Posted: 23 Nov 2016 11:04 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
23 พ.ย. 2559 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), เครือข่ายพลเมืองเน็ต และ สมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) จัดงานเสวนา "เกาะขอบสนาม สนช. วิเคราะห์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ" ที่ Growth Cafe and Co ชั้น 2 ลิโด สยามสแควร์ พร้อมถ่ายทอดสดเวทีรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากรัฐสภา ก่อนจะเข้าสู่วาระ 3 ใน สนช. (ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ.คอมฯ และร่างประกาศตกระทรวงต่างๆ ด้านล่าง)
4 ความไม่ไว้วางใจ ในการไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สฤณี อาชวานันทกุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นหนึ่งในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ โดยนอกจากร่าง พ.ร.บ.คอมฯ แล้วยังมีร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งทั้งสี่ฉบับเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ การจะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนั้น บทเรียนจากหลายประเทศชี้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน รัฐ และผู้ประกอบการ การจะสร้างความไว้วางใจ ทำได้โดยนิยามฐานความผิดต่างๆ ให้ชัดเจน เท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน เพื่อไม่ให้รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชนและผู้ประกอบการไม่รู้สึกเป็นภาระเกินไป หรือเดาไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ รัฐจะเข้ามาใช้อำนาจ จนไม่สามารถคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการสื่อสารได้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่แก้ใหม่นี้ หลักๆ ไม่สร้างความไว้วางใจสี่ด้าน ได้แก่
หนึ่ง นิยามความผิด ที่ผ่านมา มีการนำมาตรา 14 มาฟ้องหมิ่นประมาท ทั้งที่เจตนาหลัก คือจับคนที่แฮก หรือฟิชชิ่ง แต่สถิติชี้ว่า มีการใช้มาตรานี้โดยเทน้ำหนักไปที่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ จับกุมด้วยความผิดเกี่ยวกับเนื้อหา ไม่ใช่ระบบคอมพิวเตอร์ พอมาในร่างใหม่ มีการนิยามให้กว้างกว่าเดิม แม้ว่าจะมีข้อดีตรงที่เพิ่มข้อความ “โดยทุจริตหรือหลอกลวง” (มาตรา 14(1)) แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะพิสูจน์อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีการขยายความที่น่าเป็นห่วงคือ เพิ่มความเสียหายต่อ "การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" (มาตรา 14(2))
การสร้างความไว้วางใจเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่การแก้ง่ายๆ ด้วยการเพิ่มข้อความ แต่ต้องมีกรอบการดูแลความมั่นคงไซเบอร์ออกมา กำหนดให้ชัดเจนว่า อะไรบ้างคือโครงสร้างพื้นฐาน ระบุมาตรฐานการคุ้มครอง และเพิ่มทรัพยากรการดูแลระบบที่ชัดเจน
สอง ภาระของตัวกลาง (มาตรา 15) ก่อนหน้านี้ไม่มีการคุ้มครองตัวกลาง ถ้าเจอว่ามีข้อมูลเข้าข่ายความผิด ตัวกลางต้องรับผิด และตัวกลางยังมีนิยามกว้างเกินไป ร่างใหม่ดูเหมือนจะดีขึ้นเพราะมีการกำหนดขั้นตอนว่าถ้ารัฐแจ้งเอาออกไม่ต้องรับผิด แต่ยังมีข้อน่าเป็นห่วงคือ ต่างประเทศใช้กับเนื้อหาผิดลิขสิทธิ์ คนแจ้งคือเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ซึ่งก็สมเหตุสมผลที่จะแจ้ง แต่นี่ให้รัฐคิดเองว่าอะไรที่ผิดกฎหมาย เมื่อเป็นความผิดที่รัฐกำหนด กลายเป็นว่า กลับหลักการเรื่องภาระในการพิสูจน์ ให้ผู้ให้บริการผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ผิด นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า “ยินยอม” แปลว่าอะไร และถ้าเราไม่รู้ จะถือว่ายินยอมหรือไม่
สาม คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์สามารถขอให้ศาลสั่งบล็อคสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมายก็ได้ (มาตรา 20/1) เท่ากับว่าเราจะไปไกลกว่ากฎหมายแล้ว กรณีนี้มีคำถามอีกว่า แล้วศาลจะตัดสินอย่างไรในเมื่อไม่มีกฎหมาย ต้องคิดเอาเองว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี?
สี่ การเก็บข้อมูล พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลไว้ก่อนก็ได้ โดยไม่ได้กำหนดขอบเขตระยะเวลา (มาตรา 18) ทั้งยังไม่มีกระบวนการร้องเรียนและเยียวยา หากเกิดการดักข้อมูล ทางออกเดียวคือต้องฟ้องศาล กรณีนี้แม้แต่กฎหมายสอดแนมของอังกฤษที่ให้อำนาจรัฐในการสอดส่อง ซึ่งถูกประณามว่าแย่ที่สุดในโลกตะวันตก ก็ยังให้มีคนทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจ และมีขั้นตอนของศาล
ชีวิตออนไลน์ดีๆ ที่ไม่มีในร่าง พ.ร.บ.คอมฯ
คณาธิป ทองรวีวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นมีขึ้นเพื่อมุ่งเน้นจัดการอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และรักษาความมั่นคงของระบบ แต่เนื้อหาที่ควรแก้ คือ มาตรา 5-8 อย่างเรื่องแฮกกิ้ง สแกมมิ่ง กลับไม่ถูกแก้ ขณะที่ยิ่งเน้นไปที่การเซ็นเซอร์
เขาชี้ว่า ถ้าโจทย์คือการสร้างชีวิตออนไลน์ที่ดี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มาตรา 14 แบบที่เป็นอยู่ ยังไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะโพสต์แล้วอาจผิดกฎหมาย มาตรา 14 ทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม เนื่องจากองค์ประกอบกว้างมาก กวาดทุกสิ่ง ทั้งข้อมูลปลอมเท็จ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เอาความผิดตามกฎหมายอาญามากองรวมในนี้
เนื่องจากมาตรา 14 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับการสแกมมิ่งหรือฟิชชิ่ง เขาจึงเสนอว่า จะต้องเอาเรื่องหมิ่นประมาทออนไลน์ออกไป โดยร่างที่เขาเห็นด้วยคือ ฉบับเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ขยายความว่า "โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง...เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือทรัพย์สิน" ซึ่งจะทำให้องค์ประกอบชัดเจน
สอง การเซ็นเซอร์ ชีวิตออนไลน์จะดีขึ้นได้อย่างไร หากเปิดเว็บมาแล้วเจอแต่การระงับ คณาธิปชี้ว่า ร่างใหม่นี้มีการเซ็นเซอร์อยู่สองระดับคือ
1) มาตรา 15 ให้ผู้ให้บริการร่วมรับผิด โดยร่างใหม่บอกจะไม่ผิดหากทำตามประกาศกระทรวงฯ ข้อสังเกตแรก คือทำไมจึงให้อำนาจประกาศกระทรวงซึ่งเล็กกว่ากฎหมาย
ร่างประกาศกำหนดขั้นตอนแจ้งและนำออก ระบุว่า ต้องจัดระบบให้มีคนร้องเรียน และนำออก ผู้ให้บริการที่กังวลจะรีบนำออกตามประกาศ เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ประกาศนี้ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็แจ้งได้ โดยต้องบอก ชื่อ-นามสกุล และเหตุผล มันกว้างมาก ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินก็ไปแจ้งได้ ต่อไปอาจจะเกิดจารีตประเพณีว่าถ้ากลัวผิด จะเอาออกไว้ก่อน เมื่อมีการแจ้ง
2) มาตรา 20 และมาตรา 20/1 ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์อีกสามกลุ่ม โดยมาตรา 20 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้ศาลสั่งระงับข้อมูลทั้งที่ผิดตามมาตรา 14 และที่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 14 แต่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ขณะที่มาตรา 20/1 ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองขอให้ศาลเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายแต่กระทบศีลธรรมอันดีได้
นอกจากนี้ เขาชี้ว่า มาตรา 18-19 ของร่างนี้ยังมีการขยายฐานอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นตรวจสอบ จากเดิมที่มีเฉพาะในความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯ ให้รวมถึงความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย การแก้นี้ "เหมือนวิธีพิจารณาคอมพิวเตอร์" ซึ่งจะมีปัญหาจากการบังคับใช้ตามมา
ศีลธรรมอัน(ไหน)ดี
จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวย้ำถึงมาตรา 20 ว่า จากการติดตามเรื่องนี้ พบว่าเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งบล็อคเว็บมีการทำเรื่องมาทีละหลายร้อยยูอาร์แอล มีคำถามว่า ศาลจะใช้เวลาพิจารณาได้ทั้งหมดอย่างถ้วนถี่หรือไม่
สอง ร่างใหม่นี้ในมาตรา 20/1 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปรียบได้กับ "กบว." ในอดีต ซึ่งทำหน้าที่กำกับเนื้อหาในโทรทัศน์ และปัจจุบันยุบไปแล้ว โดยให้เป็นดุลพินิจของแต่ละช่อง เท่ากับจะเอาสิ่งที่เรียกว่า กบว.ในยุคโบราณ มาใช้ในยุคคอมพิวเตอร์ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ มีการระบุด้วยว่า ถ้ามีกรณีเร่งด่วน คณะกรรมการกลั่นกรองสามารถจะดำเนินการได้เลยแล้วค่อยรายงานต่อรัฐมนตรี คำถามคือ แม้ประเด็นเรื่องเหตุเร่งด่วน เป็นเรื่องพอเข้าใจได้ แต่ถามต่อว่าเร่งด่วนนี้คืออะไร ด่วนขนาดไหน ในกฎหมายของตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จะระบุถึงความเร่งด่วนของภัยที่จะมาเฉพาะหน้า แต่ในร่างนี้ไม่ได้พูดถึงว่าคืออะไร
ส่วนประเด็นศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เขาตั้งคำถามว่ามันคืออะไร แต่ละคนมีระดับของสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน จะมีใครมาตัดสินว่าอะไรผิดไม่ผิด จะสอดคล้องกับอารยะสังคมหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างเว็บบอร์ดดัง ซึ่งมักมีการปรึกษาปัญหา มีเมียน้อย หรือตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ถามว่าแบบนี้ผิดศีลธรรมไหม ถ้าคณะกรรมการกลั่นกรองมองว่าผิดแล้วสั่งปิดไป แทนที่คนจะได้ข้อมูลเรื่องการทำแท้งปลอดภัย ก็กลายเป็นไม่รู้อะไรเลย
"ปัญหาเรื่องศีลธรรม มันมีอยู่แล้ว ปิดให้ตาย มันก็อยู่ตรงนั้น สู้เปิดแล้วแก้อย่างสร้างสรรค์กว่านี้ดีหรือไม่" จอมพลกล่าว
ตัวกลางยังไม่ถูกคุ้มครอง
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ร่างฯ มักย้ำถึงการสร้างสมดุลเรื่องเสรีภาพกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าร่างนี้ไม่ได้ย้ำถึงหลักการเสรีภาพมากเท่าที่ควร ทั้งที่หากมีการกล่าวถึงหลักการเสรีภาพไว้ แม้จะมีเนื้อหาที่เปิดช่องให้ใช้อำนาจได้ แต่ก็จะยังมีหลักการเสรีภาพมายันกัน
สำหรับมาตรา 15 เรื่อง ความรับผิดของตัวกลาง ที่ระบุว่าหากมีการแจ้งเตือนแล้วมีการนำเนื้อหาออก ตัวกลางจะไม่มีความผิดนั้น ฐิติรัตน์ ชี้ว่า สิ่งที่ขาดไปคือ ความเป็นไปได้ที่เจ้าของเนื้อหา จะคัดค้านการเอาเนื้อหาออกได้ รวมถึงถ้ามีการเอาออกแล้ว เนื้อหานั้นไม่ได้ผิดกฎหมายจริง ก็ยังไม่มีมาตรการรองรับความเสียหายของเจ้าของเนื้อหา โดยในประเด็นนี้ สหภาพยุโรปก็กำลังแก้กันอยู่ เพราะมองว่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งเชิงธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่า รับรู้การแจ้งแล้ว ในสหภาพยุโรปยังถกเถียงกันว่าต้องเป็นการรู้แบบ actual knowledge ถามว่าแจ้งครั้งเดียวจะถือว่ารู้ไหม หากมีผู้ใช้หมื่นราย ถ้าต้องลบภายในสามวันตามร่างประกาศฯ จะทำได้จริงไหม เรื่องนี้ แม้แต่ในสหภาพยุโรปก็ยังเถียงกันไม่จบ เขียนแบบนี้จะมีปัญหา
ลบประวัติศาสตร์ VS สิทธิที่จะถูกลืม
กรณีมาตรา 16/2 ที่กำหนดให้คนที่มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลสั่งให้เป็นความผิดตามมาตรา 14 (นำเข้าข้อมูลเท็จ) และมาตรา 16 (ตัดต่อภาพ) และให้ทำลาย ในครอบครอง จะต้องทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดกึ่งหนึ่งของผู้โพสต์ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ว่า ทุกวันนี้ มีการส่งข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์จำนวนมาก โดยที่หลายครั้งข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกดาวน์โหลดมาเก็บไว้ โดยที่เราอาจยังไม่ได้กดเข้าไปดู คำถามคือแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลเหล่านั้นผิดตามมาตรา 14 หรือ 16
เขาเล่าว่า เคยถามคณะกรรมาธิการเรื่องนี้ ก็ได้คำตอบว่า ศาลจะมีคำพิพากษา สามารถค้นได้ หรือ ศาลอาจสั่งให้เผยแพร่คำพิพากษาทางสื่ออยู่แล้ว ส่วนตัวก็ยังมีคำถามว่า แล้วคำพิพากษานั้นจะอยู่นานแค่ไหน จะเป็นภาระผู้ใช้ที่ต้องค้นคำพิพากษาย้อนหลังหรือไม่ หากเป็นคำพิพากษานานเป็นสิบปีแล้วจะทำอย่างไร ก็ได้คำตอบจากกรรมาธิการว่า ถ้าไม่รู้ก็คงไม่ผิด ก็ถามต่อไปว่าแล้วใครจะพิสูจน์ว่ารู้หรือไม่
อาทิตย์ ชี้ว่า เรื่องนี้จะกระทบคนทำงานสื่อ นักวิจัย และห้องสมุดแน่ คนทำงานเหล่านี้อาจมีข้อมูลที่เก็บไว้เพื่อค้นคว้า หากวันหนึ่งศาลตัดสินว่าผิดและให้ทำลาย ก็ต้องลบใช่หรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างกรณี สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยกล่าวว่า ในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มีคนตายแค่คนเดียว ถ้าต่อมาศาลมีคำสั่งว่าต้องลบข้อมูลดังกล่าวเพราะเป็นเท็จตามมาตรา 14 เท่ากับอีกสิบปีหลังจากนี้จะไม่มีใครรู้เลยว่าสมัครเคยพูดแบบนี้ ถามว่าเราคิดว่ามันสำคัญหรือเปล่า
"เรากำลังจะลบประวัติศาสตร์หรือเปล่า" อาทิตย์ตั้งคำถาม
ด้านไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฎหมายไพบูลย์ จำกัด ซึ่งอภิปรายในเวทีที่รัฐสภา กล่าวถึงมาตราเดียวกันนี้โดยอ้างถึงสิทธิที่จะถูกลืม หรือ right to be forgotten พร้อมยกตัวอย่างว่าหากมีข้อมูลที่ทำให้บุคคลเสียหาย ต่อมา ศาลพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ข้อมูลนั้นก็ควรถูกลบออก
ขณะที่ ฐิติรัตน์ ชี้ว่า สิทธิที่จะถูกลืมนั้นเป็นคนละเรื่องกับการลบข้อมูลตามมาตรา 16/2 โดยสิทธิที่จะถูกลืม เป็นสิทธิของบุคคลธรรมดาที่เรื่องของตัวเองจะไม่ถูกจำ และไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะถูกลบทิ้ง แม้แต่ในกฎหมายของสหภาพยุโรปก็ไม่ได้สั่งให้ลบ สั่งแค่ไม่ให้แสดงผลในเสิร์ชเอนจิ้นหน้าแรกๆ เท่านั้น ส่วนเรื่องการลบ ยังมีดุลพินิจของผู้ให้บริการและศาลเข้ามาเกี่ยวข้องอีก
000000
"เราคุ้นชินกับการใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ทำหลายเรื่องจนเราขาดจินตนาการ" สฤณีกล่าวพร้อมชี้ว่า อย่าลืมว่ากลไกในการกำกับอินเทอร์เน็ตมีหลายอย่างมากกว่านี้ เช่น กลไกการกำกับดูแลตัวเองของยูทูบ จะระบุว่า จะพิจารณาทุกครั้งที่เราปักธงเนื้อหาที่ละเมิด อยากให้คิดว่าเราต้องรับผิดชอบกับคนเป็นล้านที่ดูอยู่ อย่าข้ามเส้นเนื้อหาอนาจาร หรือมีความรุนแรงชัดเจน ยุยงให้เกิดความรุนแรง หรือมีเนื้อหาที่เป็นอันตราย สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้กันแพร่หลายมีกลไกนี้ เพราะมีผู้ใช้จำนวนมาก ไม่ใช่ใครมีปัญหาก็วิ่งไปหารัฐบาลของตัวเอง แล้วให้ออกกฎหมาย เราต้องมองเห็นอย่างอื่นนอกจากกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทื่อๆ ที่ทำให้คนเดือดร้อน
สฤณี กล่าวด้วยว่า อยากเห็นสังคมออนไลน์กำกับกันเอง ที่ผ่านมา เมื่อมีการโพสต์ผิดข้อเท็จจริง โดยเฉพาะที่คนแชร์เยอะ ยิ่งมีคนมาตรวจสอบ หยิบมาโต้เถียง นี่คือวิธีการพัฒนาสังคมข้อมูลข่าวสาร
แสดงความคิดเห็น