรรคจะกลับมาได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จทางการเมืองคงจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากนัก

เราจะเห็นว่าแทนที่ปู่แซนเดอร์สจะออกมาโทษระบบหรือโทษคนอเมริกัน แต่ปู่แซนเดอร์สกลับใช้ความพ่ายแพ้นี้เป็นโอกาสที่จะมาพิจารณาความผิดพลาดของพรรคตนเอง พรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกาเคยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสมัยประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt, 1933 – 1945) ผู้ที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาให้อเมริกาอีกครั้งหลังจากที่ต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ 1930s ด้วยนโยบายที่ช่วยเหลือคนยากจน ปู่แซนเดอร์สคิดว่าพรรคควรจะกลับไปหาการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กันชนชั้นกลางและล่างอย่างที่เคยได้รับความประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต

เป็นที่น่าสนใจว่าปู่แซนเดอร์สไม่ได้มองว่าคนอเมริกันเลือกทรัมป์เพราะพวกเขาโง่หรือถูกนักการเมืองหลอก ไม่เสนอให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ แต่ปู่แซนเดอร์สกลับมองว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น พวกเขาเบื่อหน่ายกับระบบการเมืองที่ไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตให้พวกเขาได้ พรรคที่เคยอยู่กับพวกเขาอย่างพรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกาก็เบือนหน้าหนีไปหาผู้สนับสนุนมหาเศรษฐีที่พร้อมจะทุ่มเงินให้พรรคในช่วงเลือกตั้งเพื่อแลกกับนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนของตนเอง เมื่อคนไม่มีทางออกเขาก็จำเป็นต้องไปเลือกคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ที่ถูกมองว่าเป็นคนที่อยู่ ‘นอกระบบ’ (outsider) ที่สัญญาว่าจะเปลี่ยนระบบที่มันเน่าเฟะให้กลับมารับใช้ประชาชนอีกครั้ง คนอเมริกันจำนวนมากรู้ว่าความหวังนี้มันช่างเลือนรางมาก แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น ดังนั้น แทนที่ปู่แซนเดอร์สจะเลือกโทษพวกเขาที่ไม่เลือกคนของพรรคตัวเอง ปู่กลับออกมาปลุกมโนสำนึกของคนในพรรคว่าพวกเขาควรจะเปลี่ยนตัวเอง ควรจะทำให้ตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีให้กับคนอเมริกันมากกว่าที่จะออกมาตีโพยตีพายโทษคนอื่นทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นส่วนสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น

มันคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าก้าวต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกาจะเป็นอย่างไร แต่การที่ข้อเสนอของปู่แซนเดอร์สได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้สนับสนุนพรรคและสาธารณะชนคนอเมริกันได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของปู่ แต่จะกลายเป็นความจริงได้มากน้อยเพียงใดก็คงต้องรอดูกันต่อไป

แต่เมื่อเราหันกลับมาดูพรรคประชาธิปัตย์ของไทย เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเสียงของคนที่ออกมาเสนอแบบเดียวกับปู่แซนเดอร์สนั้นมีน้อยและเสียงเบาบางมาก ผู้เขียนก็ได้แต่แอบหวังว่าข้อเสนอของปู่แซนเดอร์สต่อพรรคประชาธิปัตย์ของอเมริกาอาจจะปลุกความคิดของคนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ของไทยที่ตามข่าวการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ให้ลองพินิจพิจารณาสักนิดว่านี่อาจเป็นทางออกให้พรรคตนเองที่ไม่เคยเอาชนะการเลือกตั้งระดับชาติมาสามทศวรรษแล้ว และที่สำคัญกว่านั้น ข้อเสนอนี้อาจเป็นทางออกของประเทศไทยที่ได้เผชิญกับวิกฤตทางการเมืองมานานเป็นทศวรรษด้วยก็ได้

0000



เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.