นักดาราศาสตร์จากสถาบัน มักซ์ พลังก์ เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ (MPS) ในเยอรมนี ค้นพบว่าดาวฤกษ์ Kepler 11145123 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 5,000 ปีแสง และมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์กว่า 2 เท่า เป็นวัตถุที่กลมที่สุดในจักรวาลเท่าที่มนุษย์ได้มีการค้นพบและบันทึกมา โดยรัศมีที่วัดจากจุดกึ่งกลางไปยังเส้นศูนย์สูตรของดาว และรัศมีที่วัดไปยังขั้วเหนือและใต้ของดาว มีความแตกต่างกันไม่เกิน 3 กิโลเมตรเท่านั้น

ศาสตราจารย์ลอเรนท์ กิซอน และคณะผู้ค้นพบระบุว่า ดาวฤกษ์ Kepler 11145123 มีความกลมเสียยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ โดยทราบได้จากการใช้เทคนิควัดการแกว่งตัวและสั่นไหวเป็นจังหวะของดาว (Asteroseismology) โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์จับตาดูความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของดาวดวงนี้มาเป็นเวลานานกว่า 4 ปีแล้ว

นักดาราศาสตร์จับตาดูความสว่างของดาวที่เปลี่ยนแปลงตามจังหวะการหดและขยายตัวของโครงสร้างภายในมาระยะหนึ่ง จึงทำให้ทราบได้ถึงรูปร่างที่แน่นอนของดาวฤกษ์ดวงนี้ โดยพบว่าเมื่อวัดจากพื้นผิวดาวแล้ว ดาวจะหมุนรอบตัวเองในอัตราที่เร็วกว่าส่วนแกนกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ดาวมีความกลมเกือบสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ การที่ดาวมีสนามแม่เหล็กล้อมรอบอยู่ค่อนข้างอ่อน ยังอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาวกลมมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ความแตกต่างเพียง 3 กิโลเมตร เมื่อเทียบระหว่างระยะห่างจากจุดกึ่งกลางไปยังเส้นศูนย์สูตร กับระยะห่างที่วัดไปยังขั้วทั้งสองของดาว Kepler 11145123 นั้น ถือว่าต่างกันน้อยมาก เมื่อพิจารณาว่าดาวทั้งดวงมีรัศมีจากจุดกึ่งกลางโดยเฉลี่ยที่ 1.5 ล้านกิโลเมตร

ดวงดาวทั่วไปทั้งดาวฤกษ์


และดาวเคราะห์นั้นมักจะมีรูปร่างไม่สู้กลมสมบูรณ์นัก และส่วนกลางของดาวมักจะดูแบนกว่าส่วนอื่น เนื่องจากมีการหมุนโคจรด้วยแรงที่หนีออกจากแกนกลาง


source :- http://bbc.in/2fjRIBY

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.