มาเลเซียปล่อยตัวผู้นำเบอเซะ-หลังใช้กฎหมายพิเศษควบคุมตัว 10 วัน

Posted: 28 Nov 2016 08:07 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ประธานพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือ "เบอเซะ" มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังถูกจับกุม-สอบสวนในข้อหาบ่อนทำลายประชาธิปไตย และถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายซึ่งใช้ต่อต้านการก่อการร้าย SOSMA ล่าสุดตำรวจยอมปล่อยตัววันนี้ โดยประธานเบอเซะ ระบุรัฐบาลมาเลเซียใช้อำนาจมิชอบในการควบคุมตัว ย้ำตัวเธอและผู้ชุมนุมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย และจะฟ้องศาลกลับ

มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ให้สัมภาษณ์หลังได้รับอิสรภาพ โดยขอบคุณผู้สนับสนุนและภาคประชาสังคม รวมทั้งครอบครัวที่เรียกร้องให้เธอได้รับอิสรภาพ นอกจากนี้ยังยืนยันว่ารัฐบาลใช้อำนาจมิชอบในการควบคุมตัวและจะฟ้องรัฐบาลกลับ (ที่มา: KINITV)


มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ เดินทางไปจัตุรัสเมอเดก้า เพื่อพบปะผู้สนับสนุนหลังได้รับอิสรภาพ

ประธานพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือ "เบอเซะ" มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังจากถูกควบคุมตัว 10 วัน ภายใต้กฎหมายมาตรการพิเศษ หรือ SOSMA ซึ่งมาเลเซียบังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 2012 แทนกฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA)

ทั้งนี้อดีตประธานเบอเซะ อัมพิกา ศรีเนวาซาน ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจด้วยเพื่อรับตัว โดยหลังจากที่มาเรีย ชิน ได้รับอิสรภาพได้เดินทางกลับไปพบกับครอบครัวที่ย่านปัตตาลิง จายา รัฐสลังงอร์ทันที

ทั้งนี้สำนักข่าวเบอนามาของทางการมาเลเซีย ระบุว่า หัวหน้าแผนกสอบสวนคดีพิเศษกัวลาลัมเปอร์ รุสดี โมฮัมหมัด อิซา กล่าวว่า มาเรียได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 16.30 น. แต่ไม่มีการให้รายละเอียด

ขณะที่ในช่วงเย็น มาเรีย ชิน เดินทางไปที่จัตุรัสเมอเดกา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีผู้สนับสนุนจัดชุมนุมจุดเทียนให้กำลังใจมาเรีย ชิน ทุกคืนนับตั้งแต่เธอถูกตำรวจจับตัว

ทั้งนี้ อัมพิกา ปราศรัยกับผู้สนับสนุนว่า เมื่อทราบว่ามาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ได้รับอิสระ นับเป็นความทรงจำที่ดิฉันไม่อาจลืมได้ในชั่วชีวิต ขอขอบคุณผู้สนับสนุนเบอเซะที่ให้กำลังใจ ประกาศไม่เอากฎหมาย SOSMA และขอให้ประชาชนจงเจริญ

ทั้งนี้มาเรีย ชิน ถูกจับตัวตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 1 วันก่อนชุมนุมเบอเซะที่กัวลาลัมเปอร์ โดยถูกสอบสวนตามความผิดมาตรา 124c ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาจัดกิจกรรมซึ่งบ่อนทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา และควบคุมตัวโดยใช้กฎหมาย SOSMA ซึ่งมาเลเซียออกกฎหมายนี้ใช้แทนกฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) เพื่อให้ปราบการก่อการร้าย ทั้งนี้ตามกฎหมายดังกล่าวสามารถใช้ควบคุมตัวบุคคลได้ถึง 28 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา

ทนายความของมาเรีย ระบุว่า อัยการมาเลเซียยังไม่ได้แสดงบันทึกคำให้การ เพื่อตอบเรื่องยื่นหมายเรียกศาล

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย (Suhakam) ระบุว่า มาเรียถูกควบคุมตัวเดี่ยว ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง ในห้องเป็นเตียงไม้และไม่มีเสื่อ

มาเรีย ชิน ระบุว่า ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวนั้นไม่ทราบว่าอยู่ในสถานที่ใด และเมื่อถูกตำรวจนำตัวออกมาจากสถานที่ดังกล่าวก็ต้องใส่อุปกรณ์เพื่อบังตา และมีตำรวจติดตามตลอดไม่ว่าจะเดินไปที่ไหน จนกระทั่งมาถึงกองบัญชาการตำรวจในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน มาเรีย ชิน เปิดเผยว่าตำรวจมีการสอบสวนพุ่งเป้าไปที่ผู้ชุมนุมเบอเซะในต่างประเทศ ความเกี่ยวข้องกับมูลนิธิโอเอสเอฟ ขณะที่มาเรีย ชิน ระบุว่าวิธีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่นั้นผิดกฎหมาย เพราะทั้งตัวเธอและผู้ชุมนุมเบอเซะไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย รัฐบาลไม่มีสิทธิใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายมาบังคับใช้ โดยเธอจะยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป

ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย คาลิด อะบู บาการ์ เคยให้คำมั่นว่าความเป็นอยู่ของมาเรีย ชิน จะได้รับการดูแล และเธอจะได้รับเสื่อ รวมทั้งพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน

ทั้งนี้ในคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน ต่อถึงเช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน ตำรวจมาเลเซียจับกุมนักกิจกรรมมากกว่า 12 คน นอกจากมาเรีย ชิน แล้ว ยังมีมันดีฟ สิงห์ (Mandeep Singh) เลขาธิการเบอเซะ ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ข้อหาก่อจลาจล โดยมีการค้นสำนักงานและยึดสิ่งของด้วย ขณะเดียวกันนักการเมืองฝ่ายค้านคนอื่นๆ ก็ถูกจับอีกนับสิบราย ขณะที่มีการจับผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่กี่ราย และทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

โดยการกวาดจับกุมนักกิจกรรม และนักการเมือง เกิดขึ้นก่อนวันชุมนุมใหญ่เบอเซะ 5.0 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เพื่อยืนยันข้อเสนอปฏิรูปการเลือกตั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก ลาออกจากเหตุทุจริต ในข้อหายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

สำหรับการชุมนุมของผู้ชุมนุมเบอเซะราว 4 หมื่นคนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนดังกล่าว ยังมีการชุมนุมคู่ขนานโดยฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลซึ่งมีเชื้อสายมลายู และใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์โดยระดมคนได้ราว 4 พันคน และทั้ง 2 ฝ่ายได้สลายตัวไปในช่วงบ่าย โดยไม่มีเหตุปะทะรุนแรง



แปลและเรียบเรียงจาก

Maria Chin released after 10-day detention, Malaysiakini, 28 November 2016

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.