Posted: 24 Nov 2016 06:38 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
พนักงานในเฟซบุ๊กเปิดเผยว่าบริษัทกำลังซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ปิดกั้นโพสต์ไม่ให้ปรากฏแก่ผู้ใช้ในบางพื้นที่ โดยเชื่อว่าเป็นการพยายามเสนอตัวเอาใจทางการจีนเพื่อเข้าไปหาฐานลูกค้าใหม่ หลังจากที่มีการเจรจาระหว่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กกับรัฐบาลจีนเมื่อไม่นานมานี้
24 พ.ย. 2559 นิวยอร์กไทม์รายงานว่ามาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารสูงสุดของเฟซบุ๊กเข้าพบกับเหล่าผู้นำจีนรวมถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิง โดยพนักงานและอดีตพนักงานของเฟซบุ๊คเปิดเผยว่าเฟซบุ๊กกำลังแอบซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ในการปิดกั้นโพสต์บางอย่างไม่ให้ปรากฏบนหน้านิวส์ฟีดบางพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่เฟซบุ๊กต้องการใช้เพื่อให้เข้าถึงประเทศจีนได้จากที่รัฐบาลจีนบล็อกเฟซบุ๊กมาจนถึงปัจจุบัน
นิวยอร์กไทม์ระบุว่าการที่เฟซบุ๊กปิดกั้นโพสต์บางโพสต์ในบางประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับผู้ใช้ในประเทศปากีสถาน รัสเซีย และตุรกี ที่เฟซบุ๊กยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ในการปิดกั้นเนื้อหาบางอย่าง นิวยอร์กไทม์ระบุว่าตั้งแต่เดือน ก.ค. 2558 - ธ.ค. 2558 เฟซบุ๊กทำการบล็อกเนื้อหาไปแล้วราว 55,000 รายการ แต่เครื่องมือใหม่ที่มีคนประเมินว่าจะใช้กับจีนนั้นไปไกลยิ่งกว่าการบล็อกแต่เป็นการไม่ให้ปรากฏบนหน้าฟีดตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กไม่ได้มีแผนการจะปิดกั้นโพสต์ด้วยตัวเองแต่จะอาศัยบุคคลที่สามที่น่าจะเป็นบริษัทในจีนที่ร่วมงานด้วยเป็นคนมีอำนาจควบคุมจะให้โพสต์ต่างๆ ปรากฏหรือไม่ได้ ทำให้ผู้ใช้มีสภาพเหมือนอยู่ในฟองสบู่ที่เห็นโพสต์ในแบบที่พวกเขาควบคุมให้เห็นเท่านั้น
อย่างไรก็ตามพนักงานเฟซบุ๊กผุ้ไม่เปิดเผยชื่อบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่แผนการนี้จะอยู่ในระดับทดลองและอาจจะไม่ถูกนำมาใช้จริงเช่นเดียวกับการทดลองระบบหลายอย่าง แต่ระบบซอฟแวร์คัดกรองดังกล่าวก็เป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดที่ทางเฟซบุ๊กเอาไปใช้เจรจาหารือเพื่อการพยายามเจาะเข้าไปในจีนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามถ้าหากมีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในจีนเพื่อปิดกั้นบทความไม่ให้ขึ้นหน้าเว็บได้จริงเฟซบุ๊กก็จะละเมิดถ้อยแถลงภารกิจหลักของตนเองคือ "ทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้น" เพื่อจะสามารถเข้าถึงตลาดผู้ใช้ชาวจีน 1,400 ล้านคน เฟซบุ๊กถูกกดดันให้ต้องขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ซัคเคอร์เบิร์กก็ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าจะเอาผู้ใช้ไอ่พันล้านคนรายต่อไปได้จากที่ไหน ซึ่งเดิมทีประเทศจีนมีการปิดกั้นการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กนอกประเทศอยู่แล้วตังแต่ปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลมีกฎเข้มงวดด้านการเซนเซอร์เนื้อหาจากผู้ใช้งาน แต่โฆษกของเฟซบุ๊กก็แถลงว่าพวกเขาสนใจประเทศจีนและกำลังพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจประเทศจีนอยู่โดยที่ตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการตัดสินใจใดๆ
พนักงานและอดีตพนักงานของเฟซบุ๊กล่าวต่อนิวยอร์กไทม์ว่ามีพนักงานของเฟซบุ๊กหลายคนที่กำลังทำงานเกี่ยวกับโครงการระบบปิดกั้นดังกล่าวแล้วลาออกหลังจากแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับโครงการนี้
อย่างไรก็ตามนิวยอร์กไทม์ประเมินว่าจีนมีแนวโน้มที่อาจจะไม่เปิดให้เฟซบุ๊กเข้าไปในตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ก จากที่บรรษัทไอทีหลายค่ายยอมยกธงให้เช่น Uber ที่ขายกิจการสาขาจีนต่อให้กับคู่แข่งสัญชาติจีนอย่าง Didi Chuxing และทางการจีนเองก็พยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตหนักข้อขึ้น แม้แต่กูเกิลและทวิตเตอร์ก็ถูกบล็อกในจีน ในปี 2553 กูเกิลเคยเปิดเผยว่าพวกเขาเชื้อชวนให้ผู้ใช้ในจีนหันไปใช้บริการค้นหาของกูเกิลฮ่องกงแทน
นิวยอร์กไทม์ระบุว่าถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายเทคโนโลยีบางคนต้องการให้เฟซบุ๊กเข้ามาเปิดบริการแต่ก็เจอแรงต้านจากผู้ทำระดับสูง มีนักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่าทางเลือกที่ดีที่สุดของเฟซบุ๊กคือการร่วมมือกับบริษัทในจีนและให้บริษัทในจีนถือหุ้นส่วนใหญ่ไว้แล้วให้พวกนั้นทำการตรวจสอบเซนเซอร์เอง อย่างไรก็ตามในการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดระหว่างเฟซบุ๊กกับจีนไม่สามารถตกลงกันได้ ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวว่าการเจรจายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นและเป็นการเปิดการสนทนาโดยจะมีการสนทนาอ่ย่างเต็มที่ต่อไป
ในตอนนี้เฟซบุ๊กกำลังขายโฆษณาให้กับธุรกิจของจีนบางส่วนโดยอาศัยสำนักงานของเฟซบุ๊กในฮ่องกง ลูกค้าส่วนหนึ่งของเฟซบุ๊กคือเว็บไซต์สื่อของรัฐบาลจีนที่เป็นปากกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้ใช้โพสต์ข้อความ ส่วนผู้ใช้งานระดับประชาชนต้องหาวิธีทะลวงการบล็อกเอาเอง
เรียบเรียงจาก
Facebook Said to Create Censorship Tool to Get Back Into China, New York Times, 22-11-2016 http://www.nytimes.com/2016/11/22/technology/facebook-censorship-tool-china.html
แสดงความคิดเห็น