รัฐบาลมาเลเซียเตรียมเรียกเอกอัครราชทูตเมียนมาเข้าพบกรณีปราบปราบชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ขณะเดียวกันการประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงได้ขยายวงไปยังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า บังกลาเทศได้กักตัวและผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับไปยังพื้นที่เสี่ยงอันตราย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก รวมทั้งขอให้รัฐบาลเมียนมาดำเนินมาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาเรื่องการล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ โดยรัฐบาลมาเลเซียจะเรียกเอกอัครราชทูตเมียนมาเข้าพบเพื่อแจ้งความเป็นห่วงของรัฐบาลให้ทราบ อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ไม่ได้ระบุว่าจะเรียกเอกอัครราชทูตเมียนมาเข้าพบเมื่อใด

ผู้หญิงมุสลิมถือแผ่นป้ายประณามการปราบปรามชาวโรฮิงญาImage copyrightGETTY IMAGES

ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นมุสลิมหลบหนีเข้าไปยังบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 86 ราย และมีประชาชนราว 30,000 กลายเป็นผู้พลัดถิ่น ปัญหาดังกล่าวยังกลายเป็นประเด็นท้าทายความเป็นผู้นำของนางออง ซาน ซู จี ที่ก้าวขึ้นบริหารประเทศเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้เกิดความปรองดองภายในประเทศ

มีรายงานว่า ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนได้เดินขบวนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประณามการปราบปรามดังกล่าวและวิจารณ์นางออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพว่าเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าว กลุ่มผู้ประท้วงยังขอให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังรัฐยะไข่ และให้กองทัพจับกุมผู้ที่โจมตีชาวโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญา เดินขบวนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประณามการปราบปรามชาวโรฮิงญาImage copyrightGETTY IMAGES

อีกด้านหนึ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า บังกลาเทศได้กักตัวและผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับไปยังพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

แชมพา พาเทล ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ทางการบังกลาเทศได้ปราบปรามการหลั่งไหลเข้าไปของผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากเมียนมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกองกำลังปกป้องชายแดนของบังกลาเทศได้กักตัว และบังคับส่งกลับชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน การปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ให้มีการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังประเทศหรือสถานที่ ซึ่งมีความเสี่ยงว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับถูกการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

แผนที่รัฐยะไข่ ในเมียนมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยด้วยว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวโรฮิงญาระหว่างอยู่ในบังกลาเทศ และสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาบางส่วนที่ยังคงอยู่ในเมียนมา พบว่า กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาที่นำโดยทหาร ได้ยิงทำร้ายชาวบ้านจากเฮลิคอปเตอร์ มีการจุดไฟเผาบ้านหลายร้อยหลัง ทั้งยังจับกุมบุคคลโดยพลการ รวมทั้งข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร แต่ในเวลาเดียวกันก็ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวอิสระและหน่วยงานตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่

source :- http://www.bbc.com/thai/international-38116675?ocid=socialflow_facebook

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.