ไทยติดอันดับ 3 เหลื่อมล้ำสูงสุด จากรายงานประจำปี 2559 ธ.เครดิตสวิส

Posted: 27 Nov 2016 10:25 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

จากรายงานความมั่งคั่งโลกปี 2559 โดยธนาคารเครดิตสวิสจัดลำดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากที่สุดโดยวัดจากอัตราความมั่งคั่งที่ถือครองโดยกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 1 โดยประเทศที่ติดอันดับ 1 คือรัสเซีย รองลงมาคืออินเดียและไทย ตามอันดับ

28 พ.ย. 2559 รายงานของเครดิตสวิสระบุว่ารัสเซียมีผู้มั่งคั่งส่วนบนสุดร้อยละ 1 ของประเทศถือครองทรัพย์สินมากถึงร้อยละ 74.5 รองลงมาคือประเทศอินเดีย คนร่ำรวยส่วนบนสุดร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินของประเทศร้อยละ 58.4 ตามมาด้วยไทยที่คนร่ำรวยร้อยละ 1 ของประเทศถือครองทรัพย์สินร้อยละ 58

เครดิตสวิสระบุว่าโลกฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 แล้ว แต่แม้จะพ้นจากปัญหาเดิมแต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ๆ รออยู่ จากที่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็อาจจะทำให้อนาคตของอสังหาริมทรัพย์ไม่ขยายตัว

ในแง่การสำรวจอัตราความมั่งคั่งครัวเรือนช่วงปี 2558-2559 พบว่ามีอยู่สองภูมิภาคที่สูงขึ้นคือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่นับรวมจีนมีอัตราความมั่งคั่งครัวเรือนสูงขึ้นร้อยละ 8.3 กับภูมิภาคอเมริกาเหนือสูงขึ้นร้อยละ 2 ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ลดลงรวมถึงจีนที่ลดลงร้อยละ 2.8 โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกมีอัตราความมั่งคั่งครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.4

เครดิตสวิสระบุว่าโลกเริ่มมีความเท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงราวปี 2543 จนกระทั่งถึงปี 2551 อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าความร่ำรวยมีแนวโน้มจะกระจุกตัวทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ และโดยรวมแล้วปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจถือเป็นปัญหาหลักๆ ในแทบทุกพื้นที่ของโลก

เครดิตสวิสระบุอีกว่าประเทศที่มีความมั่งคั่งโดยรวมเพิ่มขึ้นสูงสุดคือญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนจีนมีความมั่งคั่งโดยรวมลดลง 680,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อังกฤษเกิดภาวะค่าเงินปอนด์ลดลงหลังจากการโหวตลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปทำให้สูญเสียความมั่งคั่ง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในแง่ความมั่งคั่งครัวเรือนอังกฤษก็ลดลงมากที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้คนที่ถูกนับเป็นเศรษฐีในอังกฤษยังมีจำนวนลดลงถึง 406,000 ราย ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ 58,000 ราย และจีน 43,000 ราย

นอกจากนี้ในตารางเกี่ยวกับจำนวนผู้มีรายได้ต่ำระดับล่างสุดยังเปิดเผยให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ที่มีรายได้ต่ำอยู่จำนวนมากในระดับใกล้เคียงกับอียิปต์ และปากีสถาน โดยที่รายงานของเครดิตสวิสระบุเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาว่าคนร่ำรวยระดับสูงสุดร้อยละ 1 ในปัจจุบันมีมูลค่าความมั่งคั่งในครัวเรือนรวมกันครึ่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้คนรวยที่สุดในอัตราส่วนร้อยละ 10 ของโลกมีความมั่งคั่งรวมกันถึงร้อยละ 89 ของความมั่งคั่งทั้งหมด

สำหรับกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ เครดิตสวิสระบุว่าสิงคโปร์ชะลอตัวลงในแง่ความมั่งคั่งนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาแต่ก็ยังคงความมั่งคั่งโดยรวมไว้ได้ดีอยู่ ขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตด้านความมั่งคั่งมากขึ้นอย่างราบรื่นมาตั้งแต่ปี 2551 แม้ค่าเงินของประเทศจะลดลงอย่างมาก

ประเทศอื่นๆ ที่มีการเติบโตดีได้แก่ ชิลี ที่เครดิตสวิสระบุว่ามีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในละตินอเมริกาเทียบกับอาร์เจนตินาและบราซิล โดยวัดจากจีดีพีเติบโตเร็ว อัตราเงินเฟ้อต่ำ และตลาดหุ้นเป็นไปด้วยดี อีกทั้งความมั่งคั่งครัวเรือนก็ดีกว่าอาร์เจนตินาและบราซิล อีกประเทศหนึ่งที่มีแนวโน้มในทางดีถูกระบุว่าเป็น "เสือเอเชีย" คือไต้หวัน เป็นประเทศไม่ได้รับผลกระทบเลยในช่วงวิกฤตการเงินถึงแม้ว่าจะเกิดค่าเงินลดลงหลายปีหลังปี 2553 อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2543-2559 อัตราความมั่งคั่งต่อประชากรวัยผู้ใหญ่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 59 เมื่อวัดจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 เมื่อวัดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบคงตัว

เรียบเรียงจาก

All the world's most unequal countries revealed in one chart, The Independent, 23-11-2016
http://www.independent.co.uk/news/world/politics/credit-suisse-global-wealth-world-most-unequal-countries-revealed-a7434431.html

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.