Posted: 26 Nov 2016 08:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เปิดปมปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินโคกภูกระแต พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ชาวบ้านระบุเคยถูกทหารตำรวจพร้อมอาวุธเชิญตัวไปสอบสวน พร้อมตั้งข้อหาบุกรุกที่ดิน แม้จะมีเอกสารสิทธิ ทั้งถูกข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่
บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงกึ่งกลางเขตแดนระหว่างประเทศไทย–ลาวเป็นที่ตั้งของจังหวัดแห่งหนึ่งของประเทศไทย คือ จังหวัดนครพนมซึ่งอาณาแนวยาวตามฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 153 กิโลเมตร เป็นเมืองชายแดนที่เงียบสงบมีความอุดมสมบูรณ์ ทิวทัศน์สวยสดงดงามมีความหลากหลายของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานจึงทำให้จังหวัดนี้มีที่ท่องเที่ยวมายมาก
แต่ในอีกมุมหนึ่งของจังหวัดแห่งนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) กำลังเผชิญกับปัญหาความเดือนร้อนเรื่องที่ดินอยู่อาศัย ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานของรัฐ จนเกิดการขับไล่ จับกุม ฟ้องร้องคดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ “โคกภูกระแต”
แม้ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นมายาวนานแต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกระทั่งกลับมาเป็นปัญหาใหญ่กับชาวบ้านอีกครั้ง หลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีการออกคำสั่งคสช. ที่ 72/2557 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อดำเนินการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศตามนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนและข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน ต่อมาคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)ได้มีประกาศฉบับที่ 2/2558เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน 2558 ในข้อ 4 ของประกาศดังกล่าว ระบุว่า ให้ท้องที่ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ่ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม และตำบลโนนตาล ตำบลรามราช ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม”
ต่อมาในวันที่18 มกราคม 2559 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” เนื้อที่ 1,860 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และภาคเอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาวเนื่องจากบริเวณนี้มีสภาพเนินน้ำท่วมไม่ถึง มีระบบไฟฟ้า มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่ง เป็นที่ตั้งของสะพานมิภาพแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) และอยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (นครพนม – หนองคาย) สามารถเชื่อมต่อการขนส่งได้ทั้งทางน้ำและทางบกผ่านสะพานไปยังสปป.ลาวและประเทศใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก
หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 กรกฎาคม2557 หน่วยงานของรัฐ อาทิ ทหาร ตำรวจ อำเภอเมืองนครพนม กรมป่าไม้ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันตำบลอาจสามารถ ได้สนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้าน จำนวน 14 ราย โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก คำสั่งคสช.ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และคำสั่งคสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 โดยไม่มีหมาย หรือเอกสารใดๆไปชี้แจงในการจับกุม ในการสนธิกำลังจับกุมชาวบ้านในวันดังกล่าวนั้น ทำให้ชาวบ้านหลายคนเกิดความกลัว และตกใจ ต่อการบุกเข้าจับกุมชาวบ้านของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพราะไม่รู้สาเหตุว่าตนเองทำอะไรผิดและโดนจับเพราะอะไร การจับกุมในวันนั้นได้นำตัวชาวบ้านมาที่สถานีดำรวจภูธรเมืองนครพนมและในเวลาต่อมาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านเหล่านั้นในฐานความผิด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผ่าป่า หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้าไปยืดถือครอง ก่นสร้าง หรือ เผาป่า กระทำด้วยประการใดอันเป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งที่ดิน อันเป็นสาธารสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือใช่เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งชาวบ้านได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเนื่องมาจากมีความเชื่อมั่นว่าตนเองไม่ได้บุกรุก ตัดไม้ หรือแผ้วถางป่า เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งชาวบ้านทั้งหมดหาหลักทรัพย์มาประกันตัวเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท ซึ่งชาวบ้านหลายคนไม่มีเงินพอที่จะประกันตัว จึงขอความช่วยเหลือจาก ส.อบต. ในหมู่บ้านให้ใช้ตำแหน่งประกันตัวตัวแทนเงินสด
แม่ลา หรือนางสิมมาลา หงษามนุษย์ หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนจากการถูกฟ้องร้องดังกล่าว ได้เล่าให้ฟังว่าตนถือครองที่ดินพิพาทเมื่อปี 2530 โดยซื้อจากชาวบ้านห้อมรายหนึ่ง มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ) เล่ม 1 หน้า 33 สารบบเลขที่ หน้า 162 ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจพร้อมอาวุธเข้ามาในบ้านพร้อมแจ้งว่ามาเชิญไปคุยเรื่องที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พามายังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่าตนถูกจับในข้อหาบุกรุก ซึ่งแม่ลาก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้หาคนมาประกันตัว โดยไม่ทราบว่าตนเองกำลังจะถูกฟ้อง ต่อมาได้มาติดต่อในชั้นอัยการ ถึงรู้ตัวว่าตนกำลังถูกฟ้องร้องเป็นคดีความพิพาทกับภาครัฐ สร้างความกังวลใจให้กับตนเป็นอย่างมาก เพราะหากจะต่อสู้คดีความต้องใช้เงินจำนวนมากในการประกันตัวจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นในการต่อสู้ในชั้นศาล ย้อนไปก่อนหน้านี้แม่ลามีอาชีพค้าขายอาหารตามสั่งและรับจ้างทั่วไปมีรายได้พออยู่พอกินในครอบครัว การค้าขายก็มีความคล่องตัวดี แต่หลังจากเป็นคดีความ ตนเองและครอบครัวมีความเดือนร้อนอย่างมากเพราะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆอาทิ ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีทั้งค่าทนายความ และค่าประกันตัวในชั้นศาล ซึ่งในวันนั้นเป็นเวลาเกือบช่วงเย็นแล้ว แต่แม่ลายังไม่ได้รับการประกันตัว จึงมีความจำเป็นต้องให้ลูกไปกู้เงินจากนายทุนจำนวนกว่า 100,000 บาทเพื่อที่จะนำมาประกันตัว ซึ่งในตอนเช้าวันถัดมาแม่ลาต้องหาเงินจำนวน 10,000 บาท เพื่อนำไปชำระเป็นค่าดอกเบี้ยก่อน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีการดำเนินคดีในชั้นศาล แม่ลามีหนี้สินที่ต้องชำระในส่วนของดอกเบี้ยเป็นเงินราวๆ 54,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนที่เยอะมากสำหรับชาวบ้านที่ไม่ได้มีรายได้มากมายอะไร ซึ่งเงินก้อนนี้เป็นเพียงเงินก้อนใหญ่ที่นับได้เท่านั้น ยังไม่ร่วมถึงค่าใช่จ่ายย่อยในการเดินทางไปศาลแต่ละครั้งที่จะต้องเสียค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร และค่าเอกสาต่างๆ ในขณะที่ทุกวันนี้รายได้ลดลงเพราะต้องปิดร้าน 2-3 วัน เวลาที่ไปศาล ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยมาซื้ออาหารเพราะปิดร้านอยู่บ่อยๆ
ปัญหาค่าใช้จ่ายยังไม่น่ากังวลเท่ากับการถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย และถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่ไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ อย่าคิดต่อสู้กับภาครัฐ เพราะหากไม่ยอมก็จะต้องติดคุกอย่างแน่นอน ซึ่งแม้แม่ลาจะถูกข่มขู่หลายครั้งแต่ก็ยังจะสู้เพราะคิดว่า สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย ขอสู้ดีกว่าเผื่อมีทางรอด ปัญหาความเดือนร้อนต่างๆที่เข้ามา ทำให้ทุกวันนี้แม่ลายังต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต เพราะการถูกบั่นถอนด้วยการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความวิตกกังวลเรื่องคดีความ หนี้สิน ปัญหาปากท้องของครอบครัว และความกังวลใจที่ว่าหากถูกไล่ให้ออกจากพื้นที่จริงๆจะไปอาศัยอยู่ที่ใด เพราะตนมีที่ดินที่นี้เพียงผืนเดียว ตนเองก็ยังไม่ได้ช่องทางอื่นรองรับหากต้องย้ายออก ทำให้เกิดความเครียดจนตนและสามีต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรักษาอาการที่เกิดจากความเครียดหลายครั้ง ในตอนแรกแม่ลาไม่เข้าใจว่าทำไมภาครัฐที่มาเร่งรัดไล่ที่ชาวบ้านโดยไม่ตั้งตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเข้ามาไล่จับกุมชาวบ้าน จนถูกฟ้องได้ประมาณ 1 ปีตนจึงรู้ว่าพื้นที่โคกภูกระแตบ้าน ถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในความคิดของตนไม่ได้คิดจะขัดขว้างโครงการพัฒนาของภาครัฐ แต่อยากให้รัฐนึกถึงความเดือนร้อนของชาวบ้านบ้างเพราะเป็นผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าชาวบ้านจะเป็นเพียงกลุ่มเล็กแต่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ก็ควรมีการจัดการหาที่อยู่ใหม่เพื่อรองรับชาวบ้าน มีการให้ค่าชดเชยการรื้อถอนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน
แม่ลายังได้กล่าวทิ้งท้ายว่าความกังวลที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการแพ้ชนะคดีความ เพราะหากต้องติดคุกตนไม่กลัว แต่สิ่งที่กลัวคือการถูกขมขู่และการกลัวถูกทำร้าย ซึ่งจะนำความเดือนร้อนมาสู่คนอื่นๆ ใครครอบครัวของตน
เสียงสะท้อนของแม่ลาทำให้เห็นถึงการถูกกระทำจากนโยบายของรัฐบาลทหารที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของคนจน หรือชาวบ้านกลุ่มเล็กที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบมิหน่ำซ้ำยังถูกกระทำด้วยการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางกลุ่มที่ก่อให้เกิดความกลัวและยอมจำนนต่ออำนาจรัฐทั้งที่แท้จริงแล้วยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าชาวบ้านเหล่านี้การทำความผิดจริงหรือไม่ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาลูกโซ่ที่หมุนเกลียวซ้อนทับกันอันเนื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แสดงความคิดเห็น