คาดไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกปีนี้ติดลบ 1% - ยอดขายรถยนต์ ต.ค.ลดลง 10.7%

Posted: 25 Nov 2016 05:42 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

25 พ.ย. 2559 สมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดการณ์ว่าตลอดปี 2559 ประเทศไทยจะส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลง เนื่องจากตลาดหลักของไทย คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้น จึงประเมินว่ายอดส่งออกจะติดลบร้อยละ 1 จากปีที่ผ่านมา โดยจะมียอดส่งออกรวม 54,000 ล้านดอลลารห์สหรัฐ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงไตรมาส 2 ที่ประเมินว่ายอดส่งออกทั้งปีจะติดลบร้อยละ 3 สถานการณ์ส่งออกปรับตัวดีขึ้นแต่ยังติดลบ เพราะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้ายอดส่งออกปรับเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตรายใหญ่ตัดสินใจลงทุนเพิ่มกำลังผลิตเครื่องซักผ้าอีก 1 เท่าตัว จากเดิมกำลังผลิตเพื่อส่งออกปีละประมาณ 1 ล้านเครื่องต่อปี เพิ่มเป็น 4 ล้านเครื่องต่อปี ขณะที่ไทยส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางไปจีนจำนวนมาก ซึ่งจีนจะนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป ในส่วนนี้ก็ต้องติดตามสถานการณ์เช่นกัน แต่ที่ผ่านมาส่งออกลดลงอย่างมาก

ส่วนแนวโน้มการส่งออกปีหน้ายังต้องรอประเมินนโยบายของสหรัฐอีกครั้ง โดยในการประชุมซีอีโอ ฟอรั่มสัปดาห์หน้าจะประเมินถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม ไทยขยายตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์และกัมพูชา เช่น สินค้าเกี่ยวกับไฟฟ้ากำลัง หม้อแปลงไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ยอดขายรถยนต์ ต.ค.ลดลง 10.7%
วานนี้ (24 พ.ย.59) วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงการขายรถยนต์เดือนตุลาคม 2559 ว่า มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 60,634 คัน ลดลงร้อยละ 10.7 ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 23,117 คัน ลดลงร้อยละ 4.8 รถเพื่อการพาณิชย์ 37,517 คัน ลดลงร้อยละ 14.0 รวมทั้งรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ 30,527 คัน ลดลงร้อยละ 13.9

สำหรับตลาดรถยนต์สะสม 10 เดือน มีปริมาณการขาย 617,159 คัน ลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 4.9 เนื่องจากยอดขายที่ชะลอตัวในตลาดรถยนต์นั่งช่วงต้นปี ขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นผลจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่แนะนำสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา แต่ตลาดรถยนต์ในภาพรวมยังคงได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและความเข้มงวดของสถาบันทางการเงิน รวมถึงการระมัดระวังด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ

ส่วนตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายนแนวโน้มทรงตัว แม้ว่าดัชนีการขายตามฤดูกาลจะชี้ว่าเดือนพฤศจิกายนจะมียอดขายใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ตลอดจนการจัดงานมอเตอร์เอกซ์โปช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถือเป็นปัจจัยบวกกระตุ้นตลาดรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศยังคงฟื้นตัวช้า ส่งผลทางจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีผลถึงตลาดรถยนต์ ทำให้แนวโน้มตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายนยังอยู่ในสภาวะทรงตัว


ที่มา สำนักข่าวไทย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.